รู้เท่าทัน คือทางรอดของชีวิต

รู้เท่าทัน คือทางรอดของชีวิต

เมื่อปี 2564 สหประชาชาติได้สำรวจประเทศทั่วโลก พบว่ามีถึง 70 ประเทศจาก 109 ประเทศ ที่มีประชากรรวม 5 พันล้านคน ประสบปัญหา “ความยากจนหลายมิติ” และพบว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่ย่ำแย่ที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียน

สหประชาชาติไม่ได้มองความยากจนเพียงมิติเดียว คือ ด้านรายได้ แต่หลากหลายมิติ นอกจากรายได้ยังดูการเข้าถึงบริการสาธารณสุข การศึกษา คุณภาพชีวิต ภาวะโภชนาการ ความยุติธรรมในสังคม และมาตรฐานการครองชีพ ประเทศไทยได้คำตอบที่ดีที่สุดด้านรายได้ แต่เป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำอันดับ 4 ของโลก

รายงานของธนาคารโลกระบุว่า การลดลงของความยากจนในประเทศไทยเริ่มชะลอตัวลงตั้งแต่ปี 2558 ปีที่ 2 ของรัฐบาล คสช. จากนั้นเพิ่มขึ้นระหว่างปี 2559 ถึง 2561 ภาคเกษตรกรรมมีความยากจนมาที่สุดเป็นถึง 79% ของทั้งหมด โดยเป็นประเทศที่เหลื่อมล้ำมากที่สุดในเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก จวบจนถึงปัจจุบันสภาวะดังกล่าวก็ยังคงสภาพเช่นเดียวหรือแย่ลง อันเนื่องมาจากการเกิดโรคระบาดวายร้ายโควิด-19, สงครามในรัสเซีย-ยูเครน, ภัยธรรมชาติจากมหาอุทกภัย, ความผันผวนทางเศรษฐกิจ สังคม ความเป็นอยู่-ค่าครองชีพ วิกฤตมากทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย จะเห็นได้จากสื่อหลัก โซเชียลมีเดียต่างๆ มีปัญหากระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของคนหรือมนุษย์ทั่วไป โดยเฉพาะการแก้ปัญหา หรือการจบปัญหาด้วยการฆ่าตัวตายในรูปแบบต่างๆ เป็นอย่างมาก ไม่ว่าคนตระกูลสูงศักดิ์ คนรวยมหาเศรษฐี คนจนหาเช้ากินค่ำ ทุกเพศทุวัย ซึ่งมีนักวิชาการ แพทย์ จิตแพทย์ ส่วนใหญ่เสนอความคิดและแนวทางแก้ไขต่างๆ ตามถนัดของแต่ละวิชาชีพ ซึ่งก็ได้ผล แต่ในทางธรรมชาติของชีวิตคนเราในสมัยอดีตกาลที่ผ่านมามากกว่าศตวรรษ แนวทางการแก้ปัญหาทางพุทธวิธี หรือธรรมะ น่าจะเป็นอีกทางหนึ่งที่ช่วยกล่อมเกลาจิตคนได้อย่างดี ตั้งแต่ก่อนเกิดปัญหา กำลังเผชิญกับปัญหา เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาที่ถูกต้องในที่สุดได้อย่างดี

Advertisement

การที่คนเราหาทางออกจากปัญหาด้วยการ “ฆ่าตัวตาย” นั้นเป็นลางร้ายอย่างหนึ่งของสังคม ทำไมชีวิตของผู้คนในสังคมจึงคิดที่จะหนีปัญหา

“ด้วยการทำร้ายตัวเอง” มันเป็นการบอกถึงสาเหตุแห่งการดำเนินชีวิตของเรา หรือของผู้คนในสังคมว่าต้องมีอะไรที่ผิดปกติ ไม่ว่าตั้งแต่ในการเป็นอยู่ของแต่ละครอบครัวและในสังคมนั้นๆ ถ้าเมื่อใดก็ตามที่เราไม่มีความละอายและเกรงกลัวต่อการกระทำสิ่งที่มันเป็นเหตุแห่งการเบียดเบียนแล้ว วิถีชีวิตแห่งการเป็นอยู่ที่ไม่มี “หิริโอตัปปะ” ความละอายแสดงความเกรงกลัวต่อบาปกรรม ก็ต้องลามปามถึงขั้นที่เรียกว่า “แม้ชีวิตที่เราได้มาก็ยังทำลายได้” เราคิดว่าการตายก็คือ การจบเรื่องราวทั้งหลายที่เราอยากจะหนีมัน แต่จริงๆ แล้วมันคือ การเปิดประตูไปสู่การเดินทางที่จะทำให้เราเองคิดผิดทำผิดจะกลับมาแก้ตัวอีกได้ยากมากทีเดียว

การตายไม่ใช่ทางออก การตายไม่ใช่หนทางแห่งการหลีกหนี เราจึงต้องมาทบทวนการใช้ชีวิตของเราให้อยู่บนวิถีแห่ง “การพัฒนาสติปัญญา” หรือ “วิถีชีวิตแห่งการภาวนา” กันมากขึ้น

Advertisement

ถ้าจะเปรียบชีวิตเหมือนกับคนที่กำลังเดินทาง บนเส้นทางที่เรากำลังเดินนั้นจะต้องมี “อุปสรรค” หรือ มี “สิ่งกีดขวาง” บ้าง แต่คนเดินจะต้องมีความ “ตระหนักรู้” หรือ มี “ความรู้ตัวทั่วพร้อม” เท่าทันปัจจุบันขณะ ซึ่งก็จะรู้ว่าเราจะเดินผ่านสิ่งกีดขวางในเส้นทางที่กำลังเดินนั้นได้อย่างไร เราจะไม่เดินเหมือนคนบ้าที่จะเก็บทุกอย่างที่อยู่บนเส้นทางนั้น แล้วเอามาแบกใส่หลังไว้จนหนักอึ้ง แต่เราจะผ่านสิ่งกีดขวางไปอย่างคนที่เรียนรู้กับมัน แล้วก็ระมัดระวังย่างก้าวต่อไปอย่างคนที่จะกระทำด้วยความไม่ประมาท เราก็จะเดินทางไปถึงเป้าหมายที่เราต้องการจะไปถึงได้อย่างคนที่เบาและเป็นอิสระ

แต่ถ้าเราเป็นคนดีเก็บทุกอย่างที่อยู่บนหนทางของเรา แล้วเราเก็บใส่ถุงที่เราแบกไว้ไปเรื่อยๆ จนถึงวันหนึ่ง “ชิ้นสุดท้าย” ที่เรารู้สึกว่ามันหนักจนเราแบกมันไม่ไหวแล้ว เราก็ตัดสินใจที่จะทิ้งชีวิตของเราไป ความสำคัญมันไม่ได้อยู่ที่ว่า “ชิ้นสุดท้าย” มันเป็นชิ้นที่หนักที่สุด แต่ในทุกๆ ชิ้นที่ผ่านมาที่เราเก็บสะสมมันมีน้ำหนักของมัน มันสำคัญทุกชิ้น “ถ้าเพื่อเราระมัดระวัง การใช้ชีวิตของเราอย่างคนที่ไม่เก็บมัน” เรียนรู้ว่ามันมีอะไรขวางอยู่ เราจะผ่านมันได้อย่างไร แล้วไม่สะสมมัน ไม่แบกมันไว้ที่หลังของเรา เราก็จะสามารถเดินต่อไปได้อย่างคนที่ไม่หนัก อย่างคนที่มีชีวิตเป็นอิสระจากสิ่งที่กีดขวางนั้น

ถ้าเราอยากจะป้องกันปัญหาเราต้องป้องกันตัวเราไม่ให้เป็นบุคคลที่จะเก็บอารมณ์ข้างนอกมาเป็นจริงเป็นจัง เราจะต้องพัฒนาการตระหนักรู้ หรือ “ความรู้เท่าทันปัจจุบันขณะ” ว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงนั้นเป็นสิ่งที่เราสามารถจะมองเห็นมันตามความเป็นจริงของธรรมชาติ มันเป็นเพียงสภาวะแห่ง “การเกิดดับ” เท่านั้น เรื่องนี้ “ต้องฝึกฝนให้ดี”

ฉะนั้น “พุทธวิธี” การใช้ชีวิตที่จะไม่ทำให้เกิดปัญหาก็คือ การเข้าใจที่จะดำรงชีวิตอยู่กับปัจจุบันขณะ คือ เราต้องรู้เท่าทันสิ่งที่เรากำลังเห็น รู้เท่าทันสิ่งที่เราได้ยิน รู้เท่าทันสิ่งที่เรากำลังลิ้มรส รู้เท่าทันสิ่งที่เรากำลังได้กลิ่น รู้เท่าทันสิ่งที่เรากำลังสัมผัส รู้เท่าทันอารมณ์ภายนอกที่มา “กระทบใจของเรา” จนเราเห็นเสียแล้วว่ามันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วก็เปลี่ยนแปลง เราจะไม่ยึดถือว่าสิ่งนั้นไม่เปลี่ยนแปลง แต่เราจะรู้ว่าทุกสิ่งที่เรากำลังกระทบอยู่นั้นก็มีความรู้สึกชอบ ไม่ชอบ มันมีความรู้สึกสุข ทุกข์ แต่ “ทั้งสุขและทุกข์ก็เปลี่ยนแปลง”
หลวงพ่อชา พูดว่า “ทุกข์ สุข ราคาเท่ากัน” เพราะมันเปลี่ยนแปลงทั้งคู่ เรารู้ว่าการจะเข้าไปยึดติดถือ “ความสุข ความทุกข์ มันก็จะนำมาซึ่งความหนัก” อันนี้ก็จะทำให้เรามีชีวิตที่รอดพ้นจาก “ปัญหา” ได้

การดำเนินชีวิตอยู่อย่างนี้ คือ “รู้เท่าทันปัจจุบันขณะ” รู้เท่าทันการกระทบทุกครั้ง ว่ามันเกิดอะไรขึ้น มันจะรู้สึกชอบหรือไม่ชอบ รู้สึกสุข รู้สึกทุกข์ รู้สึกอะไรก็ตาม จนถึงการรู้สึกถึง “การโกรธแค้นสุดขีด” แต่ในความรู้สึกนั้นมันเป็นสิ่งที่เราจะไม่เข้าไปยึดมั่นไม่ถือมั่นเป็นจริงเป็นจัง ถ้าอย่างนี้ชีวิตเราก็จะผ่านอุปสรรคต่างๆ ได้ อยู่บนหนทางแห่งการเดินทางที่เราเลือกนั้นอย่างคนที่ไม่แบกเอาไว้ ไม่หนักอึ้ง ชีวิตของเราก็จะไม่ใช่แก่นสาร แต่ชีวิตเราจะแข็งแรงขึ้น และดำเนินต่อไปอย่างคล่องแคล่วและว่องไว ไปถึงจุดหมายปลายทางได้อย่างงดงามเพราะขยันขันแข็ง รู้จักทำหน้าที่และเป็นอิสระจากความยึดมั่น ระหว่างการเดินทางของชีวิตของเรา ก็จะรอดปลอดภัย และก็ไม่ตายทั้งเป็นด้วยไงเล่าครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image