พรรคการเมืองควรมีนโยบายท่องเที่ยวอย่างไร โดย มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด

ในที่สุดภาคเศรษฐกิจท่องเที่ยวก็ได้กลับมาเป็นหัวรถจักรที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เดินหน้า สถานการณ์ท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศทุกอย่างจะเป็นใจอยู่แล้ว นโยบายการท่องเที่ยวก็คือจะต้องผลักดันให้รถไฟสายท่องเที่ยวนี้ไปได้ไกลกว่านี้และบรรทุกผู้โดยสารได้มากกว่านี้ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเสนอว่า ในปี 2573 จะต้องมีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาเยือนไทยถึง 80 ล้านคน จากที่คาดว่าปีนี้จะมาประมาณกว่า 25 ล้านคน ในปี 2562 ในช่วงที่เป็นยุคทองของท่องเที่ยวไทยนั้นมีผู้มาเยือนต่างชาติเกือบ 40 ล้านคน ซึ่งเป็นปีที่ต้องให้คำนิยามว่าเป็นช่วงที่เศรษฐกิจท่องเที่ยว “ตะเข็บปริ” เป้าหมายใหม่นี้จึงนับว่าเป็นเป้าหมายที่ตั้งความหวังไว้สูงอยู่ แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้ ปัญหาก็คือ ถ้ามาจำนวนมากเช่นนั้นจริงๆ ก็จะเกิด “ตะเข็บแตก” ขึ้นมา เพราะธุรกิจจำนวนมากได้ปิดตัวลงแล้ว ผลลัพธ์คือรายได้ที่จะได้ก็อาจจะถูกลดทอนลงด้วย ผลเสียที่ตามมาที่น่ากังวลก็คือ ผลเสียในด้านการท่องเที่ยวนั้นต่างจากผลดีก็คือ ผลดีมีรูปธรรมเห็นชัดเจนรายได้เพิ่ม การจ้างงานเพิ่ม แต่ผลเสียเชิงสิ่งแวดล้อมและสังคมตลอดจนภาพลักษณ์นั้นเป็นผลเสียที่ค่อยๆ สะสมตัวทีละน้อยและไม่เห็นชัดเจนในระยะแรก เมื่อมารู้ตัวว่าเกิดปัญหาก็มักจะสายเกินไปเสียแล้ว

นโยบายท่องเที่ยวของไทยที่ผ่านมาเป็นนโยบายที่ต้องการกระตุ้นความต้องการท่องเที่ยว หรือเป็นนโยบายที่จัดการด้านดีมานด์มากกว่านโยบายที่จะจัดการซัพพลาย หรือด้านทรัพยากร เพราะการท่องเที่ยวสามารถนำเงินตราต่างประเทศเข้ามาให้กับประเทศ รวมทั้งมีการกระจายไปถึงรากหญ้า แม้จะไม่เท่าเทียมกันนัก แต่ก็เป็นวิธีการที่หารายได้ที่ไม่ต้องลงทุนมาก อาศัยบุญเก่าของบรรพบุรุษ เช่น ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ประเพณี และอาศัยธรรมชาติอันสวยงามที่เป็นทุนประเดิมของประเทศ ดังนั้น จนถึงปี 2562 นโยบายและงบประมาณด้านท่องเที่ยวจึงไปอยู่ที่การขยายความต้องการของนักท่องเที่ยวหรือกระตุ้นความต้องการของนักท่องเที่ยวเป็นหลัก

นโยบายที่ลำเอียงดังกล่าวมาแล้วจึงได้สร้างบาดแผลที่ซ่อนลึกไว้ในโครงสร้างของเศรษฐกิจท่องเที่ยวของไทย ที่ผู้เขียนเรียกว่า “สนิมในโครงสร้าง” ซึ่งจากปัจจัยได้แก่ หนึ่ง การเร่งรัดใช้ทรัพยากรธรรมชาติจนเกินกว่ากำลังรองรับ เราได้เห็นผลลัพธ์อันนี้ชัดเจนในช่วงก่อนโควิด-19 และเมื่อช่วงที่เกิดโควิด-19 ก็เป็นโอกาสอันดีที่ทำให้ทรัพยากรของเรากลับคืนมา แต่ยังไม่ทันไรก็ถาโถมกันไปถลุงทรัพยากรธรรมชาติอันมีค่าเหมือนเดิมอีกแล้ว

สอง เศรษฐกิจท่องเที่ยวได้ทวีความสำคัญขึ้นมาก ในขณะที่ความสามารถในการแข่งขันของภาคเศรษฐกิจอื่นลดลง จึงมีแนวโน้มที่การลงทุนส่วนใหญ่ของนักลงทุนทั้งใหญ่ทั้งเล็กก็มุ่งมาลงทุนในด้านการท่องเที่ยว เรื่องนี้ไม่เป็นที่น่าแปลกใจ แต่ที่น่ากังวลก็คือจะเกิดภาคเศรษฐกิจที่เรียกว่า “เศรษฐกิจเสาพระภูมิ” หรือ “เศรษฐกิจเสาเดี่ยว” คือ พึ่งพาท่องเที่ยวมากเกินไป ไม่มีกันชนหรือไม่มีตาข่ายรองรับเลย เมื่อท่องเที่ยวพับไปในช่วงโควิด-19 เราก็จะเห็นว่าภูเก็ตเป็นเมืองที่แทบไม่มีกิจกรรมเศรษฐกิจอื่นๆ อะไรเลย แต่ทุกวันนี้ทุกคนก็กลับไปมีพฤติกรรมพึ่งพิงท่องเที่ยวอย่างเดียวดังเดิม ไม่มีความต้องการที่จะสร้างความหลากหลายทางกิจกรรมเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นนอกเหนือจากการท่องเที่ยว

Advertisement

สาม นอกจากจะไม่มีนโยบายจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อการท่องเที่ยวที่ชัดเจนแล้ว ยังไม่สามารถจัดการดูแลทรัพยากรที่มีอยู่ เช่น การจัดการไฟป่าซึ่งเกิดซ้ำซากมากว่า 10 ปี ทำให้จังหวัดภาคเหนือสูญเสียโอกาสรายได้ไป 1 เดือน รวมทั้งก่อให้เกิดความทุกข์ทรมานแก่คนจำนวนมาก

สี่ ลักษณะของการบริหารการท่องเที่ยวจะเป็นจากบนลงล่าง ทั้งๆ ที่แหล่งท่องเที่ยวส่วนใหญ่อยู่ภายใต้การดูแลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ก็ไม่มีนโยบายที่ให้ท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรและในการที่จะกำหนดอนาคตของการท่องเที่ยวในพื้นที่ของตนเอง

ห้า กิจกรรมภาคท่องเที่ยวเป็นกิจกรรมภาคบริการ แม้จะต้องการทักษะอยู่บ้างแต่ก็ไม่มากนัก ทักษะที่จำเป็นก็จะเป็นทักษะภาษาอังกฤษและภาษาต่างประเทศอื่นๆ ที่จะต้องการทักษะมากขึ้นก็น่าจะเป็นอุตสาหกรรมการแพทย์ เศรษฐกิจดิจิทัลสร้างสรรค์ และสปา ภาคท่องเที่ยวอาศัยอัธยาศัยดีมีจิตบริการก็สามารถทำให้ลูกค้าชื่นชมได้ หรือพูดอีกอย่างหนึ่งได้ว่าขั้นบันไดของทักษะในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวค่อนข้างมีจำนวนขั้นน้อย ดังนั้น ในเวลาที่เศรษฐกิจซบเซาหรือเกิดการเปลี่ยนโครงสร้าง แรงงานจึงไม่สามารถปรับเปลี่ยนไปสู่ทักษะขั้นสูงได้ง่าย หากการท่องเที่ยวหดตัวอย่างรวดเร็ว ก็จะเกิดกลุ่มผู้ตกงานขนาดใหญ่

Advertisement

ที่จริงในระดับสากล นโยบายท่องเที่ยวที่ชัดเจนมีอยู่แล้วคือ นโยบายท่องเที่ยวที่รับผิดชอบทั้งในด้านผู้ให้บริการและผู้รับบริการ ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน กล่าวคือ เกิดผลทางเศรษฐกิจอย่างมีส่วนร่วมและมีอานิสงส์ถ้วนหน้า และสามารถใช้และรักษาทรัพยากรธรรมชาติอย่างไม่เบียดเบียนคนรุ่นหลัง ซึ่งในระดับปฏิบัติการจะมีหลักการที่เรียกว่า ESG ซึ่งย่อมาจาก Environment, Social Equity and Corporate Governance เป็นระบบที่วัดพฤติ กรรมขององค์กรว่าเป็นไปในทิศทางที่นำไปสู่การ พัฒนาอย่างยั่งยืนหรือไม่

ที่จริงนโยบายรัฐบาลไทยได้ประกาศเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนมานานแล้ว และยังได้มีการขับเคลื่อนเศรษฐกิจแบบ BCG และในปัจจุบันภาคเอกชนได้นำหน้ารัฐบาลไปมากแล้วในเรื่องของ ESG และ BCG ทั้งนี้เพราะ แรงกดดันจากนานาชาติ ซึ่งในปีหน้าสหภาพยุโรปก็จะเริ่มออกกฎหมายกีดกันสินค้าที่ไม่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ในขณะที่รัฐบาลของเรายังได้แต่กำหนดเป้าหมายนี้ไว้ในแผน แต่ในภาคท่องเที่ยวยังไม่มีการปฏิบัติที่จริงจังและที่เป็นรูปธรรม และไม่แสวงหาโอกาสที่ปรับโครงสร้างให้สอดคล้องกับเป้าหมายใหม่

สำหรับการท่องเที่ยวแล้ว นโยบายที่จะนำไปสู่การท่องเที่ยวที่ยั่งยืนต้องประกอบด้วย นโยบายที่กระจายอำนาจ นโยบายที่สนับสนุนการลดความสูญเสียด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมให้ต่ำที่สุด และนโยบายที่ทำให้ธุรกิจท่องเที่ยวรักษาระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม การสนับสนุนอุดหนุนหรือลดภาษีธุรกิจท่องเที่ยวก็ต้องเป็นในลักษณะต่างตอบแทน โดยธุรกิจท่องเที่ยวจะต้องเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเองให้เป็นองค์กรที่มี ESG

นโยบายสาธารณะที่ปรับโครงสร้างมักจะที่เห็นผลระยะยาวและเป็นนโยบายที่ต้องเปลี่ยนพฤติกรรม ซึ่งมีต้นทุนไม่ใช่นโยบายลดแลกแจกแถมที่ทำให้ได้หน้าได้เสียง พรรคการเมืองที่ไม่สนใจปัญหาใหญ่ เช่น ปัญหาฝุ่นพิษไม่ใช่พรรคการเมืองที่จะเหมาะที่จะนำคนไทยและประเทศไทยไปสู่อนาคตที่ยั่งยืน

ดาวน์โหลดรายงานวิจัยเรื่องผลของการจัดการการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ ต่อธุรกิจ ชุมชน และผู้เยี่ยมเยือนได้ที่ https://www.khonthai4-0.net/content_detail.php?id=367

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image