สะพานแห่งกาลเวลา : อาร์คทูรัส

Twitter

การเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส “ซาร์ส-โควี-2” ครั้งใหญ่ล่าสุดขึ้นที่อินเดีย อาจทำให้เราต้องกลับมาเฝ้าระวัง เชื้อโรคเพื่อนเก่าที่อยู่กับมนุษย์มา 3 ปีแล้วนี้อีกครั้ง

ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกล่าสุด ระบุว่า เชื้อ XBB.1.16 ซึ่งเป็นสายพันธุ์กลายพันธุ์ที่แยกย่อยออกมาของ โอมิครอนนั่นแหละ พบแพร่ระบาดอยู่ใน 22 ประเทศ รวมทั้งประเทศอย่างสิงคโปร์, ออสเตรเลีย, สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา

ในอินเดียนั้น XBB.1.16 ได้รับชื่อเรียกขานให้จำกันง่ายๆ ว่า “อาร์คทูรัส” (Arcturus) ระบาดหนักเสียจนรัฐบาลต้องหันกลับมาบังคับใช้มาตรการพิเศษเพื่อการยับยั้งกันอีกครั้ง ตั้งแต่การบังคับให้สวมหน้ากากอนามัยและให้โรงพยาบาลฝึกเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือ

ยอดผู้ติดเชื้ออาร์คทูรัส อย่างเป็นทางการในรอบ 24 ชั่วโมงในอินเดียที่แถลงออกมาเมื่อวันที่ 14 เมษายนที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นถึง 11,109 ราย เป็นยอดผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มเติมต่อวันที่สูงพรวดพราดเอามากๆ เพราะ 24 ชั่วโมงก่อนหน้านั้น มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเพียง 7,830 รายเท่านั้น

Advertisement

จัดเป็นยอดการติดเชื้อโควิด-19 ในรอบ 24 ชั่วโมงที่สูงที่สุดในรอบ 8 เดือนของอินเดีย และทำให้ยอดผู้ป่วยสะสมเพิ่มขึ้นเป็น 49,622 ราย

เราไม่เคยเห็นตัวเลขน่ากลัวทำนองนี้มานานไม่น้อยแล้ว

ที่ทำให้ต้องกังวลกันมากขึ้นอีกนิดก็คือ อาร์คทูรัส แพร่เข้ามาสร้างสถานการณ์ระบาดใกล้บ้านเรามากขึ้นทุกที ในประเทศอย่างออสเตรเลียและสิงคโปร์

Advertisement

เผลอๆ สงกรานต์ที่ผ่านมาอาจมีนักท่องเที่ยวจำนวนหนึ่งนำมันเข้ามาในไทยบ้างแล้วก็เป็นได้

เจ้า XBB.1.16 หรืออาร์คทูรัส เป็นเชื้อกลายพันธุ์ที่เกิดมาจากสายพันธุ์กลายพันธุ์ย่อยของโอมิครอนที่นักวิชาการรู้จักกันในชื่อ BA.2 จำนวน 2 สายพันธุ์ด้วยกัน คือ XBB.1 กับ XBB.1.5 เกิดการรวมตัวกันในเชิงพันธุกรรมใหม่อีกครั้ง อย่างที่เรียกกันว่า “รีคอมบิแนนท์” (recombinant)

งานวิจัยที่ยังไม่ผ่านการทบทวนทางวิชาการของทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยโตเกียว ระบุว่า ผลจากการรวมตัวกันแล้วทำให้ อาร์คทูรัสมีความสามารถในการแพร่ระบาดสูงกว่า XBB.1 กับ XBB.1.5 ราว 1.17 ถึง 1.27 เท่า

ยิ่งไปกว่านั้น จากข้อมูลการแพร่ระบาดเบื้องต้นพบว่า อาร์คทูรัส มีความสามารถในการต่อต้านสารแอนติบอดี ที่เกิดจากเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ก่อนหน้าทั้งหมด ซึ่งส่งผลให้บรรดาผู้เชี่ยวชาญเป็นกังวลว่ามันจะสามารถหลีกหนีจากภูมิคุ้มกันที่มีอยู่ภายในร่างกายของเราไม่ว่าจะได้จากการติดเชื้อก่อนหน้านี้หรือได้จากการฉีดวัคซีนก็ตามที

เหตุผลสำคัญอีกประการที่ทำให้เราควรหันมาใส่ใจและเป็นกังวลกับการแพร่ระบาดของอาร์คทูรัส มากขึ้นอีกอย่างก็คือ มันก่อให้เกิดอาการใหม่ที่ไม่ค่อยพบกันนักในการแพร่ระบาดระลอกก่อนๆ ยิ่งไปกว่านั้นอาการที่ว่านี้ไปปรากฏหนักอยู่ในเด็กๆ ที่ได้รับเชื้อนี้เข้าไป

เมื่อเราติดเชื้ออาร์คทูรัส อาการที่เกิดขึ้นเป็นหลักก็คือ มีไข้สูง ไอ และตาแดง ครับ

ตาแดงเกิดขึ้นเมื่อตาของเราติดเชื้อ นอกจากดวงตาจะแดงก่ำสมชื่อแล้ว ยังมีอาการบวมแล้วก็คัน นักระบาดวิทยาของโรคติดเชื้ออย่าง ริชาร์ด ไรทินเกอร์ จากสถาบันอาร์ทีไอ ระบุว่า อาการตาบวมแดงแล้วก็คันนี้เคยมีรายงานปรากฏเป็นอาการร่วมของผู้ที่ติดเชื้่อโควิด-19 ในหลายระลอกก่อนหน้านี้อยู่บ้าง แต่ไม่มากและไม่ได้พบบ่อยครั้งนัก

นักวิจัยจากสถาบันทูลเซน อาย ในเนบราสกา สหรัฐอเมริกา ตรวจสอบแล้วระบุว่า สาเหตุเกิดจากการที่เชื้ออาร์คทูรัสแพร่เข้าไปอยู่ในม่านน้ำตา (tear film) ของผู้ติดเชื้อ ก่อให้เกิดอาการตาแดงดังกล่าวขึ้น

แต่สำหรับในอินเดีย นายแพทย์ วิพิน วศิษธา กุมารแพทย์ ซึ่งเคยดำรงตำแหน่ง ประธานคณะกรรมการกุมารเวชแห่งอินเดีย ให้ข้อมูลผ่านทวิตเตอร์ว่า อาการเหล่านี้ไม่เคยพบมาก่อนในผู้ติดเชื้อระลอกก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะเด็กๆ

โดยปกติแล้ว เมื่อเด็กติดเชื้อโควิด อาการที่ปรากฏมักเป็นเพียงแค่กลุ่มอาการที่เกิดจากการติดเชื้อในช่องทางเดินหายใจ อย่าง การไอ, อาการคล้ายหวัดแล้วก็มีไข้สูงเท่านั้น

การพบการระบาดในเด็ก แล้วก่อให้เกิดโรคที่ทรมานอย่างโรคตาแดงนั้น ไม่คุกคามถึงชีวิตก็จริง

แต่ทุกครั้งที่เด็กๆ ไม่ว่าจะเป็นลูกเป็นหลานล้มป่วย ทรมานใจญาติผู้ใหญ่ใกล้ชิดแค่ไหนทุกคนคงรู้กันดี

ดังนั้นกันไว้ดีกว่าแก้ ระวังกันให้มากอีกครั้งเป็นดีที่สุดครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image