บทนำ : เสียงของแรงงาน

บทนำ : เสียงของแรงงาน

นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน กล่าวในวาระวันแรงงานแห่งชาติ 1 พ.ค.2566 ว่า กระทรวงแรงงานได้ตระหนักถึงความสำคัญของพี่น้องผู้ใช้แรงงาน ในช่วงที่ประเทศไทยประสบปัญหาโควิด-19 รัฐบาลได้มีมาตรการลดภาระค่าครองชีพ และเพิ่มรายรับให้พี่น้องผู้ใช้แรงงานผ่านโครงการสำคัญต่างๆ การไม่ปิดโรงงานส่งผลให้การส่งออกปี 2564 ขยายตัวสูงสุดในรอบ 11 ปี และได้มีมติเห็นชอบขยายความคุ้มครองผู้ประกันตนจาก 60 เป็น 65 ปี และเพิ่มความคุ้มครองต่างๆ เพื่อให้แรงงานได้รับประโยชน์สูงสุด นำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน

รมว.แรงงานกล่าวอีกว่า วันแรงงานปีนี้ คณะกรรมการจัดงานได้ยื่นข้อเรียกร้อง 7 ข้อ อาทิ ให้รัฐบาลรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศตั้งกองทุนประกันความเสี่ยง ปฏิรูปประกันสังคม จัดระบบสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลหลังเกษียณอายุให้ลูกจ้างรัฐวิสาหกิจเทียบเคียงกับข้าราชการบำนาญและลูกจ้างในระบบประกันสังคม ซึ่งเป็นสิ่งที่จะต้องดำเนินการผลักดันกันต่อไป

ขณะที่ นายกิลเบิร์ต เอฟ ฮวงโบ ผู้อำนวยการใหญ่องค์การแรงงานระหว่างประเทศ ได้กล่าวถึงวันแรงงานสากลว่า เส้นทางที่ต้องดำเนินการต่อไปในการฟื้นตัวหลังโควิด คือการให้ความสำคัญกับความยุติธรรมทางสังคม ความมั่นคงทางเศรษฐกิจและโอกาสที่เท่าเทียมกัน ตามปฏิญญาฟิลาเดลเฟีย ใน ค.ศ.1944 ต้องประเมินและปรับโครงสร้างระบบสังคมและเศรษฐกิจ เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงที่มุ่งสู่ความยุติธรรมทางสังคม สร้างความเข้มแข็งให้กับสถาบันแรงงานและองค์กรต่างๆ เพื่อให้การเจรจาทางสังคมมีประสิทธิภาพและมีพลัง

Advertisement

ในโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป การพัฒนาแรงงานให้มีทักษะและศักยภาพ เป็นภารกิจสำคัญของภาครัฐและเอกชน ขณะที่ปัญหาสวัสดิการและค่าจ้าง เป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องกระทำไปพร้อมกัน หลังการเลือกตั้ง 14 พ.ค. รัฐบาลใหม่จะต้องตระหนักในปัญหานี้ และเร่งรัดทำงาน เพื่อสร้างความเป็นธรรมและคุณภาพชีวิตให้กับกลุ่มก้อนประชาชนที่สำคัญกลุ่มนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image