28 พฤษภาคม วันสุขบัญญัติแห่งชาติ

28 พฤษภาคม
วันสุขบัญญัติแห่งชาติ

“สุขบัญญัติแห่งชาติ” เป็นแนวทางการปฏิบัติตนหรือการดูแลสุขภาพพื้นฐาน เพื่อสร้างเสริมสุขภาพและลดความเสี่ยงจากโรคภัยไข้เจ็บ รวมทั้งอันตรายต่อสุขภาพที่อาจเกิดขึ้น นำไปสู่การมีสุขภาพดีซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการทำกิจกรรมและดำเนินชีวิตประจำวัน รัฐบาลไทยได้มีการอนุมัติให้การปฏิบัติตนตามสุขบัญญัติเป็นนโยบายสำคัญ เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2539 โดยมีเป้าหมายให้คนไทยทุกคนได้รับการปลูกฝังและสร้างเสริมพฤติกรรมสุขภาพที่ถูกต้องตั้งแต่เยาว์วัย และทุกช่วงชีวิต ด้วยการปฏิบัติตนอย่างสม่ำเสมอจนเป็นสุขนิสัย และเพื่อให้การดูแลสุขภาพกลายเป็นค่านิยมหลักของสังคม และพัฒนาเป็นวัฒนธรรมทางสุขภาพของคนไทยต่อไป

สุขบัญญัติแห่งชาติมีข้อปฏิบัติ 10 ประการ ประกอบด้วย 1) การดูแลรักษาร่างกายและของใช้ให้สะอาด 2) การรักษาฟันให้แข็งแรงและแปรงฟันทุกวันอย่างถูกต้อง 3) การล้างมือให้สะอาดก่อนกินอาหารและหลังการขับถ่าย 4) การกินอาหารสุกสะอาด ปราศจากอันตรายและหลีกเลี่ยงอาหารรสจัด สีฉูดฉาด 5) การงดบุหรี่ สุรา สารเสพติด การพนัน และสำส่อนทางเพศ 6) การสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัวให้อบอุ่น 7) การป้องกันอุบัติภัยด้วยการไม่ประมาท 8) การออกกำลังกายสม่ำเสมอและตรวจสุขภาพประจำปี 9) การทำจิตใจให้ร่าเริงแจ่มใสอยู่เสมอ 10) การมีสำนึกต่อส่วนรวม ร่วมสร้างสรรค์สังคม ซึ่งการปฏิบัติตนตามสุขบัญญัติ 10 ประการ จะทำให้สุขภาพทั้งร่างกายและจิตใจแข็งแรง มีสมรรถภาพในการเรียน การทำงาน มีภูมิต้านทานโรค ไม่เจ็บป่วย ทำกิจกรรมประจำวันและอยู่ในสังคมอย่างมีความสุข การเจ็บป่วยและการเกิดปัญหาสุขภาพจะน้อยลง หากทุกคนมีพฤติกรรมสุขภาพที่ถูกต้องตามสุขบัญญัติ 10 ประการ การละเลยในการปฏิบัติสุขบัญญัติข้อใดข้อหนึ่ง หมายถึง เรามีความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยหรืออันตรายต่อสุขภาพ ซึ่งอาจจะเล็กน้อยหรือรุนแรง หรือเริ่มต้นด้วยการเจ็บป่วยเล็กน้อย แต่อาจนำหรือเป็นบ่อเกิดของโรคแทรกซ้อนที่มีอันตรายร้ายแรงตามมาภายหลัง ดังนั้นเพื่อลดความเสี่ยง ต่ออันตรายและโรคภัยไข้เจ็บ และเพื่อสุขภาพที่ดีจึงต้องปฏิบัติตามสุขบัญญัติทั้ง 10 ประการ อย่างต่อเนื่องจนเป็นสุขนิสัย

ในแต่ละปีจะมีการกำหนดประเด็นในการสื่อสารรณรงค์แตกต่างกันไปตามสถานการณ์สำคัญ ปัญหา หรือพฤติกรรมเสี่ยงที่เกิดขึ้นในแต่ละห้วงเวลา

Advertisement

ปี 2566 กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ร่วมกับภาคีเครือข่าย กำหนดประเด็นการสื่อสารตามแนวทางสุขบัญญัติ ข้อที่ 5 งดสูบบุหรี่ สุรา สารเสพติด การพนัน และการสำส่อนทางเพศ โดยใช้ประเด็นสื่อสารหลักคือ “บุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า ไม่สูบ ไม่เสี่ยง” เพื่อเป็นการสื่อสารให้เด็ก เยาวชน และประชาชน มีความตระหนักรู้และตื่นตัวถึงอันตรายจากบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า โดยเฉพาะประเด็นบุหรี่ไฟฟ้าในกลุ่มเด็กและเยาวชน จากผลการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2564 พบว่ามีคนไทยสูบบุหรี่ไฟฟ้า 78,742 คน เป็นเพศชาย 71,486 คน เพศหญิง 7,256 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้มีอายุระหว่าง 15-24 ปี รวม 24,050 คน ในด้านการรับรู้และทัศนคติของเด็กและเยาวชนที่มีต่อบุหรี่ไฟฟ้า ผลการสำรวจโดยสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย (ยท.) โดยสำรวจในกลุ่มตัวอย่าง 400 คน อายุระหว่าง 13-25 ปี ทั่วประเทศ ระหว่างเดือนเมษายน-พฤษภาคม ปี 2565 พบว่า เด็กและเยาวชนไทยมีการรับข้อมูลและวาทกรรมสร้างความเข้าใจผิดเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าเฉลี่ย 3 ครั้งต่อสัปดาห์ ผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ โดยเด็กและเยาวชนเปิดรับข้อมูลจากช่องทางที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าในทางที่ผิดเป็นประจำและบ่อยครั้งสูงถึงร้อยละ 33.9 และร้อยละ 38.5 รับรู้วาทกรรมความเชื่อที่ผิดเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า เช่น สูบบุหรี่ไฟฟ้าแล้วสุขภาพดีขึ้นกว่าการสูบบุหรี่แบบมวน หรือบุหรี่ไฟฟ้าสูบแล้วปลอดภัยเนื่องจากสามารถเลือกปริมาณนิโคตินเองได้

สถานการณ์และข้อมูลดังกล่าวข้างต้น จึงนำมาสู่การกำหนดประเด็นรณรงค์เพื่อสื่อสารผ่านเครือข่ายที่ใกล้ชิดกับเด็ก เยาวชน นั่นคือ ครูในสถานศึกษา เครือข่ายสภาเด็กและเยาวชน ผู้รับผิดชอบและขับเคลื่อนงานด้านเด็กในชุมชนทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านที่จะเป็นเครือข่ายเฝ้าระวังการขายบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า ให้กับเด็กและเยาวชน ซึ่งเป็นเรื่องผิดกฎหมาย และยุวอาสาสมัครสาธารณสุขที่จะเป็นเครือข่ายในการสื่อสารความรู้ที่ถูกต้องเรื่องโทษและพิษภัยของบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า

นิโคติน ถือเป็นสารเสพติด ที่พบได้ในทั้งบุหรี่ไฟฟ้าและบุหรี่ปกติทั่วไป ที่ทำให้ร่างกายเสพติดการสูบบุหรี่ เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะไปกระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง เพิ่มความดันโลหิต เพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจและการหายใจ เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งปอดโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจมะเร็งช่องปาก หลอดอาหารและตับอ่อน นิโคตินยังกระตุ้นให้จำนวนเซลล์ผนังหลอดเลือดเพิ่มขึ้น ทำให้เส้นเลือดตีบ เพิ่มความเสี่ยงโรคหัวใจ และหลอดเลือดสมอง สำหรับหญิงตั้งครรภ์นิโคตินส่งผลต่อการพัฒนาของสมองทารกในครรภ์

Advertisement

อันตรายของบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า มีมากมาย สุขบัญญัติแห่งชาติปีนี้ เชิญชวนทุกท่านรณรงค์ร่วมกัน “บุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า ไม่สูบ ไม่เสี่ยง” ด้วยกันนะครับ

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.นพ.วิชัย เทียนถาวร
อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image