แรงงานภายใต้รัฐบาลใหม่ แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์

แรงงานภายใต้รัฐบาลใหม่ แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์

แรงงานภายใต้รัฐบาลใหม่
แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์

การเลือกตั้งใหญ่ผ่านไปแล้ว และอย่างที่ทราบคือ พรรคก้าวไกลมีจำนวน ส.ส. มากที่สุด คือ 152 คน และกำลังจัดตั้งรัฐบาลผสมจาก 8 พรรคที่รวบรวม ส.ส.ได้ 313 คน ในขณะที่พรรคที่จะได้เป็นรัฐบาลต้องมี ส.ส.และ ส.ว. รวมกันไม่น้อยกว่าครึ่งของสมาชิกรัฐสภา 750 คน (ส.ส. 500 คน + ส.ว. 250 คน) คือต้องรวมกันให้ได้อย่างน้อย 376 คน ดังนั้น คงต้องรออีกนิด

เมื่อ 22 พฤษภาคม พรรคการเมือง 8 พรรคได้ร่วมแถลงข่าวบันทึกข้อตกลงร่วม (MOU) เพื่อเป็นพื้นฐานในการจัดตั้งรัฐบาลและทำงานร่วมกัน โดยมี 23 ข้อ และแนวทางการปฏิบัติอีก 5 ข้อ ในด้านแรงงานสิ่งที่น่าสนใจ คือ นโยบายด้านแรงงาน ซึ่งดูจาก MOU ที่เกี่ยวข้องกับแรงงานโดยตรง (โดยย่อ) คือ
ข้อ 19.ยกระดับสิทธิแรงงานทุกอาชีพให้มีสภาพการจ้างงานที่เป็นธรรม และได้รับค่าแรงที่เป็นธรรม
ข้อ 9.ยกเครื่องกฎหมายเกี่ยวกับการทำมาหากิน และการดำรงชีวิตของประชาชน เสริมสภาพคล่องสนับสนุน SME
ข้อ 14.สร้างระบบสวัสดิการดูแลประชาชนตั้งแต่เด็กแรกเกิดจนถึงผู้สูงวัย โดยคำนึงถึงภาระทางการคลังระยะยาว
ข้อ 17.ส่งเสริมเกษตรและปศุสัตว์ปลอดภัย คุ้มครอง รักษาผลประโยชน์ของเกษตรกร ฯลฯ

ซึ่งเป็นนโยบายดีๆ ทั้งสิ้น แต่จะทำได้หรือไม่ หรือทำได้ยาก ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

Advertisement

ในฐานะที่ผู้เขียนติดตามเรื่องแรงงานมาหลายทศวรรษ ตั้งแต่กระทรวงแรงงานยังเป็นกรมแรงงานอยู่ที่สะพานขาวมาจนกระทั่งบัดนี้ จึงขออนุญาตให้ความเห็นเพิ่มนิดหน่อยในส่วนของงานด้านแรงงานซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบโดยตรงของกระทรวงแรงงาน

เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับการเมือง ขอบอก

ที่ผ่านมากระทรวงได้ปฏิบัติภารกิจลุล่วงไปด้วยดีหลายเรื่องทั้งด้านสวัสดิการแรงงาน ประกันสังคม ค่าจ้าง การจัดหางานและการพัฒนาฝีมือแรงงาน ฯลฯ แต่ปัจจุบันปัญหาแรงงานขยายตัวไปมากตามโลกแห่งงาน ดิจิทัลเทคโนโลยี AI และ Chat GPT ตลอดจนภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงทางภูมิรัฐศาสตร์เศรษฐกิจ มีปัญหา มีความขาดแคลนมากขึ้นทั้งแรงงานระดับล่าง แรงงานทักษะและบุคลากรดิจิทัลและไอที ต้องมีการแก้ปัญหาเชิงรุกให้ทันยุคสมัยและเทคโนโลยี แม้บางส่วนอยู่นอกเหนือความรับผิดชอบของกระทรวงแรงงาน การประกันสังคมเริ่มยุ่งยากกว่าในอดีต เพราะปัญหาสังคมสูงวัย วิกฤตโควิด-19 และวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่กระทบสวัสดิการแรงงานและบำนาญชราภาพ เป็นต้น ทำให้การทำงานของกระทรวงยากกว่าในอดีตทั้งๆ ที่ข้าราชการส่วนใหญ่ทำงานหนัก

Advertisement

แต่ก็ยังมีปัญหาแรงงานอีกมากที่ยังคั่งค้าง แก้ไม่ได้ หรือไม่ได้แก้ แก้ได้ช้าหรือแก้ไม่เป็น

ปัญหาแรงงานที่สำคัญบางประเด็นอาจยกเป็นตัวอย่างเช่น

การประกันสังคม

สำนักงานประกันสังคม (สปส.) นับว่าเป็นองค์กรสำคัญของกระทรวงแรงงานทั้งในแง่การคุ้มครองและสวัสดิการแรงงานและงบประมาณกระทรวง ซึ่งอย่างหลังนี้ในงบประมาณประจำปี 2566 จำนวน 54,339 ล้านบาท มี 49,432 ล้านบาทเป็นเงินที่รัฐบาลสมทบประกันสังคมมาตรา 33 ตามที่รัฐต้องจ่ายร้อยละ 2.5 นายจ้างจ่ายร้อยละ 5 และลูกจ้างร้อยละ 5 ซึ่งส่วนที่เป็นเงินที่รัฐบาลสมทบประกันสังคม 49,432 ล้านบาทนั้น ถ้าคิดดูให้ดีก็อาจมีคำถามเพราะผู้เขียนจำได้ว่าเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว รัฐบาลเป็นหนี้เบี้ยประกันสังคมอยู่พักหนึ่ง ต่อมาได้แก้ปัญหาโดยเอางบประมาณประจำปีส่วนหนึ่ง (ไม่น้อย) กันเป็นเงินสมทบประกันสังคมมาตรา 33 คำถามอยู่ที่ว่า “เงินชำระหนี้” กับ “เงินงบประมาณ” เป็นคนละเรื่องกัน การกระทำดังกล่าวจะกระทบเสถียรภาพกองทุนประกันสังคมหรือไม่ อย่างไร “วิธีจัดการงบประมาณฐานศูนย์” ตาม MOU ข้อ 13 คงจะช่วยตรวจสอบได้

ในแง่เสถียรภาพของกองทุนประกันสังคมก็ควรมีการติดตามประเมินผลกระทบระยะสั้นจากการบริหารจัดการกองทุนช่วงวิกฤตโควิด-19 เช่น การชดเชยกรณีว่างงาน การลดอัตราเงินสมทบ การแก้ไขสิทธิประโยชน์กองทุนประกันสังคมกรณีชราภาพฯ “3 ขอ” ได้แก่ ขอเลือก ขอกู้ และขอคืน ที่ ILO และผู้เกี่ยวข้องบางท่านเคยทักท้วง ฯลฯ และผลกระทบระยะยาวเนื่องจากภาวะสังคมสูงวัยที่มีผู้สูงอายุเกษียณรับบำนาญจำนวนมากขึ้นโดยแต่ละคนมีอายุขัยเฉลี่ยสูงขึ้นซึ่งหมายความว่า สปส.จะต้องจ่ายเงินบำนาญมากขึ้นและเป็นเวลานานขึ้นในขณะที่แรงงานเกิดใหม่และแรงงานมีแนวโน้มลดลง สถานการณ์เช่นนี้จะมีผลให้กองทุนประกันสังคมขาดเสถียรภาพ หากไม่มีการบริหารจัดการกองทุนอย่างระมัดระวัง

อนึ่ง สปส.มีแนวคิดปรับให้เป็นองค์กรอิสระมานานแล้วตั้งแต่ปี 2537 ตามข้อเสนอของ IMF เมื่อ 11 มกราคม 2537 โดยกองวิชาการและแผนงาน สปส. ได้เสนอการจัดองค์กรบริหารในระยะยาวของ สปส.ว่าควรจัดตั้งเป็นหน่วยงานอิสระของรัฐขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรีและรัฐสภาเป็นผู้ตรวจสอบการปฏิบัติงานโดยตรง มีงบประมาณของตนเองในการปฏิบัติหน้าที่และจัดหาวัสดุ ครุภัณฑ์ให้เพียงพอที่จะบริหารงานได้ทันสมัย เนื่องจากปริมาณงานในหน้าที่ความรับผิดชอบเพิ่มขึ้นตลอดเวลา ปัจจุบันยังไม่มีความคืบหน้า ล่าสุดในการประชุมคณะกรรมาธิการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 48 เมื่อ 23 มิถุนายน 2564 มีมติให้คณะอนุกรรมาธิการศึกษาเชิงนโยบายและกฎหมายพิจารณา ดังนั้นคงต้องรอ

นอกจากนั้น ยังมีเรื่องการขยายอายุการรับบำนาญชราภาพประกันสังคมจาก 55 ปี เป็น 60 ปี (ซึ่งถูกยับยั้งไปเมื่อธันวาคม 2564 ขณะที่การขยายอายุเกษียณเป็นเรื่องคอขาดบาดตายเช่นในฝรั่งเศสที่แรงงานออกมาประท้วงทั่วประเทศกันเป็นปีและยังไม่เลิกรา) รวมทั้งนโยบายตาม MOU ข้อ 14 เรื่องประกันสังคมถ้วนหน้า ซึ่งก็ได้ระบุแล้วว่าจะคำนึงถึงภาระการคลังระยะยาว

แรงงานข้ามชาติและการค้ามนุษย์

ปัญหาแรงงานต่างด้าวจาก 3 ประเทศเพื่อนบ้าน (กัมพูชา ลาว และเมียนมา) เป็นเรื่องคาราคาซังมาตั้งแต่ปี 2540 จนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงงานเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายอยู่ใต้ดินนับล้านคน (แต่เท่าไหร่ไม่รู้) โดยมีเจ้าหน้าที่ประพฤติมิชอบเกี่ยวข้องทั้งมีส่วนร่วม การตั้งด่านเถื่อน การรีดไถแรงงานต่างด้าว ปัญหาในวิธีการผ่อนผันแรงงานดังกล่าวโดยการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวและการหาประโยชน์ด้วยการให้นายหน้าเป็นผู้ดำเนินการและหาผลประโยชน์ต่างๆ เนื่องจากระบบและวิธีที่ไม่โปร่งใสและไม่มีประสิทธิภาพ

นอกจากนั้น ปัญหาที่สืบเนื่องกัน คือ การค้ามนุษย์ยังเป็นเรื่องที่ต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นที่จับตาของนานาชาติและรายงานปัญหาการค้ามนุษย์ (TIP Report) ของอเมริกา

แรงงานนอกระบบ

ประเทศไทยมีแรงงานนอกระบบประมาณ 20 ล้านคนคิดเป็นกว่าครึ่งของแรงงาน 39.6 ล้านคน แรงงานนอกระบบจึงมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจที่ขาดไม่ได้เพราะเป็นการจ้างงานจำนวนมาก เป็นตาข่ายความปลอดภัยที่ช่วยลดปัญหาการว่างงานและการขาดแคลนแรงงานเนื่องจากเป็นงานที่เข้าออกได้ง่ายใช้ต้นทุนสร้างงานต่ำจึงมีความยืดหยุ่นสูง จะเห็นได้ว่าในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจที่ผ่านมาทั้งวิกฤตต้มยำกุ้ง วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ (Sub-Prime Crisis) และโควิด-19 ปัญหาการว่างงานของไทยไม่รุนแรงเท่าประเทศอื่น เพราะแรงงานจำนวนไม่น้อยยังสามารถทำงานแบบนอกระบบได้ ซึ่งอาจโยงไปถึงการช่วยลดปัญหาอาชญากรรม เพราะแรงงานที่ยากจนยังพอมีงาน มีเงิน มีกิน มีใช้ ไม่ต้องไปจี้ปล้นเขากิน

แต่ที่ผ่านมาการดูแลคุ้มครองและส่งเสริมแรงงานนอกระบบยังไม่มีประสิทธิภาพ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ไม่มีความชัดเจนเรื่องนิยามของลูกจ้างในระบบและนอกระบบต้องพึ่งกฎหมายอื่นช่วยพิจารณา ยังไม่มีนิยามของแรงงานนอกระบบที่ชัดเจน สำนักงานสถิติแห่งชาติใช้อย่างหนึ่ง กระทรวงแรงงานใช้อย่างหนึ่ง นักวิชาการใช้อย่างหนึ่ง ยังไม่มีความชัดเจนว่าแรงงานแพลตฟอร์ม แรงงานภาคเกษตร ควรอยู่ตรงไหน ทำให้แก้ปัญหาไม่ตรงจุดและขาดความครอบคลุม

แรงงานนอกระบบประสบปัญหาหลายด้าน อาทิ ค่าตอบแทน งานไม่ต่อเนื่อง และงานหนัก สภาพแวดล้อมในการทำงาน เช่น ฝุ่น ละออง ควัน กลิ่น จากสารเคมี จากเครื่องจักรเครื่องมือที่เป็นอันตราย และอันตรายต่อระบบหูระบบตา และที่สำคัญ คือ การขาดการคุ้มครองทางสังคม ประกันสังคม และการชดเชยการเจ็บป่วยเนื่องจากงาน บำเหน็จบำนาญ และการขาดสิทธิประโยชน์ของแรงงาน เช่น เวลาพัก วันหยุดปลายสัปดาห์ วันหยุดประจำปี/ตามประเพณี/พักผ่อน วันลาโดยได้รับเงินเดือนและไม่ได้รับเงินเดือน และการชดเชยกรณีเลิกจ้าง รวมทั้ง โอกาสในการรวมตัวและการต่อรอง

ที่ผ่านมารัฐบาลแก้ปัญหาแรงงานนอกระบบมานานแล้ว แต่ยืดยาดหยุมหยิม (Too little, too late!) มีการสำรวจแรงงานนอกระบบตั้งแต่ 2548 มียุทธศาสตร์การบริหารจัดการแรงงานนอกระบบตั้งแต่ 2550 มีการจัดตั้งสำนักงานนโยบายแรงงานนอกระบบ มีการออกกฎหมายคุ้มครองแรงงานนอกระบบหลายฉบับ แต่จากการสำรวจแรงงานนอกระบบโดยสำนักสถิติแห่งชาติและการวิจัยพบว่าแรงงานนอกระบบยังไม่ได้รับการคุ้มครองอย่างเพียงพอ

ล่าสุดมีการร่างกฎหมายแรงงานนอกระบบโดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ได้จัดทำร่าง “พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาแรงงานนอกระบบแห่งชาติ พ.ศ. …” เมื่อเมษายน 2562 ซึ่งมติคณะรัฐมนตรี เมื่อ 28 ธันวาคม 2564 ได้อนุมัติหลักการแล้วและปรับชื่อเป็น “ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุ้มครองแรงงานนอกระบบ พ.ศ. …” แต่ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการตรวจพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และยังไม่ถึงกระบวนการเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรแต่อย่างใด โดยในชั้นนี้ร่างกฎหมายนี้ถูกปรับเป็น “ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและคุ้มครองแรงงานอิสระ พ.ศ. …” ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานมีการเรียกแรงงานนอกระบบใหม่ว่า “แรงงานภาคอิสระ” (ตั้งแต่ปี 2563) และต่อมาจึงปรับเป็น “แรงงานอิสระ” แต่คงไม่ทำให้แรงงานนอกระบบหายไปได้แต่อย่างใด

ส่วนนโยบายแรงงานด้านอื่นๆ เช่นค่าจ้างขั้นต่ำ ค่าจ้างเพื่อชีวิต ค่าจ้างรายชั่วโมง สวัสดิการแรงงาน การพัฒนาฝีมือแรงงาน และแรงงานผู้สูงอายุ รวมทั้งข้อเรียกร้องวันแรงงาน และผลกระทบ ฯลฯ ก็มีประเด็นที่จะต้องพัฒนาหรือปฏิรูปต่อไปเช่นกัน ซึ่งก็ได้สะท้อนไว้แล้วใน MOU ทั้ง 4 ข้อที่ยกมาข้างต้น

ครับ ก็หวังว่ารัฐบาลใหม่จะเป็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ที่เห็นทางออกอย่างถูกต้อง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image