สถานีคิดเลขที่ 12 : นายกฯพิธาไม่ง่าย

สถานีคิดเลขที่ 12 : นายกฯพิธาไม่ง่าย

ดูรูปการณ์จากผลการเลือกตั้งและการประกาศของพรรค 7 พรรคที่ร่วมรัฐบาลว่าจะสนับสนุน นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกฯแล้ว

ดูเหมือนว่าจะไม่ยาก

เพราะจำนวน 312 เสียงที่ 8 พรรคการเมืองมีนั้นเกินกว่า 250 ที่นั่งของสภาผู้แทนราษฎรไปเยอะ

Advertisement

เหมือนดั่งที่ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ บอกเอาไว้ว่า ประหนึ่งเรือเหล็ก

แต่ในสภาพความเป็นจริง ลำพังเรือเหล็กแม้จะแข็งแกร่ง หากต้องเผชิญหน้ากับมรสุมก็อาจจะสั่นไหว

จนถึงบัดนี้ยังไม่มีอะไรที่ทำให้มั่นใจได้ว่า กัปตันเรือเหล็กจะชื่อ “พิธา” เพราะอาการของผู้มีพลังกำลังสำแดงฤทธิ์

Advertisement

ยิ่งพรรคก้าวไกลแสดงความมุ่งมั่นที่จะทำตามนโยบายที่หาเสียงเอาไว้ ยิ่งเผชิญหน้ากับฤทธิ์เดช

เผชิญหน้าทั้งอำนาจรัฐ และอำนาจทุน

ไปๆ มาๆ แนวร่วมหลากหลายฝ่ายที่เคยสนับสนุนการโค่นล้ม ทักษิณ ชินวัตร และพรรคไทยรักไทย เรื่อยมาจนถึงพรรคเพื่อไทย กำลังหันปลายหอกมาจ่อคอหอยพรรคก้าวไกล

เริ่มต้นจากไม่เอานายพิธาเป็นนายกฯ ด้วยกลไกต่างๆ ที่มีอยู่

แม้จะมี ส.ส.รวมกันถึง 312 เสียง แต่ก็มี ส.ว. 250 เสียงที่พร้อมเบรก

นี่ยังไม่รวมองค์กรอิสระที่รับเรื่องร้องเรียนเอาไว้แล้ว และอยู่ระหว่างการพิจารณา

ขณะเดียวกันก็มีกระแสยุแหย่ชักจูงให้พรรคเพื่อไทยที่มีเสียงแพ้พรรคก้าวไกลไป 10 เสียงหวังในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

ก่อเกิดกระแสความหวาดระแวง และกลายเป็นประเด็นแทงกันข้างหลัง ซึ่งอาจจะขยายผลไปเป็นอะไรอีกก็ได้

เรื่องเช่นนี้เป็นความล่อแหลมทางการเมือง

ยิ่งในห้วงเวลาที่ต้องเปลี่ยนผ่าน จากรัฐบาลที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ มาเป็นรัฐบาลที่ผลักดันให้นายพิธาเป็นนายกฯ

เป็นห้วงเวลาที่มีการต่อสู้กันระหว่าง “อำนาจนิยม” กับ “ประชาธิปไตย”

ถ้าตะบะจากฟากฝั่งพรรคขั้วประชาธิปไตยไม่แข็งแรงพอ โอกาสที่ฟากฝั่งพรรคขั้วอำนาจนิยมจะสอดแทรกเข้ามาแทนก็มีอยู่

จวบจนถึงวันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ไม่เคยเอ่ยปากว่ายอมแพ้ ขณะที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชาชน ก็เดินหน้าขับเคลื่อนพรรคต่อไป

ใครว่าประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยคือทำตามเจตนารมณ์ของประชาชนส่วนใหญ่คงจะไม่ใช่เสียแล้ว

ปกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ “ใหญ่กว่าประชาชนคือ ส.ว.” นั้นเป็นเพียงแค่ยอดภูเขาน้ำแข็งที่พ้นน้ำ

หากสังเกตดีๆ ใต้น้ำลงไป ยังมีแรงต้านพรรคก้าวไกลที่ตั้งใจจะรื้อระบบของประเทศ

พรรคก้าวไกลตั้งใจปฏิรูปราชการ ฝ่ายราชการนั่นแหละที่จะออกมาต้าน

พรรคก้าวไกลตั้งใจจะกระจายอำนาจ ฝ่ายรวมศูนย์อำนาจนั้นแหละที่จะออกมาเต้น

พรรคก้าวไกลตั้งใจจะแก้ไขทุนผูกขาด ทุนผูกขาดคงไม่อยู่นิ่งให้ดำเนินการ

นี่ยังไม่รวมกองทัพที่อยู่ในลิสต์ต้นๆ ที่จะต้องปฏิรูป

แรงต้านที่กำลังเผชิญหน้าเมื่อเทียบกับข้อขัดแย้งในเรื่องตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร และเก้าอี้รัฐมนตรีที่จะหารือกันในวันที่ 30 พฤษภาคมนี้แล้ว

ถือว่าข้อขัดแย้งระหว่างเพื่อไทยกับก้าวไกลนั้นยังเป็นเรื่องเล็กน้อย

ขั้วประชาธิปไตยนั้นมีโจทย์ใหญ่ที่ต้องแก้ไข หากต้องการปฏิรูปประเทศ

สถานการณ์ ณ ขณะนี้ อย่าว่าแต่การปฏิรูปประเทศเลย

แม้แต่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่น่าจะเป็นของนายพิธา ก็เริ่มตีบตัน

นายพิธาจะขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีในสถานการณ์เช่นนี้

จากข่าวสารที่ปรากฏจนถึงขณะนี้ ต้องขอบอกว่า ไม่ใช่เรื่องง่าย

นฤตย์ เสกธีระ
[email protected]

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image