บทนำ : บทบาท ปธ.สภา

บทนำ : บทบาท ปธ.สภา

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ชี้แจงบทบาทหน้าที่ของประธานสภาผู้แทนฯ และการลงมติรับรองนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ว่าตำแหน่งประธานสภามีความสำคัญ เพราะเป็นตำแหน่งอันดับแรกที่จะต้องมีขึ้นหลังการเลือกตั้ง และกลไกการเมืองทั้งหมดจะต้องดำเนินต่อไปหลังจากมีประธานสภา เช่น การเลือกนายกรัฐมนตรี แต่ภาระหน้าที่จริงๆ ก็ไม่ได้เป็นอย่างที่พูดกัน แต่เป็นอย่างที่อดีตประธานสภาเคยพูดว่าจะไปกำหนดอะไรตามใจชอบไม่ได้ ไม่เช่นนั้นสมัยก่อนคงไม่ยกให้นายอุทัย พิมพ์ใจชน เป็นประธานสภา โดยมาจากพรรคที่มี 3 เสียง เพราะชี้เป็นชี้ตายอะไรไม่ได้ โดยหลักคือปกครองข้าราชการในสภา ขณะเดียวกันก็มีอำนาจในการกำหนดวันประชุมสภา ส่วนจะกำหนดวาระอะไรเป็นไปตามข้อบังคับการประชุมสภา

นายวิษณุตอบคำถามผู้สื่อข่าวด้วยว่า หากวันโหวตนายกฯชื่อของนายพิธาได้เสียงรับรองไม่ถึง 376 เสียง หรือเกินครึ่งของรัฐสภา ลำดับขั้นตอนต่อไปอยู่ที่ประธานสภาว่าจะเลือกใหม่ในวันพรุ่งนี้ หรืออีก 7 วัน 15 วันจะเลือกกันใหม่ หากเลือกไม่ได้อีก อยู่ที่ ส.ส.อาจเสนอชื่อกันใหม่ โดยพรรคที่มี ส.ส.เกิน 25 คน เป็นผู้เสนอ แต่ประธานสภาไม่สามารถพลิกได้ ทําได้แค่เสนอวัน สภาต้องเป็นผู้พลิกเกมเอง แต่ถ้าสภาพลิกแล้วประธานไม่รับลูก และให้รออีก 1 เดือน ก็ต้องรอไป 1 เดือน แต่ถ้าประธานสภารับลูก บอกว่าพรุ่งนี้มาใหม่ ก็ทําได้ แม้จะเสนอชื่อเดิม ส่วนกรณีจะต้องโหวตเลือกนายกฯครั้งที่ 2 จะเสนอชื่ออื่นได้หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ชื่อเดิมก็ได้ ชื่อใหม่ก็ได้ จนกระทั่งทิ้งหมด เปลี่ยนไปเอามาตรา 272 วรรคสอง คือเสนอคนนอก แม้จะบอกว่าเสนอคนนอก แต่จะเสนอคนในอีกก็ได้ แต่เสียงรับรองต้องเกิน 500 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเสนอคนเดิมได้ตลอด แต่เมื่อไปถึงรอบที่ 2-5 ก็จะเริ่มมีการเสนอคนแข่งแล้ว

รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันกำหนดให้ ส.ว.ร่วมกับ ส.ส.ลงมติรับรองบุคคลที่สมควรเป็นนายกรัฐมนตรี ทำให้เกิดปัญหา ถ้าแคนดิเดตนายกฯไม่ได้เสียงสนับสนุนจากวุฒิสภาจะมีปัญหาทันที เป็นการออกแบบรัฐธรรมนูญเพื่อรักษาอำนาจของบุคคลบางกลุ่ม เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบในการเมือง สภาผู้แทนฯชุดนี้จะต้องหาทางแก้ไข ยกเครื่องกฎหมายแม่บทของประเทศให้กลับไปสู่แนวทางประชาธิปไตยที่ยึดถือปฏิบัติกันทั่วไป

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image