ปรับสมดุลเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้สูงวัย

ปรับสมดุลเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้สูงวัย

คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อเดือนพฤษภาคม 2565 เห็นชอบร่างแผนพัฒนาประชากรเพื่อพัฒนาประเทศในระยะยาว ปี 2565-2580 วางโครงสร้างพัฒนาประชากรไทยในทุกช่วงวัยด้วยแนวคิด “เกิดดี อยู่ดี กินดี” ให้ความสำคัญ 3 ด้าน ได้แก่ การเกิดอย่างมีคุณภาพ การอยู่อย่างมีคุณภาพและมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ การแก่และการตายอย่างมีคุณภาพ โดยร่างแผนพัฒนาประชากรเพื่อการพัฒนาประเทศระยะยาว ปี 2565-2580 นั้น ให้ความสำคัญกับการ “สูงวัย” ของประชากร เพื่อนำสู่สังคมสูงวัย (ageing society) อย่างรอบด้าน ประกอบด้วย 6 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1) สร้างครอบครัวที่มีคุณภาพ 2) พัฒนายกระดับผลิตภาพประชากร 3) ยกระดับความมั่นคงทางการเงิน 4) สร้างเสริมสุขภาวะเพื่อลดการตายก่อนวัยอันควร 5) สร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการดำรงชีวิตอย่างมีคุณภาพกับทุกกลุ่มวัย และ 6) บริหารจัดการด้านย้ายถิ่น

จุดเน้นสำคัญคือการดูแลประชากรในทุกกลุ่มวัยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี เพื่อเตรียมพร้อมสู่การเป็นสังคมสูงวัยที่มีคุณค่า

ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์เมื่อปี 2565 โดยจำนวนผู้สูงอายุจะอยู่ราวร้อยละ 20-30 และประเทศไทยจะกลายเป็นสังคมสูงอายุระดับสูงสุด คือ มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปร้อยละ 28 ในปี 2574 ทั้งนี้ การประชุม Public Policy Forum ประเด็น “อนาคตประเทศไทยใน 10 มิติ” ครั้งที่ 1 ภายใต้หัวข้อ “อนาคตประเทศไทยในมิติประชากร โครงสร้างสังคม ชนบท และท้องถิ่น : ประเด็นเพื่อพิจารณาสำหรับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13” ระบุฉากทัศน์ของประเทศไทยในประเด็นผู้สูงอายุว่า ในปี 2580 ผู้สูงอายุจะมีความเปราะบางสูงและอยู่คนเดียวสูงถึงร้อยละ 23.1 ของครัวเรือนทั้งหมด ดังนั้น การส่งเสริมให้ผู้สูงอายุ และผู้ที่กำลังจะเข้าสู่วัยสูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดี คือ การมีสุขภาพดี มีหลักประกัน และความมั่นคงในชีวิต รวมถึงมีส่วนร่วม และมีคุณค่าทางสังคม นำไปสู่การเป็นผู้สูงอายุที่ยังคุณประโยชน์ มีความมั่นคงทาง
รายได้ แก้ปัญหาภาวะขาดแคลนแรงงานของประเทศ และลดภาระพึ่งพิงสวัสดิการจากรัฐได้ จึงเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะประเด็นด้านสุขภาพ ซึ่งเป็นคุณภาพชีวิตขั้นพื้นฐานที่สามารถสร้างได้ทุกกลุ่มวัย ก่อนเข้าสู่วัยผู้สูงอายุ

Advertisement

“สมองเสื่อม” เป็นกลุ่มอาการที่สมรรถภาพของสมองบกพร่องลงจากเดิมทำให้ไม่สามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติ ทั้งในด้านอาชีพ การงาน การเข้าสังคม จนกระทั่งเมื่ออาการมากขึ้น จะไม่สามารถอยู่คนเดียวได้อย่างปลอดภัย เพราะภาวะสมองเสื่อมมักจะมีอาการความจำสั้นกว่าปกติ อารมณ์แปรปรวนหรือมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปจากเดิม

ประเทศไทยมีผู้ป่วยสมองเสื่อมจำนวนประมาณ 600,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุจากรายงานวิจัยของกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ปี 2562 พบว่าผลของการคัดกรองสมรรถภาพสมองผู้สูงอายุทั่วประเทศ ที่มีอายุมากขึ้นจะมีโอกาสสมองเสื่อมเพิ่มมากขึ้น โดยในผู้สูงอายุ 60-64 ปี พบผู้ป่วยสมองเสื่อมร้อยละ 1 ในผู้สูงอายุ 65-69 ปี พบร้อยละ 2 ในผู้สูงอายุ 70-74 ปี พบร้อยละ 4 ในผู้สูงอายุ 75-79 ปี พบร้อยละ 8 ในผู้สูงอายุ 80-85 ปี พบผู้ป่วยสมองเสื่อมร้อยละ 16 และในผู้สูงอายุ 86 ปี ขึ้นไป พบผู้ป่วยสมองเสื่อมสูงถึงร้อยละ 32 และในอนาคตยังมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคสมองเสื่อมเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น การสร้างพฤติกรรมสุขภาพที่ดี ปรับการใช้ชีวิตเพื่อช่วยชะลอการเกิดภาวะสมองเสื่อม จึงมีความจำเป็น

ควบคุมน้ำหนัก โดยการออกกำลังกายสม่ำเสมอ สัปดาห์ละ 3-5 วัน เพื่อไม่ให้เกิดโรคอ้วน เพราะโรคอ้วนเป็นสาเหตุของโรคร้ายต่างๆ ที่จะตามมา เช่น เบาหวาน ความดัน หัวใจมาสู่ร่างกายแล้ว ยังเพิ่มความเสี่ยงสมองเสื่อมได้ด้วย

Advertisement

กินอาหารต้านอนุมูลอิสระ อาหารบำรุงสมอง เช่น อาหารที่มีโอเมก้า 3 โปรตีนและอาหารคาร์โบไฮเดรตไม่ขัดสี เพื่อเป็นตัวช่วยในการต้านสมองเสื่อม และหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ที่จะทำให้เกิดอันตรายต่อสมอง

ออกกำลังสมอง เพื่อช่วยกระตุ้นให้เซลล์สมองทำงาน และเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ได้ เช่น คิดคำนวณอ่านหนังสือกลับด้าน เป็นต้น

ป้องกันอันตรายต่อสมอง ระมัดระวังป้องกันไม่ได้เกิดอุบัติเหตุกับศีรษะ เช่น ระมัดระวังการหกล้ม เพื่อไม่ให้กระทบกระเทือนต่อสมอง

สร้างปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง คุยเล่นกับเพื่อนบ่อยๆ เช่น รวมกลุ่มออกกำลัง ทำกิจกรรมที่มีประโยชน์และผ่อนคลาย เพื่อให้สมองมีการฝึกคิด ฝึกการเรียบเรียงข้อมูลในการแสดงออกต่างๆ

ฝึกสมาธิ ช่วยให้สมองผ่อนคลาย ลดความเครียด ด้วยการมองโลกในแง่บวก สร้างสุขภาพกายและสุขภาพใจที่ดี

นอกจากนี้ ความรักและความใส่ใจจากลูกหลาน ในการช่วยดูแลและชักชวนให้ผู้สูงอายุในครอบครัวปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตตามวิธีการข้างต้น เพื่อเป็นอีกหนึ่งแนวทางในการลดความเสี่ยงต่อภาวะสมองเสื่อม จะช่วยให้ผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุที่เรารักสามารถจดจำเราได้นานยิ่งขึ้น และมีกำลังใจในการดำเนินชีวิตต่อไปได้อย่างมีความสุข และมีคุณภาพชีวิตที่ดีไงเล่าครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image