ดุลยภาพ ดุลยพินิจ : ญี่ปุ่น-ชาติชนชรา(1)

คําว่า ญี่ปุ่น-ชาติชนชรา นี้ ผู้เขียนแปลเอาเองจากคำว่า “a nation of old people” จากบทความชื่อ “Japan confronts a stark reality: a nation of old people” ในนิตยสาร National Geographic (ก.พ.2566) ซึ่งคำนี้ไม่ได้มีความหมายในทางลบแต่ประการใด จากชื่อเรื่องน่าจะแปลว่า “ญี่ปุ่นเผชิญของจริงที่แห้งแล้งกับชาติหรือประเทศหนึ่งที่มีแต่คนแก่” National Geographic คงมองแง่บวกและต้องการสื่อให้เห็นวิธีที่ญี่ปุ่นกำลังปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตให้ทันกับประชากรสูงอายุที่เพิ่มขึ้น ตั้งแต่พื้นที่สาธารณะจนถึงนโยบายทางสังคม

ชาติชนชราและภาระการดูแลผู้สูงอายุ

ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีโครงสร้างประชากรแก่ที่สุดในโลกในปัจจุบันด้วยสัดส่วนของประชากรอายุ 65 ขึ้นไปร้อยละ 30 ของประชากรทั้งหมด (ตามด้วย อิตาลี ฟินแลนด์ ปัวโตริโก และโปรตุเกส ตามลำดับ) การที่ประชากร 1 ใน 3 หรือ 37 ล้านคนจากประชากร 123 ล้านคนอายุ 65 ปีขึ้นไป เรียกว่าหันไปทางไหนก็เจอแต่ผู้สูงอายุ ในปี 2565 ญี่ปุ่นมีคนที่อายุ 100 ปี ขึ้นไป 9.5 หมื่นคน (ชาย 1 หมื่นเศษ หญิง 8 หมื่นเศษ)

สัดส่วนและจำนวนผู้สูงอายุที่สูงขึ้นขณะที่คนหนุ่มสาวลดลงทำให้ชีวิตทุกด้านของคนญี่ปุ่นเปลี่ยนไป จากสิ่งที่เห็นทางกายภาพไปจนถึงนโยบายทางสังคม กลยุทธ์ทางธุรกิจไปถึงตลาดแรงงาน จากพื้นที่สาธารณะไปถึงบ้าน ญี่ปุ่นกำลังกลายเป็นชาติที่มุ่งมั่นออกแบบสังคมและชุมชนเพื่อผู้สูงอายุและถูกครอบงำโดยผู้สูงอายุ เวลาฟังข่าวตอนกลางคืนจะมีแต่ข่าว “สังคมผู้สูงอายุ” เป็นปกติเหมือนรายงานพยากรณ์อากาศ คนรุ่นหนุ่มสาวที่ต้องดูแลผู้สูงอายุต้องการความสนับสนุน ขณะที่ผู้สูงอายุมีอยู่ทุกหนแห่งในญี่ปุ่น มีผู้สูงอายุขับรถไถลขึ้นชนคนบนฟุตปาธ ขนาดสมาชิกยากูซ่าตอนนี้อายุเฉลี่ยเกิน 50 ปี ตามม้านั่งในชานชาลาสถานีรถไฟบางแห่งจะมีที่สำหรับผู้สูงอายุแขวนไม้เท้า มี “บ้านร้าง” (ghost houses) ที่ถูกทิ้งไว้รกร้างปกคลุมด้วยไม้เลื้อยทั้งในหมู่บ้านและในเมือง

Advertisement

สถานการณ์ชาติชนชราในญี่ปุ่นน่าจะเป็นสิ่งบอกเหตุว่าอะไรกำลังจะเกิดขึ้นในหลายประเทศที่เป็นสังคมสูงวัยทั่วโลก ทั้งจีน เกาหลีใต้ อิตาลี เยอรมนี แม้กระทั่งประเทศไทย หรือสหรัฐอเมริกา เพราะโลกได้มาถึงจุดที่จำนวนผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไปมากกว่าเด็กอายุ 5 ขวบหรือต่ำกว่าตั้งแต่เมื่อ 5 ปีที่แล้ว

ถ้าดูจากประสบการณ์ของญี่ปุ่น สังคมสูงวัยจะเปลี่ยนโครงสร้างของสังคมทั้งที่เห็นได้ชัดและที่เข้าใจยาก รัฐบาลต้องต่อสู้กับรายจ่ายที่เพิ่มสูงขึ้นมหาศาล (มีการปรับนโยบายและมาตรการดูแลผู้สูงอายุโดยตั้งแต่ 2538 ญี่ปุ่นปรับเปลี่ยนจากระบบที่เคยให้ผู้ป่วย (ติดเตียง) จำนวนมากในโรงพยาบาลเป็นการให้บริการโดยชุมชน มีการใช้มาตรการภาครัฐในการปฏิรูปการดูแลผู้สูงอายุระยะยาว ซึ่งผู้เขียนเคยอธิบายไปแล้วในมติชนเมื่อ 24 กรกฎาคม 2558) การเผชิญกับความท้าทายดังกล่าวไม่ใช่เรื่องง่าย แต่อนาคตก็ไม่ได้มีแต่ทางตัน ประสบการณ์ของญี่ปุ่นที่เอาใจใส่ในรายละเอียดและการออกแบบเพื่อสังคมสูงวัยชี้ให้เห็นว่าสังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์จะนำไปสู่ยุคของนวัตกรรมเพื่อผู้สูงอายุ

ในปี 2563 กระทรวงสาธารณสุขญี่ปุ่นเปิดโครงการ “Living labs (แล็บที่มีชีวิต)” 8 แห่ง เพื่อพัฒนาหุ่นยนต์พยาบาล ขณะที่ในวงการธุรกิจ วิชาการและชุมชนทั่วญี่ปุ่นกำลังมีการค้นคว้าทดลองเพื่อช่วยให้ผู้สูงอายุมีพลานามัยสมบูรณ์นานเท่าที่จะทำได้โดยลดภาระการดูแลสังคมที่เปราะบาง (*แนวคิดการวิจัย Living Labs มุ่งสร้างองค์ความรู้ร่วมกับภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในสภาพแวดล้อมที่นวัตกรรมแบบเปิดที่สามารถหมุนเวียนได้อย่างอิสระ (open-innovation ecosystem) ในปี 2549 สหภาพยุโรปเริ่มแนวคิด Living Labs เป็นตัวเชื่อมต่อระหว่างการวิจัยนวัตกรรมและการนำเอานวัตกรรมดังกล่าวมาใช้จริง แนวคิดดังกล่าวรวมเอามิติสังคมเข้ากับมิติเทคโนโลยี)

Advertisement

ขณะเดียวกันสำหรับผู้สูงอายุชายขอบก็ยังมีแพทย์จิตอาสาเช่น นายแพทย์โอซามุ ยามานากะ อายุ 67 ปี ผู้ทุ่มเทเสียสละเพื่อป้องกันการตายอย่างเดียวดาย (lonely deaths) ของผู้สูงอายุ และเป็นผู้ก่อตั้งสมาคมการเสียชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรีแห่งญี่ปุ่น (Japan Society for Dying with Dignity) เขาออกเยี่ยมผู้สูงอายุตามชุมชนผู้ยากจนเพื่อพยายามป้องกันการเสียชีวิตอย่างเดียวดายโดยจะใช้เวลาสัปดาห์ละหลายครั้งออกจากคลินิกส่วนตัวไปดูแลผู้สูงอายุที่อยู่ตามลำพังตามที่พักโทรมๆ ในโกโตบูกิ ซึ่งเป็นสลัมของคนงานก่อสร้างในสมัยที่การก่อสร้างบูมหลังสงครามโลกครั้งที่สองและปัจจุบันเป็นที่พักของผู้สูงอายุยากจนที่อาศัยเงินสวัสดิการเพื่อยังชีพหรือคนไร้บ้านที่หลีกหนีสังคมด้วยเหตุผลบางประการ เช่น ติดเหล้า ป่วยทางจิต หรือเคยเป็นอาชญากร

หนึ่งในคนไข้ของหมอโอซามุ คือ เซจิ ยามาซากิ อายุ 83 อดีตคนงานก่อสร้าง หมอโอซามุชอบขึ้นไปเยี่ยมเซจิโดยขึ้นทางบันไดถึง 7 ชั้นแทนที่จะขึ้นลิฟต์ ในมือจะหิ้วกระเป๋าเก่าๆ ใส่เครื่องมือแพทย์และร่วมยา คนไข้จะนอนอยู่ในเปลพยาบาล กำมือข้างหนึ่งแน่น ในห้องแคบๆ นอกจากเปลจะมีตู้เย็นเล็กๆ เตาไมโครเวฟ มีตุ๊กตาหมีพู 2-3 ตัว และของอื่นอีกนิดหน่อย หมอก็จะตรวจอาการและตรวจสมุดเยี่ยมซึ่งนอกจากหมอแล้วจะมีผู้ช่วยพยาบาลขึ้นมาทุกวันเพื่อเอาอาหารมาส่ง ให้กินยา และเปลี่ยนผ้าอ้อม

ระบบประกันการดูแลระยะยาวของญี่ปุ่นนับได้ว่าใจดีที่สุดในโลกซึ่งกรณีของเซจิก็ได้รับการดูแลครบถ้วน เมื่อเทียบกับประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ คนญี่ปุ่นได้รับสวัสดิการมากกว่าที่ตนจ่ายภาษีและเงินสมทบ ระบบประกันสุขภาพจะจ่ายเงินอุดหนุนร้อยละ 70-100 ของค่าดูแลรักษาผู้สูงอายุขึ้นกับระดับรายได้ของผู้ประกันตน ซึ่งก่อนปี 2543 ผู้ป่วยสูงอายุจะถูกส่งเข้าโรงพยาบาลจนกระทั่งเสียชีวิต ปัจจุบันผู้ป่วยสูงอายุจะตายอยู่กับบ้าน ซึ่งหมอโอซามุมองว่าญี่ปุ่นเป็นประเทศสังคมนิยมที่ก้าวหน้าที่สุดในด้านของสวัสดิการด้านสุขภาพ

แต่ระบบดังกล่าวก็กำลังจะเอาไม่อยู่ เพราะขณะนี้ญี่ปุ่นกำลังขาดผู้ดูแลผู้สูงอายุซึ่งรัฐประมาณว่าจะมีความต้องการผู้ดูแลผู้สูงอายุ 7 แสนคนในปี 2583 หรือ อีก 17 ปีข้างหน้า วิธีการแก้ปัญหาที่รัฐพูดถึงรวมทั้งการขึ้นเงินเดือน การรับสมัครผู้เกษียณและอาสาสมัคร การส่งเสริมอาชีพพยาบาล การใช้หุ่นยนต์ และวิธีสุดท้ายคือการพึ่งแรงงานต่างด้าวซึ่งปัจจุบันใช้แรงงานจากเวียดนามและฟิลิปปินส์แต่ก็ยังมีปัญหาการจำกัดจำนวน การที่คนญี่ปุ่นไม่ค่อยรับคนแปลกหน้า (โดยเฉพาะแรงงานต่างด้าว) และความยากของภาษาญี่ปุ่นทำให้เป็นเรื่องยากที่จะใช้แรงงานต่างด้าวดูแลผู้สูงอายุ

ขณะเดียวกัน ค่าใช้จ่ายของสวัสดิการผู้สูงอายุก็กำลังพุ่งขึ้น ทั้งด้านสาธารณสุข การดูแลระยะยาว และบำนาญ ค่าใช้จ่ายประกันสังคมซึ่งมาจากหนี้สาธารณะของภาครัฐเพิ่มขึ้น 3 เท่าช่วง 2533-2565 “ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ใช้อยู่มีข้อดีหลายประการและประชาชนก็คุ้นเคย” นายฮิโรทากะ อูนามิ ที่ปรึกษาอาวุโสของนายกรัฐมนตรี ฟูมิโอ คิชิดา กล่าว “ในการรักษาระบบไว้เราต้องรักษาสมดุลระหว่างสวัสดิการกับภาระค่าใช้จ่าย ไม่เช่นนั้นก็อยู่ไม่ได้”

นายอูนามิกล่าวว่า สิ่งที่ญี่ปุ่นต้องทำมี 4 ประการ คือ เร่งการเติบโตของเศรษฐกิจ ส่งเสริม/จูงใจให้ผู้หญิงและผู้สูงอายุทำงาน ขึ้นภาษีผู้บริโภค และลดค่าใช้จ่ายด้านประกันสังคม โดยเป้าหมายคือให้ผู้สูงอายุจ่ายให้สังคมมากขึ้นกว่ารับ (ผลประโยชน์) ทั้งหมดนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย การเร่งการเติบโตทางเศรษฐกิจไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ตามใจชอบ การเพิ่มภาษีไม่มีใครชอบ ญี่ปุ่นเคยใช้เวลา 5 ปี กว่าจะเพิ่มภาษีผู้บริโภคจากร้อยละ 8 เป็นร้อยละ 10 ส่วนการส่งเสริมการทำงานของผู้หญิงและผู้สูงอายุนั้น ปัจจุบันประมาณร้อยละ 70 ของผู้หญิงญี่ปุ่นอายุ 64 ปี หรือน้อยกว่าก็ทำงานกันอยู่แล้ว ส่วนใหญ่เป็นงานพาร์ตไทม์เนื่องจากภาระการดูแลบุตรและค่าตอบแทนที่ไม่จูงใจและต่ำกว่าผู้ชาย ปัจจุบันรัฐบาลกำลังขยายอายุเกษียณภาคเอกชนเป็น 70 ปี (กฎหมายเสถียรภาพการจ้างงานผู้สูงอายุ 2514 ฉบับแก้ไข 2564) และคนญี่ปุ่นก็ทำงานนานขึ้นแล้ว ในปี 2564 บริษัทญี่ปุ่นกว่า 1 ใน 3 อนุญาตให้พนักงานทำงานได้จนถึงอายุ 70 (เทียบกับร้อยละ 21 ในปี 2559) จากการคาดการณ์ญี่ปุ่นจะมีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปถึงร้อยละ 38 ในปี 2593 ซึ่งจะกดดันแรงงานที่จะต้องดูแลสนับสนุนผู้สูงอายุยิ่งขึ้น

“ผมไม่คิดว่าเรามีคำตอบที่ดี” นายซากิริ คิตาโอ นักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยโตเกียวให้ความเห็น “ผมว่ามันช้าเกินไป นักการเมืองไม่ชอบพูดถึงการลดสิทธิประโยชน์”

(ยังมีต่อ 21 กรกฎาคม 2566 ครับ ว่าด้วย บทบาทของชุมชนและนวัตกรรมในการดูแลผู้สูงอายุ)

สราวุธ ไพฑูรย์พงษ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image