สกู๊ปหน้า 1 : ส่องกฎตั้ง ‘บิ๊กสีกากี’ ความหวัง ตร. ไร้เส้น

การแต่งตั้งโยกย้ายนายตำรวจปีนี้

ดูเหมือนแวดวงสีกากีจะมีความมั่นใจกว่าที่ผ่านๆ มา หลังมีการประกาศใช้ พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565

เพราะปรากฏสิ่งใหม่เกิดขึ้น

1.กำหนดจำนวนปีในการครองตำแหน่ง เพื่อเลื่อนตำแหน่ง 2.กำหนดกลุ่มสายงานและความชำนาญในการเลื่อนตำแหน่ง ข้าราชการตำรวจไม่มียศ 3.กำหนดสัดส่วนกลุ่มพิจารณาเรียงอาวุโส 4.คณะกรรมการพิจารณาแต่งตั้ง และกระจายอำนาจการแต่งตั้ง 5.จัดระดับสถานีตำรวจ และเกณฑ์การเลื่อน ผกก.สถานีตำรวจครั้งแรก และ 6.เพิ่มตำแหน่งควบในกลุ่มสายงานสืบสวนสอบสวน

Advertisement

เมื่อพลิกไปที่ มาตรา 178 ที่กำหนดเรื่องแต่งตั้งใช้หลักเกณฑ์เดิมไปอีก 180 วัน (6 เดือน) นับตั้งแต่กฎหมายมีผลบังคับใช้วันที่ 17 ตุลาคม 2565 หลังจากนั้นต้องออกกฎ ก.ตร.ว่าด้วยการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจใหม่

แต่เนื่องจากไม่สามารถพิจารณาได้ทันตามกำหนด จึงเป็นไปตามมาตรา 179 วรรค 2 ระบุว่า ในกรณีที่ไม่อาจนำหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขมาใช้บังคับได้ตามวรรคหนึ่ง การจะดำเนินการประการใดให้เป็นไปตามที่ ก.ตร.กำหนด ซึ่งต้องไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัตินี้

ปรากฏว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ยกร่าง “ข้อกำหนด ก.ตร. ว่าด้วยการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ วาระประจำปี 2566” แล้วนำเสนอให้อนุกรรมการข้าราชการตำรวจเกี่ยวกับบริหารทรัพยากรบุคคล หรือ “อ.ก.ตร.เกี่ยวกับการบริหารทรัพยากรบุคคล” ที่มี พล.ต.อ.มนู เมฆหมอก ก.ตร.ผู้ทรงวุฒิ เป็นประธาน พิจารณาแล้วส่งให้อนุกรรมการข้าราชการตำรวจเกี่ยวกับกฎหมายและระเบียบ หรือ “อ.ก.ตร.เกี่ยวกับกฎหมายและระเบียบ” ที่มี พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ ก.ตร.ผู้ทรงวุฒิ เป็นประธาน ได้ประเดิมประชุม 9 ชั่วโมงรวด เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน และประชุมอีกครั้ง วันที่ 26 มิถุนายน เป็นเวลา 6 ชั่วโมง จนมีมติเอกฉันท์ ปรับเพิ่มเติมแก้ไข โดยมีกรอบแนวทางพิจารณา ดังนี้

Advertisement

1.พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติฉบับใหม่ มีเจตนารมณ์ให้ความสำคัญ การบริหารงานบุคคลเป็นไปตามระบบคุณธรรม ไม่ให้ผู้ใดใช้อำนาจโดยมิชอบ ครอบงำ หากฝ่าฝืนมีคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ (ก.พ.ค.ตร.) อีก มีบทบัญญัติให้ลงโทษอาญา

2.ต้องคุ้มครองตำรวจให้ได้รับความเป็นธรรม ผู้บังคับบัญชาใช้ดุลพินิจอย่างเป็นธรรม และองค์กรเกิดประโยชน์สูงสุด

3.การแต่งตั้งเลื่อนขึ้นและโยกย้าย เอากรณีที่เกิดขึ้นกับศาลปกครองมีคำพิพากษาตัดสิน การร้องทุกข์ฟังขึ้น มาพิจารณากำหนดไม่ให้เกิดขึ้นอีก

นั่นคือ กรณี พล.ต.ท.วันไชย เอกพรพิชญ์ จเรตำรวจ ที่เคยฟ้องศาลปกครอง ขณะดำรงตำแหน่ง รอง ผบช.ภ.8 ว่าการแต่งตั้งโยกย้ายนายพลตำรวจวาระประจำปี 2565 เป็นการโยกย้ายมิชอบ แล้วศาลได้เพิกถอนประกาศคำสั่งดังกล่าว

ในส่วนการแต่งตั้งเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้น ยึด 1.หลักกฎหมาย ต้องเลื่อนขึ้นในหน่วย 2.พิจารณา อาวุโส ความรู้ ความสามารถ ประกอบกัน (ตามสัดส่วนแต่ละลำดับชั้น ชั้นนายพลอาวุโสเรียงตามลำดับ และสัดส่วน 50% นายพัน 33%) 3.บัญชีผู้เหมาะสมสมควรเลื่อนขึ้น ในกลุ่มนายพล 50% นายพัน 67% ต้องพิจารณาอาวุโสด้วย

การย้ายสับเปลี่ยน หมุนเวียน 1.หลักกฎหมาย กรณีย้ายนอกหน่วย ต้องสมัครใจเท่านั้น 2.กรณีสมัครใจก็ต้องจับคู่ย้าย เพื่อไม่ให้หน่วยเสียตำแหน่ง หรือไปเอาอาวุโส อาจเกิดการร้องทุกข์ได้

ตั้งแต่ ปี 2561 กฎ ก.ตร.กำหนดให้ตำรวจสามารถย้ายข้ามหน่วยไปได้ทุกที่ ผู้บังคับบัญชาใช้ดุลพินิจไม่เป็นธรรม ตำรวจลาออก ตำรวจเสียชีวิต ร้องทุกข์ก็ไม่ได้ ตำรวจเดือดร้อน ครอบครัวแตกแยก ย้ายข้ามหน่วยไปทำงานไม่ได้ ทำให้ราชการเสียหาย

ทั้งนี้ “อ.ก.ตร.เกี่ยวกับกฎหมายและระเบียบ” เสนอให้ ผบ.ตร.ตั้ง รอง ผบ.ตร.(ฝ่ายบริหาร) และคณะกรรมการ พิจารณาคำร้องตำรวจตั้งแต่รอง ผบก.ลงมา ทุกหน่วยทั่วประเทศ หากถูกย้ายข้ามหน่วย เลื่อนขั้นข้ามหน่วยโดยไม่สมัครใจ ขอกลับต้นสังกัดหรือภูมิลำเนา เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน และเป็นประโยชน์ต่อทางราชการ ภายใต้หลักเกณฑ์ไม่กระทบตำแหน่งว่างหรือไปเอาอาวุโสในแต่ละหน่วย แล้วแจ้งให้ผู้มีอำนาจแต่งตั้งดำเนินการต่อไป

ต่อมา “อ.ก.ตร.เกี่ยวกับกฎหมายและระเบียบ” ได้ส่งให้ “อ.ก.ตร.เกี่ยวกับการบริหารทรัพยากรบุคคล” เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน แล้วนำเข้า ก.ตร.พิจารณา วันที่ 28 มิถุนายน ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธาน ก.ตร.ทำหน้าที่นั่งหัวโต๊ะ

ปรากฏว่า ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิ 3 คน คือ พล.ต.อ.วินัย ทองสอง อดีตรอง ผบ.ตร., รศ.ประทิต สันติประภพ อดีตรองอธิการบดีฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ และ ศ.ศุภชัย ยาวะประภาษ นายกสภาการศึกษาโรงเรียนนายร้อยตำรวจ เห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญ ขอให้เลื่อนการพิจารณาออกไป เพื่อจะศึกษาเอกสารให้รอบคอบ

ก.ตร.จึงเลื่อนการประชุมเป็นวันที่ 6 กรกฎาคม เวลา 10.00 น. โดย พล.อ.ประยุทธ์มอบให้ ผบ.ตร.เป็นประธานในที่ประชุมแทน

ฟันธงได้เลยว่าประเด็นที่ประชุม ก.ตร.ครั้งหน้าจะต้องถกเถียงใน “ร่างข้อกำหนด ก.ตร.ว่าด้วยการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ วาระประจำปี 2566” ให้ได้ข้อยุติ

คือ การให้ความเป็นธรรมกับตำรวจ อาจจะเป็นการจำกัดอำนาจในการใช้ดุลพินิจของ

ผู้บังคับบัญชาในการพิจารณาแต่งตั้ง 1.การให้ย้ายข้ามหน่วยด้วยความสมัครใจ ต้องทำได้เฉพาะกรณีจับคู่ย้ายเท่านั้น

2.การพิจารณาเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้นในบัญชีส่วนของผู้มีความรู้ ความสามารถเหมาะสม ต้องพิจารณาอาวุโสด้วย

3.การที่ให้ ผบ.ตร.ตั้งกรรมการเพื่อเยียวยา กรณีถูกย้ายข้ามหน่วยโดยไม่สมัครใจ หรือเลื่อนสูงขึ้นข้ามหน่วยโดยไม่สมัครใจ ให้ยื่นคำร้องย้ายกลับหน่วยหรือภูมิลำเนาได้ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน

ขณะที่ นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อและโฆษกพรรคก้าวไกล (ก.ก.) มองว่า กรณีจะมีการแก้ไขกฎหมายคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ซึ่งเป็นบทเฉพาะกาล โดยจะมีผลบังคับใช้ในช่วงเดือนกันยายน ก่อนที่จะมีการแก้ไขกฎ ก.ตร.อีกครั้งเพื่อบังคับใช้ในปี 2567 นั้น

ประการแรก พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ออกมาค่อนข้างนาน เดิมทีคิดว่ากฎ ก.ตร.น่าจะมีการเขียนความพร้อมเอาไว้ เพื่อทำให้การบังคับใช้ตาม พ.ร.บ.เป็นไปโดยเรียบร้อย แต่สุดท้ายอย่างที่เราเห็น ก็น่าคิดว่าระยะเวลาที่ผ่านมา ผู้เกี่ยวข้องทำอะไรกันอยู่

ประการที่ 2 กฎ ก.ตร.สามารถแก้ไขปัญหาตั๋วช้างได้หรือไม่นั้น การแก้ไขกฎ ก.ตร.ให้เป็นบทเฉพาะกาล ต้องบอกตรงๆ ว่าเป็นเรื่องท้าทาย ความท้าทาย ประการสำคัญคือ หากมีการซื้อขายตำแหน่งเกิดขึ้น โดยมีการควบคุมในเรื่องการซื้อขายตำแหน่ง ต้องยอมรับว่าเรื่องเหล่านี้เป็นต้นตอสำคัญของบรรดาตั๋วช้าง หากไม่มีการดำเนินการจัดการกฎเกณฑ์ในการป้องกัน ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการจัดการคนที่อาจจะเกี่ยวข้องในการซื้อขายตำแหน่งเหล่านี้ แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะสามารถแก้ไขปัญหาตั๋วช้างได้

ในทางกลับกันการดำเนินการในเรื่องของกฎ ก.ตร.ชั่วคราวเช่นนี้ คิดว่าเต็มที่ที่เราจะพอคาดหวังได้ คืออาจมีการแต่งตั้งโยกย้ายเพื่อให้เกิดความราบรื่นเท่านั้นเอง ทั้งนี้ ก็น่าคิดเหมือนกันว่า จริงๆ แล้วเรากำลังจะเข้าสู่กระบวนการที่จะมีการเลือกนายกรัฐมนตรี ไม่แน่ใจว่าเราควรจะรอรัฐบาลใหม่หรือไม่

แต่เบื้องต้น การเร่งดำเนินการในการโยกย้ายตำแหน่งต่างๆ เป็นกังวลว่าสุดท้ายแล้วอาจจะไม่ได้สอดคล้องกับบริบทในปัจจุบันที่เปลี่ยนไปที่มีการเลือกตั้งเสร็จสิ้น และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กำลังนับถอยหลังลงจากการเป็นนายกรัฐมนตรี

อย่างไรก็ตาม ต้องติดตามกันว่า ก.ตร.จะพิจารณา “ร่างข้อกฎหมาย ก.ตร.” ออกมาอย่างไร สร้างหลักประกันให้ความเป็นธรรม ส่งเสริมตำรวจให้มีขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อประชาชน

หรือ เพื่อใคร!?

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image