ทริปแรกของ‘หลี่ เฉียง’นายกรัฐมนตรีจีน

ทริปแรกของ‘หลี่ เฉียง’นายกรัฐมนตรีจีน ท่ามกลางกระแสรณรงค์การลดความเสี่ยง

ท่ามกลางกระแสรณรงค์การลดความเสี่ยง เกี่ยวกับอุปทานห่วงโซ่การผลิตกับจีน นายกรัฐมนตรีหลี่ เฉียง เดินสายยุโรป เป็นการเดินทางเยือนต่างประเทศครั้งแรก หลังจากขึ้นรับตำแหน่ง ทั้งนี้ มุ่งเน้นเรื่องการค้าและเศรษฐกิจ โดยได้พบปะนักธุรกิจเยอรมนีและฝรั่งเศส แต่ประเด็นการปรึกษาหารือก็ยังไม่พ้นเรื่องการเมืองอันแฝงอยู่เบื้องหลัง จึงได้วิพากษ์วลีที่กำลังแพร่หลายในยุโรปคือ “ลดความเสี่ยง” (De-risk) นั้น โดยกล่าวว่า

“ไม่ร่วมมือคือความเสี่ยงสูงสุด ไม่พัฒนาคือความไม่ปลอดภัยสูงสุด” และยืนยันว่า การลดความเสี่ยงทางเศรษฐกิจย่อมขึ้นอยู่กับดุลพินิจของเจ้าของธุรกิจ มิใช่หน้าที่ของรัฐบาล”

แต่ชื่นชมฝรั่งเศสว่า “เป็นประเทศใหญ่ที่ประชาชนมีอิสรภาพในการตัดสินใจ สรรเสริญการจัดประชุมสุดยอดเกี่ยวกับข้อตกลงการเงินระหว่างประเทศ เป็นการธำรงไว้ซึ่งห่วงโซ่การผลิตและอุปทานให้มีเสถียรภาพ อันเป็นการขยายขอบเขตการส่งออกสินค้าของจีนอีกโสตหนึ่ง ตลอดจนการสนับสนุนให้เยอรมนีและฝรั่งเศสสงวนจุดต่าง แสวงจุดร่วม เพื่อจรรโลงไว้ซึ่งความสัมพันธ์จีน-ยุโรปให้มั่นคงสถาพรสืบไป”

วลี “ลดความเสี่ยง” (De-risk) เป็นแนวคิดของ แดร์ไลเอิน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป อันหมายถึงย้ายการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงออกจากจีน บัดนี้ ได้กลายเป็นคำแฝงที่ใช้แทนคำว่า “ตัดขาดห่วงโซ่” (Decoupling) อันหมายถึงห่วงโซ่การผลิต ห่วงโซ่อุปทานระหว่างประเทศตะวันตกกับประเทศจีน

Advertisement

พลันที่เดินทางถึงยุโรป คณะกรรมาธิการยุโรปก็ได้ประกาศ “ข้อเสนอการค้าใหม่” เป็นการผลักดันของสหภาพยุโรปเพื่อให้ลดความเสี่ยงกับจีน ในขณะที่เยือนเยอรมนี นายกรัฐมนตรีโอลัฟ ช็อลทซ์ ได้เน้นย้ำว่า เยอรมนีไม่มีเจตนา “ตัดขาดห่วงโซ่” เพียงประสงค์ “ลดความเสี่ยง” เท่านั้น อย่างไรก็ตาม วลี “ลดความเสี่ยง” ได้กลายเป็นกระแสแพร่สะพัดไปทั่วยุโรป กรณีนี้ย่อมเป็นภัยต่อความร่วมมือทางการค้าระหว่างจีน-ยุโรป

บัดนี้ ความเชื่อมั่นทางการค้าของนักธุรกิจจีนและยุโรปได้ลดลงต่ำสุดเป็นประวัติกาล ทั้งนี้ เนื่องจากช่วงเวลาที่โควิดระบาด จีนปิดประเทศ เจือสมกับผลกระทบทางการเมืองอีกด้วย

นายกรัฐมนตรีทั้ง 2 ได้เป็นประธานร่วมในการปรึกษาหารือระหว่างรัฐบาลจีนกับเยอรมนีรอบที่ 7 ด้วย

Advertisement

นอกจากนี้ “หลี่ เฉียง” ยังได้สนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับนักธุรกิจเยอรมนี และร้องขอให้เยอรมนีธำรงไว้ซึ่งตลาดการค้าที่เปิด และเรียกร้องให้คืนสิทธิการตัดสินใจเกี่ยวกับ “ลดความเสี่ยง” แก่นักธุรกิจ

การเรียกร้องให้มีการเปิดตลาดและเคารพการตัดสินใจของนักธุรกิจ เป็นการร้องขอของเยอรมนีที่มีต่อจีนในกาลอดีต บัดนี้ ประเทศจีนกลายเป็นผู้ร้องขอ เพราะว่าสถานการณ์เปลี่ยนไป เวลาก็เปลี่ยนไป

ในการกล่าวสุนทรพจน์ตอนหนึ่ง “หลี่ เฉียง” เล่าว่า “รถยนต์ของเยอรมนีเคยครองตลาดทั่วประเทศจีนมาแล้วในกาลครั้งหนึ่ง รถยนต์ประจำตำแหน่งขณะทำงานอยู่ที่เซี่ยงไฮ้ เป็น Volkswagen ของเยอรมนี ไม่เห็นมีความเสี่ยง ไปตรวจสุขภาพที่โรงพยาบาลด้วย CT และ MRI เป็นอุปกรณ์ของ Siemens ก็ไม่รู้สึกว่ามีความเสี่ยง กลับรู้สึกปลอดภัยดียิ่ง ทั้งหมดนี้ไม่เคยคิดว่ามีความเสี่ยง และประเทศจีนก็ไม่เคยรณรงค์ให้เกิดกระแส ‘ลดความเสี่ยง’ (De-risk) แก่ประเทศใดๆ ในโลกแต่ประการใด”

ส่วนการเยือนฝรั่งเศสประเด็นสำคัญอยู่ที่ประสงค์ผลักดันให้สหภาพยุโรปใช้ “ยุทธศาสตร์เอกราช” เพื่อลดการพึ่งพาสหรัฐ ธำรงไว้ซึ่งความปลอดภัยของห่วงโซ่การผลิตและอุปทานระหว่างจีนกับยุโรป

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์โลกปัจจุบัน ไม่ว่าฝรั่งเศส ไม่ว่าเยอรมนี ย่อมไม่อยู่ในวิสัยที่จะทำการโน้มน้าวผลักดันให้กลุ่มประเทศยุโรปมาต่อต้านประเทศจีนได้ ทั้งนี้ ก็เพราะประเด็นการค้าของจีน กลายเป็น “หินโรยทาง” ธำรงไว้ซึ่งความเสถียรแห่งห่วงโซ่การผลิตและอุปทานระหว่างความสัมพันธ์จีนกับยุโรป

ว่ากันว่า “หลี่ เฉียง” นายกรัฐมนตรีจีน ยังขาดประสบการณ์ด้านเศรษฐกิจ คุณสมบัติไม่เพียงพอนั้นแต่ในความเป็นจริง เปี่ยมด้วยประสบการณ์ด้านบริหาร ก่อนรับตำแหน่ง เป็นนักการเมืองระดับสูงสุดของนครเซี่ยงไฮ้ คือเป็นเลขาธิการพรรคเป็นเวลา 5 ปี

หากย้อนมองอดีต นครเซี่ยงไฮ้เปรียบเสมือน “ตักศิลา” ของนักการเมืองที่จะไต่เต้าขึ้นเป็นผู้นำประเทศ อาทิ นายกรัฐมนตรีจู หรงจี ประธานาธิบดีเจียง เจ๋อหมิน ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เป็นต้น ล้วนดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคเซี่ยงไฮ้มาแล้วทั้งนั้น

จึงไม่แปลกที่ “หลี่ เฉียง” มาเป็นนายกรัฐมนตรี

แม้ยังเป็นมือใหม่ แต่ก็ปฏิเสธมิได้ว่า ทัวร์ยุโรปครั้งนี้ ได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างสมบูรณ์ ส่วนจะได้ผลหรือไม่มากน้อยเพียงใด ย่อมขึ้นอยู่กับสถานการณ์ทางการเมือง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image