แก้เรื่องวัตถุดิบ เท่ากับแก้ต้นทุนเกษตรกรปศุสัตว์

แก้เรื่องวัตถุดิบ เท่ากับแก้ต้นทุนเกษตรกรปศุสัตว์

แก้เรื่องวัตถุดิบ
เท่ากับแก้ต้นทุนเกษตรกรปศุสัตว์

ปัญหาหมูเถื่อนที่เข้ามาแทรกตลาดหมูไทยอย่างหนักในช่วงที่ผ่านมา เป็นเพราะราคาหมูไทยที่แพงขึ้นจากความเสียหายด้วยโรค ASF เป็นช่องว่างให้หมูผิดกฎหมายแทรกตัวเข้าสู่ทุกอนูของวงการค้าหมูในประเทศ ไม่เพียงเท่านั้นต้นทุนการผลิตหมูไทย ที่พุ่งสูงขึ้นมากจากมาตรการป้องกันโรค และราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ ทำให้ความสามารถในการแข่งขันของหมูไทยหมดไป พ่ายแพ้แก่หมูเถื่อนที่ยั่วใจคนซื้อด้วยราคาที่ต่ำกว่ามาก

ฟังอย่างนี้ แล้วคนที่น่าเห็นใจที่สุดก็หนีไม่พ้น “เกษตรกรคนเลี้ยงหมู” ของไทยเรา ที่ลำพังตัวเองคนเดียว ย่อมไม่สามารถสู้รบปรบมือกับมิจฉาชีพและปัญหาต่างๆ ได้เอง ภาครัฐ มีส่วนสำคัญอย่างมากในการคลี่คลายปัญหา และต้องช่วยทำให้เกษตรกรไทยกลับมาแข็งแรง พร้อมผลิตอาหารปลอดภัยให้คนไทย ไม่ต้องแขวนชีวิตและสุขภาพไว้กับหมูเถื่อนที่ไม่ผ่านมาตรฐานความปลอดภัยใดๆ รวมถึงเป็นผู้เถื่อนหมดอายุที่วันนี้ขึ้นราเต็มชิ้นแล้ว ตามที่ปรากฏในข่าว

ภาครัฐที่ต้องช่วยคลี่คลายปัญหา ไม่ใช่มีเพียง กรมปศุสัตว์-กรมศุลกากร-ตำรวจ ที่ต้องร่วมมือกันไล่กวดขัน จับกุม ปราบปราม และป้องกันหมูเถื่อนไม่ให้เข้าประเทศเท่านั้น แต่หน่วยงานรัฐที่ต้องช่วยเหลือเรื่องต้นทุนการผลิตก็มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ ซึ่งเป็นต้นทุนหลักของการเลี้ยงสัตว์ที่มี “กรมการค้าภายใน” เป็นเจ้าภาพสำคัญ

Advertisement

ภายใต้ข้อจำกัดในตลาดโลกที่ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ยังอยู่ในเกณฑ์สูง จากปัญหาสงครามรัสเซีย-ยูเครนซึ่งเป็นวาระแห่งโลก ที่กรมการค้าภายในรับรู้อยู่แก่ใจว่าไม่สามารถไปแก้ปัญหานอกประเทศได้ ทางออกคือต้องทำจากภายในประเทศเราเอง ไม่ว่าจะเป็นการลดภาษีนำเข้า หรือการยกเว้นมาตรการที่เป็นอุปสรรค แต่สิ่งที่เสนอออกมาเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์กลับผิดคาด และดูแปลกไปจากที่ควรจะเป็น

โดยมีข้อเสนอที่จะจับคู่เกษตรกรกับโรงงานอาหารสัตว์ เพื่อจุดประสงค์ให้เกิดการซื้อ-ขายโดยตรง ระหว่างเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์กับโรงงานอาหารสัตว์ พร้อมๆ กับเสนอช่วยเรื่องค่าขนส่ง ภายใต้งบประมาณ 4 ล้านบาท พร้อมงบอีกส่วนหนึ่งในการชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้ 3% ให้เกษตรกรภาคปศุสัตว์ ทั้งหมดนี้น่าจะดำเนินการในเดือนกรกฎาคมนี้

ถามว่าสิ่งเหล่านี้ดีต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์หรือไม่ ก็ต้องตอบว่าดีกว่าไม่ทำอะไร แต่มันไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ต้นเหตุและถูกจำกัดในวงแคบ ทั้งที่กรมการค้าภายในน่าจะเห็นทางออกที่ได้ประโยชน์กับเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ในวงกว้างอยู่แล้ว โดยไม่จำเป็นต้องหางบประมาณมาสนับสนุนด้วยซ้ำ แต่เหตุใดจึงเพิกเฉยกับทางออกนั้น อันนี้ยังเป็นที่กังขาอยู่

Advertisement

ตัวอย่างมาตรการสำคัญที่เหมาะกับสถานการณ์ปัจจุบันและกรมสามารถประกาศใช้ได้ทันที ได้แก่

1.การลดภาษีนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์เป็น 0% ทั้งกากถั่วเหลือง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ข้าวสาลี หรืออื่นๆ
2.ยกเลิกมาตรการข้าวโพด 3 ส่วน : ข้าวสาลี 1 ส่วน ที่เป็นปัญหาดันราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศให้สูงเกินจริงเสมอมา
3.เปิดเสรีนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ โดยไม่จำกัดโควต้าหรือระยะเวลานำเข้า

เพียงแค่ 3 ข้อนี้ก็ช่วยลดต้นทุนการเลี้ยงสัตว์ได้แล้วอย่างรวดเร็วและปรากฏผลในวงกว้าง หากไม่รีบดำเนินการ จะยิ่งทำให้สถานการณ์ต้นทุนการผลิตของเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ย่ำแย่ และส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ไปถึงราคาเนื้อสัตว์ซึ่งเป็นอาหารจำเป็นของประชาชน

ประเด็นสำคัญคือ ทวีปอเมริกาใต้ แหล่งเพาะปลูกธัญพืชสำคัญของโลก กำลังเผชิญกับปรากฏการณ์เอลนิโญ ที่ก่อให้เกิดสภาพอากาศแปรปรวนอย่างหนัก คาดการณ์ผลผลิตได้ว่าไม่มีทางเป็นไปตามปกติหรือเพิ่มขึ้นได้เลย ราคาธัญพืชวัตถุดิบทั้งหลายจะยังคงแพงไปตลอดทั้งปี 2566 ดังนั้น การจะช่วยให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์รอดตาย และกลับมาแข็งแรงพอที่จะผลิตเนื้อสัตว์เพื่อผู้บริโภคต่อไปได้ ก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของกรมการค้าภายในแล้ว

ลักขณา นิราวัลย์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image