สถานีคิดเลขที่ 12 : ข้างน้อยแต่ไม่ยอมน้อย

สถานีคิดเลขที่ 12 : ข้างน้อยแต่ไม่ยอมน้อย ไม่รู้ว่า ยุทธวิธี ยอมงอ “เพื่อ-ก้าว” ไปต่อ

ไม่รู้ว่า ยุทธวิธี ยอมงอ “เพื่อ-ก้าว” ไปต่อ ของ 2 พรรค เพื่อไทยและก้าวไกล โดยให้ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา มาเป็นคนกลางนั่งประธานสภาผู้แทนราษฎร
จะมีอายุเกิน 13 กรกฎาคมนี้หรือไม่
เพราะ ใครๆ ก็ว่า ในวันนั้น ส.ว.และ ส.ส.ขั้วรัฐบาลเดิม จะ “หัก” ไม่ให้ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ขึ้นเป็นนายกฯ
เมื่อ “หัก” นายพิธาแล้ว หลังจากนั้นก็เป็นคิวของเพื่อไทยเสนอบุคคลขึ้นเป็นนายกฯ
ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะราบรื่น หรือสำเร็จหรือไม่
หากไม่สำเร็จ การจับมือ “เพื่อก้าว” ต่อไปของทั้ง 2 พรรค ว่ากันว่าน่าจะมีแนวโน้มสะบั้นลง
และเปิดช่องว่างให้คำว่า “ข้างน้อย” เบียดแทรกเข้ามา

ด้านหนึ่ง “พรรคก้าวไกล” อาจต้องถูกกีดกัน (หรืออาจจะสมัครใจ) ไปเป็น “ข้างน้อย” คือไปเป็นฝ่ายค้าน หรือไม่
ขณะที่อีกด้านหนึ่งเหล่าเสียง “ข้างน้อย” จากการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม ก็คงพยายาม พลิกบทบาทเข้ามา “แทรกแซง” จัดตั้งรัฐบาล แทน 8 พรรค
ซึ่งที่มีการคาดการณ์กันมากก็คือ เหล่าเสียงข้างน้อยจะไปร่วมมือกับพรรคเพื่อไทย สร้างขั้วใหม่จัดตั้งรัฐบาล
โดยมีความเป็นไปได้ 2 ทาง

ทางหนึ่งยังยอมให้เพื่อไทยเป็นแกนจัดตั้งรัฐบาลและให้แคนดิเดตพรรคเพื่อไทยขึ้นเป็นนายกฯ โดยมีพรรคภูมิใจไทย พลังประชารัฐ ประชาธิปัตย์ ชาติไทยพัฒนา และอาจรวมถึงรวมไทยสร้างชาติ เข้าร่วม
อีกทางหนึ่ง อาจจะมี “ดีล” บางอย่าง ที่พรรคเพื่อไทยยอมให้เสียงข้างน้อยขึ้นเป็นนายกฯ
ซึ่งตอนนี้ก็มีความเคลื่อนไหวอย่างที่มีกระแสข่าวออกมาใน 2 ทาง

ทางหนึ่ง ในฝั่งฟาก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ก็ยังเคลื่อนไหวต่อเนื่อง อย่างเช่นการประกาศเดินหน้าทางการเมืองอย่างขึงขังด้วยการดูแลพรรคพลังประชารัฐไปตลอดชีวิต ไม่คิดวางมือง่ายๆ พร้อมจะรองรับ “ส้มหล่น” ในทุกสถานการณ์

Advertisement

อีกทางหนึ่ง ในฝั่งฟาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา การหยั่งเชิงส่งคนชิง รองประธานสภาผู้แทนราษฎร นั้นถูกมองว่าเหมือนต้องการประเมินเสียงในสภาว่าเป็นอย่างไร ยังเหนียวแน่นกับขั้ว พล.อ.ประยุทธ์ ขนาดไหน
ซึ่งการได้เห็นการลงมติของพรรคภูมิใจไทย ที่ “งดออกเสียง” ไม่ได้เทคะแนนให้ นายวิทยา แก้วภราดัย ของพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่อาจสะท้อนการคลายตัวในสัมพันธ์ของขั้วรัฐบาลเดิม
ทำให้ฝั่งขั้ว พล.อ.ประยุทธ์ ต้องประเมินสถานการณ์ใหม่ และอาจต้องเพิ่มแรงในการดำรงความสัมพันธ์เดิมเอาไว้ หากยังหวังที่จะพลิกให้เสียงข้างน้อย ขึ้นกุมการนำ
และตรงนี้กระมังถึงนำไปสู่กระแสข่าวที่ฝ่าย “ขั้วอนุรักษนิยม” นอกสภาเข้ามามีบทบาทเสริมหนุนขั้ว พล.อ.ประยุทธ์ ในการชิงการนำทางการเมืองมากขึ้นเรื่อยๆ ความพยายาม “ไปต่อ” ยังมีอยู่

ทิศทางการเมืองไทย ที่ ดูเหมือน “ฝ่ายข้างน้อย” ยังมีฤทธิ์มีเดช อยู่มากนี้
สะท้อนชัดเจนว่า กลุ่มอำนาจเก่าที่แม้จะพ่ายแพ้ในการเลือกตั้ง โดยประชาชนเสียงส่วนใหญ่ ได้ยืนยันเจตนารมณ์ต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลง
แต่กลุ่มอำนาจเก่าก็มิได้นำพา ตรงกันข้ามกลับยังเดินหน้า รักษาอำนาจของตนเอาไว้ในทุกรูปแบบ
ซึ่งปรากฏการณ์เหล่านี้จะเห็นแจ่มชัดขึ้นในเกมโหวตเลือกนายกฯ
แจ่มชัดว่า เสียงข้างมากจากประชาชน ยังมิอาจสู้หรือต้านทานเสียงข้างน้อย ที่พยายาม “เบ่ง” ตัวเองไม่ให้ “น้อย” ด้วยทุกวิถีทาง!?!

สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image