ว่าด้วยการต้านเสียงข้างมาก

ว่าด้วยการต้านเสียงข้างมาก พูดตรงๆ ว่าสถานการณ์ทางการเมืองในช่วงนี้

พูดตรงๆ ว่าสถานการณ์ทางการเมืองในช่วงนี้ทำให้ผมถอนหายใจอยู่หลายรอบ
แต่อาจจะต่างกับนักนิติศาสตร์ที่หลายท่านผิดหวังกับหลักวิชาและตำรา ถึงกับไม่อยากจะเอาเรื่องที่เกิดขึ้นไปสอนลูกศิษย์ลูกหากันเลยทีเดียว
ในทางรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะรัฐศาสตร์ที่อิงกับการเมืองไทย เราอาจจะต้องมองสิ่งที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะประเด็นการลงคะแนนเสียงเลือกนายกฯในสองรอบนี้และการพยายามจัดตั้งรัฐบาลในรอบนี้ของรัฐสภา
ว่าเป็นส่วนหนึ่งของสายธารของการพยายามอธิบายขบวนการของการต่อต้านเสียงข้างมากในสังคมไทย (counter-majoritarian movements)

ในสังคมตะวันตก การพูดถึงการต่อต้านเสียงข้างมาก เขาก้าวพ้นจากความเข้าใจง่ายๆ ว่าประชาธิปไตยคือดี เผด็จการคือเลว ไปสู่เรื่องของการตั้งคำถามว่าจะทำให้เกิดความมีเหตุมีผลในประชาธิปไตยอย่างไร ไม่ให้ประชาธิปไตยละเมิดหลักการอื่นๆ ที่คงไว้ซึ่งความเป็นมนุษย์ โดยจะรักษาประชาธิปไตยไว้ได้อย่างไร และจะต่อกรกับเสียงข้างมากเพื่อรักษาประชาธิปไตยไว้ได้ด้วย
ตัวอย่างง่ายๆ คือ การตั้งคำถามกับศาลว่ามีอำนาจตัดสินการตัดสินใจของรัฐสภาที่มาจากประชาชนผ่านการเลือกตั้งหรือไม่ อย่างไร
หรือไปถึงคำถามที่ว่า ศาลจะตัดสินใจสร้างความก้าวหน้าทางสังคมโดยการตัดสินคดีความที่ส่งเสริมแนวคิดเสรีนิยม มนุษยนิยม และหลากหลาย ได้มากกว่าความคิดเห็นของคนส่วนใหญ่ในสังคมที่อาจจะยังล้าหลังอยู่ได้ไหม (ที่เรียกกันว่าตุลาการภิวัตน์ในสังคมตะวันตก ทั้ง judicial reviews และ judicial activism)
สรุปว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยอาจจะมีหน้าตาแบบเดียวกับตะวันตก
แต่เนื้อในไม่ใช่แบบนั้น

ถ้ามองระยะยาว กระแสการต่อต้านเสียงข้างมากนั้นมีมาอย่างยาวนานในบ้านเรา ด้วยคำอธิบายและการกระทำหลายรูปแบบ
ผมจะขออภิปรายในเรื่องของประชาธิปไตยทีหลัง เพราะคำว่าประชาธิปไตยมีความหมายที่หลากหลายในระดับหนึ่ง
และในอดีตเองคำบางคำก็ดูจะมาก่อน หรือมีความหมายคาบเกี่ยวกันก็คือคำว่า สาธารณรัฐ เป็นต้น
แถมในประเทศนี้คำว่าประชาธิปไตยก็ถูกฉกฉวย และให้ความหมายใหม่มาโดยตลอด
กลับมาเรื่องของการต่อต้านเสียงข้างมาก ไม่ว่าจะเสียงข้างมากเกินครึ่ง หรือเสียงข้างมากไม่เกินครึ่ง เรื่องนี้มีมานานแล้ว
เรื่องที่ง่ายที่สุดในการต่อต้านเสียงข้างมาก คือ การอธิบายว่าเสียงที่มาจากการเลือกตั้งนั้นไม่มีคุณภาพ
ทั้งจากคนเลือก และผู้สมัคร

ตัวอย่างเช่น ผู้ลงคะแนน และผู้สมัครมาจากชนชาติอื่น เช่น คนจีนสมัยก่อน (คุณสมบัติทางวัฒนธรรม)
หรือเปรียบเปรยกับเรื่องของการไร้คุณสมบัติทางศีลธรรม เช่นถ้าการตัดสินใจเสียงข้างมากมาจากหมู่โจร
ต่อมาก็คือ การมองว่าเสียงข้างมากนั้นไม่มีคุณภาพเพราะไร้คุณสมบัติทางการศึกษา
หรือไร้คุณสมบัติทางเศรษฐกิจ เช่น เพราะจนจึงแลกผลประโยชน์ระยะสั้นกับอนาคตของประเทศ
ในอดีตการมีระบบคัดค้านเสียงข้างมากจึงมีอยู่มากมาย ทั้งสมาชิกสภาประเภทสอง หรือวุฒิสมาชิกที่มาจากการแต่งตั้งของผู้มีอำนาจ
แต่กระนั้นก็ตามในระบบรัฐสภากันเองก็จะใช้วิธีเพิ่มจำนวนเอา ให้เน้นความเป็นเอกฉันท์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ มากกว่า เช่น ผ่านครึ่งหนึ่ง มาสู่สองในสามในการยืนยันเสียงรอบสองอะไรทำนองนี้ถ้าสถาบันที่ช่วยกลั่นกรองนั้นสกัดเอาไว้
รวมทั้งการกำหนดคุณสมบัติของบุคลากรทางการเมืองให้เข้มข้นขึ้น เช่น อายุ และวุฒิการศึกษา เช่น ยุคหนึ่ง ส.ส.ต้องจบปริญญาตรี หรือเป็นรัฐมนตรี และนายกฯต้องอายุ 35 ปีขึ้นไป

Advertisement

ประการต่อมา การต่อต้านเสียงข้างมากเริ่มมาในรูปนอกระบบรัฐสภามากขึ้นคือใช้กระบวนการตุลาการเข้ามาแทรกแซง ซึ่งทำให้เส้นแบ่งระหว่างเรื่องราวที่อยู่ในเขตอำนาจของรัฐสภา กับเขตอำนาจของตุลาการนั้นทับซ้อนกัน โดยตุลาการบางสถาบันสามารถเข้ามาตัดสินขัดกับการตัดสินของรัฐสภาที่อิงจากเสียงข้างมากได้
แต่อย่าลืมว่าในยุคหนึ่งนั้นการยึดโยงกับประชาชนของสถาบันตุลาการยังพอมี เพราะส่วนที่เป็นศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรอิสระอื่นๆ ก็มาจากวุฒิสมาชิกที่มาจากการเลือกตั้ง
องค์กรอิสระเมื่อเข้ามามีส่วนมากขึ้นในการตรวจสอบ จะอ้างว่าสร้างความมีเหตุผลให้กับระบบการเมืองในการตรวจสอบทั้งอำนาจบริหาร และอำนาจนิติบัญญัติ
คงพอรู้มาแล้วว่าเป็นเรื่องของการปฏิรูปการเมืองในปี 2540

อย่างไรก็ดี ยังมีเรื่องที่เรายังไม่ค่อยเห็นชัดมากขึ้นหลังจากระบบการใช้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระในการตรวจสอบและจัดการนักการเมืองและรัฐบาล ทั้งในแง่บริบทที่อำนาจในการกำหนดที่มาและอิทธิพลที่มีต่อสถาบันเหล่านี้ไม่ได้ยึดโยงกับประชาชนในบางช่วงเวลา เช่น รอยต่อของการแต่งตั้งผ่านคณะรัฐประหาร
มาสู่เรื่องของการรื้อระบบการเลือกตั้งครั้งสำคัญเมื่อปี 2562 จากการร่างรัฐธรรมนูญ 2560 ที่พยายามอธิบายระบบใบเดียวเลือกทั้งพรรคและคน โดยเชื่อว่าเป็นระบบที่จะได้มาซึ่งความจริงทางการเมืองมากขึ้น
ในยุคนั้นหมายถึงการทำให้พรรคเพื่อไทย ที่สืบทอดการการดำเนินชีวิตมาจากไทยรักไทย พลังประชาชน มีคะแนนลดลง จากระบบการเลือกตั้งจัดสรรปันส่วนแบบผสม หรือระบบการเลือกตั้งแบบสัดส่วน ที่จะทอนคะแนนของพรรคที่ถูกนับเกิน และช่วยคะแนนเสียงตกน้ำให้ได้ลืมตาอ้าปากบ้าง

เรื่องที่เล่ามานี้หมายถึงว่า การพยายามให้เหตุผลเปลี่ยนจากเรื่องการโจมตี และการกำกับคุณสมบัติของผู้เลือก และของผู้สมัครรับเลือกตั้ง มาสู่เรื่องของการอ้างความเป็นวิทยาศาสตร์ของตัวเลขมากขึ้น ว่า ตัวเลขแค่ไหนจึงจะสะท้อนความเป็นตัวแทนที่แท้จริงของสังคมการเมือง ไม่ใช่ได้คะแนนสูงเกินไปจากความเป็นจริง
ทั้งที่ในหลักคิดเรื่องการนับซ้ำซ้อนในระบบสองใบในปี’40 ซึ่งกลับมาใหม่ในปี’66 วางอยู่บนอีกวิธีคิด คือความเข้มแข็งและเสถียรภาพของรัฐบาล หมายความว่าต่างระบบเลือกตั้งนั้นมีความแตกต่างกันในแง่ของโจทย์ทางการเมือง และแนวคิดเบื้องหลัง

Advertisement

อย่าลืมว่าคนที่ร่างรัฐธรรมนูญ 2560 เป็นคนละชุดกับปี’40 เพราะมาจากคณะรัฐประหารที่มุ่งทำลายระบอบทักษิณเป็นหลักด้วยข้ออ้างมากมาย จนลืมการเกิดมาอย่างคาดไม่ถึงของอนาคตใหม่
และความเชื่อว่า พรรคก้าวไกลน่าจะไม่มีทางได้ที่หนึ่งจากการเปลี่ยนระบบอีกครั้งกลับไปเป็นระบบที่อิงพื้นที่บ้านใหญ่ก็กลับมาอีกครั้งด้วยโจทย์ที่ทำให้พรรคก้าวไกลนั้นไม่น่าจะได้เปรียบในการเลือกตั้งครั้งนี้ตามการคาดฝันของบรรดาคนที่ปรับระบบกลับสู่ระบบเดิม คือระบบสองใบแยกเลือกระหว่างเขตกับบัญชีรายชื่อ ซึ่งทางคนมีอำนาจจากรัฐประหารก็พร้อมจะลงมาเล่นในเกมนี้ด้วย
คำอธิบายเรื่องตัวเลขจึงมีความสำคัญ โดยเฉพาะคำอธิบายเรื่อง 14 ล้านเสียงของชัยชนะจึงถูกมองว่าไม่มีความหมายเท่าที่ฝั่งก้าวไกลนั้นอ้างอิงชัยชนะ เพราะเป็นเพียง 14 ล้านจาก 52 ล้านผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
ไม่นับว่าไม่ใช่เสียงส่วนใหญ่ของประชาชนที่ประเทศเกือบเจ็ดสิบล้านคนเข้าไปแล้ว

ประเด็นนี้ไม่ใช่ว่าไม่จริง และพรรคก้าวไกลในสองเดือนแรกก็เหมือนจะใช้เงื่อนไขของพรรคอันดับหนึ่งที่มาจากการเลือกตั้งผลักดันประเด็นทางการเมืองและการจัดตั้งรัฐบาลอย่างแข็งขัน
แม้ว่าจะมีจุดอ่อนตรงที่ไม่สามารถหาเสียงจากวุฒิสมาชิกให้ไว้วางใจได้ตามกฎกติกาที่มีอยู่
และแน่นอนว่าความเป็นจริงของ 14 ล้านเสียงอาจไม่ถึงครึ่งทั้งในสภาล่าง และในรัฐสภา และเป็นความจริง
แต่สิ่งที่น่าห่วงไม่ใช่การคำนวณตัวเลขอย่างตรงไปตรงมา
หรือการปฏิเสธการโหวตให้พรรคก้าวไกลและพันธมิตร 8 พรรค จากวุฒิสมาชิกและพรรคขั้วตรงข้าม
เท่ากับการเห็นการเคลื่อนตัวทางประวัติศาสตร์ที่องคาพยพทางการเมืองในรัฐสภาทั้งหมดนั้นเริ่มจับตัวกันและพูดคุยกันในช่วงแรกระหว่างพรรคฝ่ายรัฐบาลเก่า และวุฒิสมาชิก ซึ่งทำให้แนวโน้มรัฐบาลเสียงข้างน้อยนั้นเกิดขึ้นได้ทางเทคนิค แม้ว่าจะไม่มีหลักประการเรื่องความยั่งยืนของตัวแบบดังกล่าว

มาสู่เรื่องของการเคลื่อนตัวและการเปิดเผยอย่างตรงไปตรงมาของทัศนคติบางประการของพรรคแนวร่วม 8 พรรคที่เริ่มจะเด่นชัดขึ้นว่าพร้อมจะเคลื่อนไปสู่การเชื่อมโยงและขอคะแนนเสียงจากวุฒิสภา และอดีตพรรคการเมืองที่สนับสนุนระบอบเก่าอย่างเปิดเผยและอาจจะมีส่วนที่ไม่ได้เปิดเผย รวมทั้งการที่เคยเป็นขั้วขัดแย้งทางผลประโยชน์และอุดมการณ์กันมาในสมรภูมิทางการเมืองเดิม

สําหรับผมการเคลื่อนตัวของการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ด้วยเงื่อนไขของการขอเสียงสนับสนุนจากสภาล่างและวุฒิสภาในครั้งนี้เป็นเงื่อนไขที่สำคัญกว่าการอธิบายเรื่องคะแนนเสียงของพรรคก้าวไกลไปแล้ว โดยเฉพาะข้อโจมตีที่ว่าด้วยเรื่องความมุ่งมั่นในการผลักดันการเปลี่ยนแปลงกฎหมายหลายประการ ซึ่งรวมทั้งเรื่อง 112 ซึ่งกลายเป็นเรื่องของการพยายามสร้างฉันทามติใหม่ทางสังคมนอกเหนือจากตัวเลขอย่างเดียว

แต่ต้องไม่ลืมว่าที่ผมอธิบายไปตั้งแต่ต้นนั้น ก็จะเห็นร่องรอยของการต่อต้านเรื่องของเสียงข้างมากมาตั้งแต่แรกในแง่ของตัวเลข และคุณสมบัติของผู้เลือกและผู้สมัครมาโดยตลอด
แต่เรื่องเหล่านี้เริ่มซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ จากยุครัฐประหารกับแบบเถื่อนๆ เปลือยๆ มาสู่การใช้เงื่อนไขจากการเข้ามาพัวพันในปริมณฑลทางนิติบัญญัติโดยฝ่ายตุลาการมากขึ้นเรื่อยๆ
และการต่อต้านเรื่องเสียงข้างมากนั้นก็จะมาเชื่อมกับอีกสายธารความคิดหนึ่งคือการต่อสู้ช่วงชิงความหมายใหม่ของประชาธิปไตย โดยการใส่ความหมายใหม่ๆ ลงไปในประชาธิปไตย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของประชาธิปไตยแบบเชื่อผู้นำ เชื่อคณะนำมาถึงประชาธิปไตยแบบไทยๆ และการเติบโตและเปลี่ยนแปลง การมองและเข้าใจในการธำรงไว้เรื่องระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ซึ่งกลายเป็นหัวใจสำคัญของการถกเถียงในวันนี้อีกครั้งหนึ่ง
ไม่ใช่จากมาตราที่ระบุถึงคำว่า ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
แต่เป็นกฎหมายอาญามาตรา 112 ว่าด้วยการให้คำจำกัดความ กระบวนการดำเนินคดี และบทลงโทษ รวมไปถึงแนวปฏิบัติที่ได้ดำเนินมา

เราจึงเห็นได้ว่าวรรคทองใหม่ของการทำให้บ้านเมืองต้องเดินหน้าสู่ประชาธิปไตยเริ่มถูกใช้ในความหมายที่หลายฝ่ายอาจจะเห็นต่างกันมากขึ้นเรื่อยๆ
เอาเป็นว่าต่อให้เลือกนายกฯได้ในรอบสัปดาห์นี้ มิติเรื่องการต่อต้านเสียงข้างมาก และการสร้างคำนิยามให้กับประชาธิปไตยก็จะกลายเป็นกระบวนการที่จะดำเนินต่อไปเรื่อยๆ ทั้งในรัฐสภา และอาจเกี่ยวพันไปถึงปริมณฑลของตุลาการ และยังไม่รวมปริมณฑลของท้องถนนและโลกออนไลน์
อย่างแน่นอน!!!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image