บทนำ : เศรษฐกิจ-ยถากรรม

บทนำ : เศรษฐกิจ-ยถากรรม

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และโฆษกกระทรวงการคลัง แถลงประมาณการว่าเศรษฐกิจไทยปี 2566 การเติบโตอยู่ที่ 3.5% (ช่วงคาดการณ์ที่ 3.0-4.0%) ลดลงจากการประมาณการเดือนเมษายน 2566 ที่ประมาณไว้ 3.6% หรือปรับลดลง 0.1% และลดลงจากที่ได้ประมาณการณ์ไว้ในเดือนมกราคม 2566 ที่ 3.8% เนื่องจากการคาดการณ์รายได้นักท่องเที่ยวลดลง จากโครงสร้างที่เปลี่ยนไปจากนักท่องเที่ยวชาวจีน เป็นนักท่องเที่ยวมาเลเซียส่วนใหญ่ ทำให้รายได้เฉลี่ยต่อหัวลดลง คาดว่าทั้งปีจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศเดินทางเข้าไทย 29.5 ล้านคน ขยายตัวที่ 164.2% ต่อปี และการบริโภคภาคเอกชนคาดว่าขยายตัวต่อเนื่องที่ 4.5% การลงทุนภาคเอกชน 2.6%

อย่างไรก็ดี การดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ เช่น สหรัฐอเมริกาและกลุ่มสหภาพยุโรป ยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญของไทย จึงคาดว่ามูลค่าส่งออกสินค้าในรูปเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐจะหดตัวที่ -0.8% นอกจากนี้ การบริโภคภาครัฐคาดว่าหดตัวที่ -2.1% ในขณะที่การลงทุนภาครัฐคาดว่าจะขยายตัวเพียง 2.2% ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากกระบวนการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ที่ล่าช้ากว่าปีที่ผ่านมา ทั้งนี้มีปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ต้องติดตามใกล้ชิด อาทิ 1.ความต่อเนื่องในการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวโดยเฉพาะจากประเทศหลัก เช่น จีน มาเลเซีย เกาหลีใต้ อินเดีย และรัสเซีย 2.สถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลก 3.สถานการณ์เศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาและจีน และ 4.ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์โลก

ในการแถลงข่าวครั้งนี้ กระทรวงการคลังมิได้เป็นห่วงการบังคับใช้ พ.ร.บ.งบปี 2567 คาดว่าล่าช้าอย่างมาก6 เดือน มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจปี 2567 ที่ 0.05% ต่อปี สามารถใช้งบไปพลางจากงบรายจ่ายประจำได้ มุมมองของกระทรวงการคลังที่ได้แถลงไปนั้น ถือว่าไม่ต่างกับภาคธุรกิจเอกชนเท่าใดนัก ที่เห็นว่าหากการตั้งรัฐบาลใหม่อยู่ในไทม์ไลน์ภายในเดือนสิงหาคม และการทบทวน พ.ร.บ.งบ 67 ทำให้ล่าช้าเล็กน้อย ไม่เกิน 6 เดือน คงส่งผลกระทบเศรษฐกิจภาพรวมไม่มากนัก แต่หากตั้งรัฐบาลล่าช้าเกินกรอบเวลา จะส่งผลกระทบ
ถึงขั้นต้องทบทวนจีดีพีใหม่ ฉะนั้นฝ่ายการเมืองต้องเร่งยุติข้อขัดแย้ง ตั้งรัฐบาลโดยเร็วโดยอยู่ภายใต้พื้นฐานความถูกต้องตามครรลอง เพื่อสร้างความเชื่อมั่น งานบริหารที่รออยู่นั้นมิใช่เพียงแต่ พ.ร.บ.งบประมาณ หากแต่เครื่องยนต์สำคัญของเศรษฐกิจทุกตัว ต้องมีคนกุมบังเหียนขับเคลื่อนและแก้ไขในตัวที่มีปัญหา ไม่อาจปล่อยให้เป็นไปตามยถากรรมเหมือนช่วงสุญญากาศขณะนี้ได้

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image