บทนำ : 10 ปีชาวนาไทย

นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย แถลงผลการวิเคราะห์และสำรวจข้อมูลการผลิตข้าวและการค้าขาย โดยมีใจความตอนหนึ่งน่าสนใจว่า ชาวนาไทยเมื่อเปรียบเทียบกับอินเดีย เวียดนาม และเมียนมา ในช่วง 10 ปี คือระหว่างปี 2555-2565พบว่า ผลผลิตข้าวไทยลดลง รายได้ และเงินคงเหลือของไทยน้อยกว่าคู่แข่ง และต้นทุนการผลิตของไทยเพิ่มขึ้นรองจากอินเดีย

พร้อมกันนั้นยังสรุปบทเรียนที่ควรมาทบทวน ได้แก่ 1.ผลผลิตข้าวต่อไร่ของไทยต่ำกว่าเวียดนาม 3 เท่า (ไทยเฉลี่ย 450 กก.ต่อไร่ เวียดนามมากกว่า 1,000 กก. หรือมากกว่า 1 ตันต่อไร่) 2.ชาวนาไทยมีอาชีพทำนา แต่ส่วนใหญ่ไม่ใช่ชาวนามืออาชีพ ขณะที่เวียดนามคือชาวนามืออาชีพ ชาวนาไทยส่วนใหญ่คิด 2 เรื่องคือ ราคากับผลผลิต ไม่คิดเรื่องการปรับลดต้นทุน แต่ชาวนาเวียดนามคิด “3 ลด 3 เพิ่ม”

3.ชาวนาไทยปลดหนี้โดยขายที่นา แล้วเช่าที่นาตัวเองทำการเกษตรต่อ นโยบายรัฐบาลไม่สามารถปลดหนี้ให้ได้ 4.แหล่งน้ำไม่พร้อม และปัญหาโลกร้อน เวียดนามทำนาได้ 3 ครั้งต่อปี ไทยทำได้ 1-2 ครั้ง 5.เงินวิจัยน้อย ไทยให้เงินวิจัย 200 ล้านบาท เวียดนามให้เงินวิจัย 3 พันล้านบาท ขณะที่อินเดีย จีน และญี่ปุ่นให้เงินวิจัยข้าวมากกว่า 1 พันล้านเหรียญต่อปี 6.นโยบายการแทรกแซงตลาด ทำลายศักยภาพการแข่งขัน ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาข้าวอย่างแท้จริง

7.ยิ่งทำนา หนี้ยิ่งเพิ่ม ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ผลผลิตต่อไร่ลดลง ราคาขายลดลง 8.ข้าวไทยไม่ตอบโจทย์ผู้บริโภคสมัยใหม่ที่รักสุขภาพมากขึ้นและข้าวหอมและนุ่ม 9.เอกลักษณ์ข้าวไทยลดน้อยถอยลง (ความหอม ความนุ่ม) มีการปลอมปน และเร่งการผลิตบนที่ดินที่ขาดคุณภาพ และ 10.การควบคุมการกระจายพันธุ์ข้าว การกระจายพันธุ์ข้าวเพื่อควบคุมคุณภาพข้าวเวียดนามทำได้ดีกว่าไทย

Advertisement

ขมวดปมสรุปสิ่งที่เกิดในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาได้ว่า การแทรกแซงตลาดข้าวไม่ใช่ทางออกของการพัฒนาข้าว ไม่ว่าจะเป็นการประกันรายได้ข้าว การประกันราคาข้าว หรือการจำนำข้าว ข้อมูลที่ได้รับชี้ว่า นโยบายการแทรกแซงตลาดไม่ได้ช่วยเพิ่มเงินในกระเป๋าชาวนา แต่ชาวนากลับมีรายได้ลดลง และติดลบ ข้อมูลเหล่านี้ต้องนำไปส่งให้รัฐบาลชุดต่อไปเข้ามาแก้ไข เพื่อให้ชาวนาไทยมีชีวิตที่ดีกว่านี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image