สถานีคิดเลขที่ 12 : ‘ชนชั้นเขา’ ไม่ใช่‘ชนชาวบ้าน’

สถานีคิดเลขที่ 12 : ‘ชนชั้นเขา’ ไม่ใช่‘ชนชาวบ้าน’ งานเขียนสุดท้ายของปราชญ์ผู้พิทักษ์

งานเขียนสุดท้ายของปราชญ์ผู้พิทักษ์ “ชนชาวบ้าน” นิธิ เอียวศรีวงศ์ ในมติชนสุดสัปดาห์
คือบทความเรื่อง “วันชาติ” ตีพิมพ์ฉบับวันที่ 7-13 กรกฎาคม 2566
ผู้ใกล้ชิดอาจารย์นิธิเล่าให้ฟังว่า บทความดังกล่าวอาจารย์นิธิเขียนอย่างอดทนในท่ามกลางวิกฤตมะเร็งระยะสุดท้าย
เดิมตั้งใจจะเขียน 3 ตอนจบ
แต่สามารถเขียนได้เพียง 1 ตอน ร่างกายก็ไม่เอื้ออำนวยเสียแล้ว

แม้บทความ “วันชาติ” จะไม่จบ
กระนั้น อาจารย์นิธิได้ยืนยันความเป็น “ชาติ” อย่างแจ้งชัดว่า
ชาติคือรัฐ ที่ต้องยอมรับ “อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย”
และด้วยเหตุนี้ “พลเมืองทุกคนจึงมีความเท่าเทียมกัน”

อย่างไรก็ตาม แม้อาจารย์นิธิจะแจ่มชัดและตอกย้ำเรื่องความเป็นชาติดังกล่าว
แต่เมื่อเรามองความเป็นไปของชาติในตอนนี้
เราอันหมายถึง ราษฎร
ถูกทำให้ห่างจากการมี “อำนาจสูงสุด” และ “ความเท่าเทียม” มากยิ่งขึ้นทุกที

ด้วยเพราะรัฐบาลใหม่ นายกรัฐมนตรีใหม่ ที่เหล่านักการเมือง พยายามดิ้นรนจัดตั้งขึ้น มิได้คำนึงถึงอำนาจสูงสุดของราษฎร ที่แสดงออกในการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม อย่างสิ้นเชิง
นอกจากนี้ ยังมีความพยายามยกเหตุข้างๆ คูๆ
เช่น เพื่อความสามัคคี เพื่อความสมานฉันท์ พวกนักเลือกตั้งอย่างพวกเขา จึงสมควรที่จะได้สิทธิในการผสมขั้ว ผสมพันธุ์ จัดตั้งรัฐบาล และแบ่งสรรอำนาจเข้าไปบริหารกระทรวงต่างๆ
โดยลืมจุดยืน คำมั่นสัญญา และเจตนารมณ์ของราษฎร ที่ต้องการให้ฝ่ายที่ยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตย ได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงประเทศ ไม่ใช่ให้นั่งร้านหรือฝ่ายที่สืบทอดเผด็จการที่มาจากรัฐประหาร ฉวยโอกาส ใช้กลไกอันบิดเบี้ยว กลับเข้ามามีบทบาท ในการขับเคลื่อนประเทศต่อไปอีก
โดยอาศัย “ความไม่เท่าเทียม” ที่เสียง 250 ส.ว. มีเสียงเหนือกว่าเสียงส่วนใหญ่ 14 ล้านเสียงเป็นเครื่องมือขัดขวาง ไม่ให้บุคคลที่ “ชนราษฎร” ได้แสดงเจตจำนงเลือกตั้งเข้ามา ดำรงตำแหน่งนายกฯได้

Advertisement

แถมยังสร้างความยืดเยื้อในการจัดตั้งรัฐบาล
เพื่อเปิดช่องและโอกาสให้ฝ่ายขั้วอำนาจเดิมเข้ามาแทรกแซงและกำหนดเกมในการตั้งนายกฯและรัฐบาลเองจนเกือบจะสำเร็จแล้วในตอนนี้
เกมแห่งอำนาจ จึงมิได้มาจากอำนาจของราษฎร
ตรงกันข้ามนับวันจะห่างออกจากราษฎรไปสู่เวทีของ “ชนชั้นเขา” ซึ่งหมายถึงนักเลือกตั้ง ที่พร้อมจะพลิกพลิ้ว แปรเปลี่ยนจุดยืน ได้อย่างง่ายดาย จนแทบไม่น่าเชื่อว่าจะเกิดขึ้นได้
ราษฎรที่เคยเป็นทุกสิ่งทุกอย่างในห้วงเวลาการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง ถูกกันออกไปเป็นคนนอก
ได้เพียงแต่ยืนมองตาปริบๆ ว่าพวกเขากำลังจะเล่น “ละคร” ฉากไหนให้เราดู

อย่างสิ่งที่เกิดขึ้นที่ มูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2566 อันเป็นวันครบรอบวันเกิด 78 ปีของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นเรื่องของ “ชนชั้นเขา” โดยแท้
“ลุงป้อม” อบอุ่นภายใต้การแวดล้อมของ “ลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา และพรรคภูมิใจไทย รวมถึงเหล่านักเลือกตั้งหนาตา
แม้กระทั่งทั้ง นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ที่เป็นประมุขของ 250 ส.ว. ที่มีสิทธิชี้เป็นชี้ตายว่าใครจะมาเป็นผู้นำประเทศ ก็ยังมาปรากฏกายด้วย
จึงไม่น่าแปลกใจกระแส “มีเรา ไม่มีลุง” ถูกลดระดับจนเรี่ยพื้น
ขณะเดียวกันพรรคเพื่อไทย ซึ่งเคยอยู่ในปีกประชาธิปไตย ก็พร้อมทิ้งทุกอย่าง เพื่อถูกกลืนเข้าไปอยู่ในอ้อมแขนเข้าไปกอด 2 ลุง ในไม่กี่อึดใจนี้
เรื่องการตั้งนายกฯตั้งรัฐบาล จึงเป็นเรื่องของ “ชนชั้นเขา”
ไม่ใช่เรื่องของ “ชนชาวบ้าน” และถูกบังคับให้เสพสม “สมานฉันท์การละคร” โดยขมขื่นอีกต่อไป

สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image