ชี้หม่อน ด่าไหว ใหญ่ข่มเล็ก ยอมสยบ ตีวัว กระทบคราด

ชี้หม่อน ด่าไหว ใหญ่ข่มเล็ก ยอมสยบ ตีวัว กระทบคราด

ชี้หม่อน ด่าไหว
ใหญ่ข่มเล็ก ยอมสยบ
ตีวัว กระทบคราด

เอี้ยนอิง เป็นมหาอุปราช หรือนายกรัฐมนตรีแห่งรัฐฉี ซึ่งเป็นรัฐใหญ่ในยุคเลียดก๊ก เป็นคนที่มีความรู้ความสามารถ
แต่มีรูปร่างเตี้ย
มีอยู่คราวหนึ่งที่กษัตริย์รัฐฉีมอบหมายให้ไปเจริญสัมพันธไมตรีกับรัฐฉู่ ซึ่งเป็นรัฐใหญ่ในระนาบใกล้เคียง
ฉู่อินหวัง เห็นว่าเอี้ยนอิงตัวเตี้ย
จึงสั่งให้เจาะประตูเล็กๆ สูงเพียงให้เอี้ยนอิงสามารถเดินผ่านได้ สั่งการว่าหากมหาอุปราชแห่งรัฐฉีเดินทางมาถึงก็ให้เดินเข้าประตูนี้
นี่คือโจทย์ที่นายกรัฐมนตรีแห่งรัฐฉีต้องประสบ

จากการบรรยายของ สมศักดิ์ แต้มบุญเลิศชัย ใน “36 กลยุทธ์” ระบุว่า เมื่อเอี้ยนอิงเดินทางมาถึง คนเฝ้าประตูออกไปต้อนรับ
แจ้งเอี้ยนอิงให้เดินเข้าประตูเล็กที่ตระเตรียมไว้
เอี้ยนอิงเมื่อรับทราบ แทนที่จะตกใจหรือประหลาดใจ กลับหันไปถามผู้ติดตามว่า
“นี่เรามาเยือนรัฐฉู่หรือเปล่า ทำไมจึงมีประตูหมาที่ปล่อยให้หมาเข้า-ออก คงมีแต่รัฐหมาเท่านั้นที่ทำประตูเช่นนี้ ฉู่เป็นรัฐใหญ่ทำไมจึงมีเรื่องอย่างนี้ นี่เรามาผิดที่หรือเปล่า”
คนเฝ้าประตูฟังแล้วอับอายมาก จึงเปิดประตูเมืองให้เอี้ยนอิงเข้า

ระหว่างเดินทางเข้าพบฉู่อินหวัง ได้ส่งขุนนางออกมาต้อนรับพร้อมกับรถคันใหญ่ คัดเลือกทหารรูปร่างสูงยืนขนาบข้าง
เน้นให้เห็นว่าเอี้ยนอิงตัวเตี้ย
เมื่อพบหน้า ฉู่อินหวังก็แสดงทีท่าที่แปลกใจถามขึ้น “รัฐฉีไม่มีคนที่รูปร่างหน้าตาดีแล้วหรือ จึงส่งคนตัวเตี้ยอย่างท่านมา”
“ตามประเพณีของรัฐฉี” เป็นคำตอบจากเอี้ยนอิง
“การเยือนรัฐอื่นเลือกส่งคนที่มีลักษณะเหมาะสม ถ้าเยือนรัฐต่ำต้อยก็ไม่จำเป็นต้องส่งคนสูงใหญ่ การเยือนรัฐฉู่ส่งคนตัวเตี้ยและคนที่ไร้ความรู้ความสามารถอย่างข้ามาก็น่าจะเพียงพอแล้ว”
จัดได้ว่าตอบอย่างชนิด “ขนม” พอสมกับ “น้ำยา”

Advertisement

ในห้วงแห่งงานเลี้ยง เมื่อทหารจับโจรและคุมตัวเดินผ่านมา ฉู่อินหวังก็ร้องตะโกนถามด้วยเสียงอันดัง
“นี่มันอะไรกัน ทำไมจึงจับโจรผ่านมาที่นี่”
นายทหารที่คุมตัวรายงานว่า “พอดีไอ้โจรคนนี้เป็นคนจากรัฐฉี เข้ามาขโมยของในรัฐฉู่จึงจับตัวไปขัง”
“คนรัฐฉีชอบลักขโมยใช่ไหม” ฉู่อินหวังถาม
“คนฉีอยู่ในรัฐฉีเป็นคนดี แต่ถ้ามาอยู่ในรัฐที่มีคนชอบลักขโมย ก็อาจจะติดนิสัยไม่ดีได้ เสมือนส้มที่มีรสหวานปลูกในภาคใต้ของประเทศ เมื่อย้ายไปปลูกในภาคเหนือก็ได้ผลไม่ดี แถมมีรสเปรี้ยว” เอี้ยนอิงชิงตอบ
เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะดินฟ้าอากาศและสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน

ท่วงทำนองในแบบของเอี้ยนอิง สมศักดิ์ แต้มบุญเลิศชัย จุดอยู่ในกลยุทธ์ “มือชี้ที่ต้นหม่อน แต่กลับด่าต้นก้ามปู”
เป็นกระบวนท่าของ “ผู้มีกำลังมากกว่า”
ดำเนินไปบนแนวทาง ผู้มีกำลังมากจะทำให้ผู้มีกำลังน้อยกว่ายอมตาม อาจใช้วิธีข่มขู่หรือชักจูง
โดยใช้ “ไม้แข็ง” หรือ “ไม้นวม” แล้วแต่ความเหมาะสม
ขณะที่ ประดิษฐ์ พีระมาน แห่งหนังสือ “มหาพิชัยสงคราม” ระบุอย่างรวบรัดว่าเป็นกลยุทธ์
“ชี้คน ด่า ผู้อื่น”
เป็นกุศโลบายกำราบก๊กที่ขัดขืนให้มาอ่อนน้อม ด้วยการใช้วิธียกทัพไปโจมตีก๊กอื่นเป็นเยี่ยงอย่าง
ทำให้ก๊กที่ขัดขืนต้องมาอ่อนน้อม

ความหมายแห่ง “ชี้ไปที่ต้นหม่อน แต่กลับไปด่าต้นก้ามปู” คือ ทำเป็นกำลังดุด่าคนหนึ่ง หรือวิพากษ์วิจารณ์สิ่งหนึ่ง
แต่แท้จริง เป็นการชี้ความผิดของอีกคนหรืออีกสิ่งหนึ่ง
แม้จะไม่พูดออกมาตรงๆ แต่คนฟังก็รู้ว่า สิ่งที่ด่านั้นหมายถึงอะไร และคนที่ด่านั้นหมายถึงใคร ที่ไม่พูดตรงๆ เพราะคนที่ต้องการดุด่าจะไปต่อว่า หรือฟ้องร้อง
หรือแสดงความไม่พอใจไม่ได้ เนื่องจากคนนี้ชี้ไปที่คนอื่น ถ้าคนที่ถูกด่าออกมาคัดค้านหรือตอบโต้ คนด่าก็จะบอกว่า “กินปูนร้อนท้อง”
หรือพูดประชดประเทียดว่า “คนนี้นี่แหละที่เป็นเช่นนั้นนั่นเอง”

Advertisement

เมื่อตกถึงมือ บุญศักดิ์ แสงระวี แห่ง “36 กลยุทธ์แห่งชัยชนะ ในการสัประยุทธ์ทุกปริมณฑล” ก็เป็น “ชี้ต้นหม่อน ด่าต้นไหว”
ดำเนินไปในทิศทาง “ใหญ่ข่มเหงเล็ก พึงเตือนให้เกรง แกร่งจึงต้อนรับ เสี่ยงจึงยอมสยบ”
ความหมายแห่ง “กลยุทธ์” คือ เมื่อผู้ที่เข้มแข็งกว่าหรือรัฐใหญ่ รังแกผู้ที่อ่อนแอหรือรัฐเล็กแล้ว ก็ควรจะใช้วิธีการตักเตือนให้เกรงกลัว
ถ้าแม้นเราแสดงความเข้มแข็งให้ประจักษ์ ก็จักได้รับความสนับสนุนจากผู้อ่อนแอ ถ้าเรากล้าใช้ความรุนแรงก็จักเป็นที่ยอมรับนับถือ
แก่ “ผู้อ่อนแอ”

“แกร่งจึงต้อนรับ เสี่ยงจึงยอมสยบ” เดิมมาจาก “คัมภีร์อี้จิง แม่ทัพ” ความเดิมมีอยู่ว่า “แกร่งจึงต้อนรับ เสี่ยงจึงยอมสยบ นี่คือหนทางปกครองแผ่นดิน ราษฎรจึงขึ้นต่อ”
ความหมายของ “ชี้ต้นหม่อน ด่าต้นไหว” ตรงกับสุภาษิตไทยเราคำว่า “ตีวัวกระทบคราด”
แต่เมื่อใช้ในการสัประยุทธ์
ไม่ว่าจะเป็นการทหารหรืออื่นๆ ก็เป็นกลยุทธ์ที่มีความหมายในทำนองสร้างเกียรติภูมิของตนขึ้นด้วยวิธี “ฆ่าไก่สอนลิง” เพื่อให้ฝ่ายอื่นที่อ่อนแอกว่า หรือผู้อยู่ใต้การบังคับบัญชายอมสยบด้วยอย่างหนึ่ง
ดำเนินตามบทสรุป

เพื่อที่จะดำเนินการตามแผนการที่ได้วางไว้ จักต้องใช้มาตรการเด็ดขาด จึงจะสามารถได้รับตามที่ได้กำหนด
แต่ความเด็ดขาดนั้น
ใช่ว่าจะต้องอาศัยกำลังความรุนแรงเสมอไป อาจดำเนินการด้วยวิธีการหนึ่งใดที่ทำให้ฝ่ายตรงข้ามตระหนักในเจตนา
ยอมสยบแต่โดยดี เพราะจนปัญญาที่จะต่อตีด้วยเรา นั่นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image