ธรรมทำลายกับดัก

ธรรมทำลายกับดัก

ธรรมทำลายกับดัก

ในเวทีโลกเวลานี้จะเห็นได้ชัดว่ามีคำว่า “แข่งขัน” ทั่วไปหมด แม้ในประเทศไทย โดยเฉพาะการแข่งขันทางเศรษฐกิจ เวลานี้ถือกันว่า “โลกเป็นเวทีของการแข่งขัน” ประเทศชาติต่างๆ ก็คิดถึงแต่การแข่งขัน ซึ่งบรรยากาศเช่นนี้ยังถูกผลักลงไปถึงโรงเรียนมัธยม โรงเรียนประถม โรงเรียนอนุบาล และศูนย์เด็กวัยก่อนเรียน “เมืองไทย” เราก็พลอยรับเอา “ลัทธิ” นี้เข้ามาด้วย และพูดกันเสมอถึงการพยายามแข่งขันให้สู้กับเขาได้ เมื่อมองในแง่นี้ก็เป็นการเอาแต่ตัวของประเทศ แต่ในการแก้ปัญหาของโลกระบบการแข่งขันแบบนี้ไม่มีทางแก้ปัญหาได้สำเร็จ มีแต่จะทำให้โลกพินาศ เพราะในที่สุดมันจะกลับมาซ้ำเติม ปัญหาที่ว่ามาทั้งหมด เช่น ทำให้ปัญหาธรรมชาติสิ่งแวดล้อมแก้ไม่ได้ เพราะว่าเชื่อต่างคนต่างแข่งขันหาผลประโยชน์ หรือว่าต่างคนต่างคิดแบ่งแยกกัน มันก็แก้ไม่ได้ มนุษย์จึงมาถึงจุด “ติดตัน” หรือ “ติดกับดัก”

จากภูมิหลังประวัติศาสตร์ “จริยธรรมตะวันตก” เป็นจริยธรรมแบบ “เทวปัญญา” แล้วต่อมา ก็เป็นจริยธรรม ที่ถือว่ามนุษย์ปรุงแต่งรสชาติกันขึ้นเอง ไม่มีความเป็นวิทยาศาสตร์

ครั้นปัจจุบันนี้เมื่อมาประสบปัญหาทางจิตใจและทางสังคม ก็เริ่มเห็นความสำคัญของ “จริยธรรม” ขึ้นมาอีก แต่ก็ยังไม่มากนักจนกระทั่งมาประสบปัญหาธรรมชาติสิ่งแวดล้อมเข้า ฝรั่งจึงได้หวนกลับไปให้ความสำคัญแก่จริยธรรมอย่างเต็มที่

Advertisement

เวลานี้จริยธรรม คือ ethics จึงได้กลับมามีความสำคัญมากในสังคมตะวันตก เพราะปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งทำให้เกิดมีจริยธรรมสิ่งแวดล้อม (environment ethics) ซึ่งก็เป็นจริยธรรมแห่งความจำใจอยู่นั่นเอง เช่น บอกว่ามนุษย์ต้องมี restrain (ตรงกับสังวร) คือ ต้องมีการควบคุมยับยั้งตนเองในการที่จะปฏิบัติต่อธรรมชาติ โดยไม่เอาธรรมชาติมาใช้ตามใจชอบ เป็นต้น

ในเวลาเดียวกันจริยธรรมธุรกิจ (business ethics) คือ มีเป้าหมายสำคัญอย่างหนึ่ง คือ ทำอย่างไร ดำเนินการธุรกิจใด ไม่ส่งผลให้เกิดการทำลายสิ่งแวดล้อม เพราะการ “แข่งขัน” กันมากในทางธุรกิจ จะทำให้ทุกคนต่างก็หาผลประโยชน์ของตนเอง ลงท้ายด้วยต่างคนต่างช่วยกันทำลาย “ทรัพยากรธรรมชาติ” ฉะนั้น “จริยธรรมสิ่งแวดล้อม” (Environmental ethics) จึงมีอิทธิพลออกไปจนถึงวงการทางสังคม ทำให้การศึกษาในมหาวิทยาลัยเกิดมีจริยธรรมธุรกิจ (business ethics) ขึ้นด้วย จริยธรรมก็กลับฟื้นฟูมีความสำคัญขึ้นมา

อย่างไรก็ตาม ในเมื่อจริยธรรมของตะวันตกก็เป็นจริยธรรมแบบ “จำใจ ฝืนใจ” มันก็ไม่มั่งคงไม่ปลอดภัย ไม่มีหลักประกันเพราะเมื่อมนุษย์ฝืนใจก็ทุกข์ จึงคอยหาทางเลี่ยงจริยธรรมแบบที่ว่าตลอด ฉะนั้นจึงบอกว่า “ติดตันไม่มีทางออก”

Advertisement

ส่วนจริยธรรมของพระพุทธศาสนาไม่เน้นจริยธรรมแห่งการประนีประนอม (ไม่มีเทียมไม่มีแท้) ไม่ใช่จริยธรรมแบบที่ว่าทั้งสองฝ่ายต่างต้องยอมเสียบ้างเพื่อต่างก็ได้บ้างด้วยกัน แต่เป็นจริยธรรม ที่ต่างก็ประสานประโยชน์เกื้อกูลซึ่งกันและกัน ซึ่งในที่สุดจะทำให้องค์ประกอบทั้ง 3 ส่วนในจริยธรรมของมนุษยชาติอยู่ร่วมกัน และเจริญงอกงามไปด้วยกันได้ด้วยดี คือ ชีวิตมนุษย์ สังคม และสิ่งแวดล้อม

ขณะนี้องค์ประกอบทั้งสามตกอยู่ในกระบวนการพัฒนาของมนุษย์ที่เรียกว่า Unsustainable คือ เป็นการพัฒนา ที่ไม่ยั่งยืน ซึ่งทำให้ผลประโยชน์ทั้งสามส่วน “ขัดแย้ง” กันไปหมด คือ ถ้าบุคคลได้ สังคมก็สูญเสีย ถ้าจะให้สังคมได้ บุคคลก็ต้องยอมสละ ดังนั้น ถ้าเพื่อบุคคลสังคมต้องยอมเสีย หรือเพื่อสังคมบุคคลก็ต้องยอมเสีย เฉกเช่นเดียวกัน ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ ถ้ามนุษย์ได้ ธรรมชาติก็สูญเสีย ถ้าธรรมชาติได้ มนุษย์ก็สูญเสีย ขัดกันไปหมด ระบบนี้จึงนำมาซึ่งระบบ “จริยธรรมแบบจำใจ”

ในทางพระพุทธศาสนาบอกว่า คนนี้พัฒนาได้ เมื่อพัฒนาคนแล้วทุกอย่างที่เกี่ยวกับคนจะเปลี่ยนไป พอคนเปลี่ยนไปแล้ว เราจะทำให้สามอย่างนี้มาประสานประโยชน์กันจนกระทั่งกลายเป็นว่า บุคคลได้ก็ดีแก่สังคม สังคมได้ก็ดีแก่บุคคลด้วย มนุษย์ได้ก็ดีแก่ธรรมชาติด้วย ธรรมชาติได้ก็ดีแก่มนุษย์ด้วย การพัฒนาจะต้องมาถึงจุดนี้ให้ได้จึงจะเป็น Sustainable ที่แปลกันว่า “ยั่งยืน” แต่ปัญหาอยู่ที่ว่า “มนุษย์” หรือ “คน” จะทำได้ไหม??

ถ้ามองในแง่ของ “ปรัชญาตะวันตก” ตอนนี้การพัฒนาที่ยั่งยืน (sustainable development) นั้นเห็นว่าไม่มีทางตันแน่นอน เพราะแนวคิดของเขาแฝงด้วย “ความขัดแย้ง” ไว้ตลอดหมดทั้งสามและมาลงที่จริยธรรมแห่ง “ความจำใจ” ซึ่งเป็นไปตามแนวคิด ที่เริ่มตั้งแต่มองมนุษย์แยกต่างหากจากธรรมชาติและให้มนุษย์พิชิตธรรมชาติ แล้วจัดการกับธรรมชาติตามชอบใจ เพื่อเอามาสนองความต้องการของตนที่จะเสพเพื่อตนและธุรกิจ เพื่อกำไรให้มากที่สุด เพื่อจะได้สุขมากที่สุด

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตโต) ได้กล่าวว่า แนวคิดตะวันตกต่างรวม “แนวคิดของพุทธ” ซึ่งสอนว่าจะต้องประสานให้สิ่งที่ดีแก่บุคคลก็ดีแก่สังคมด้วย ให้สิ่งที่ดีแก่สังคมก็ดีแก่บุคคลด้วย ให้สิ่งที่ดีแก่มนุษย์ก็ดีแก่ธรรมชาติด้วย ให้สิ่งที่ดีแก่ธรรมชาติก็ดีแก่มนุษย์ด้วยและสังคมด้วย ถ้าถึงจุดนี้ได้องค์ประกอบทั้งสาม คือ “มนุษย์ สังคม ธรรมชาติสิ่งแวดล้อม” ก็ประสานประโยชน์กันได้ และกลายเป็นการเกื้อกูลซึ่งกันและกันก็แก้ปัญหา “มนุษย์ได้” นี่คือความสำเร็จของอริยธรรม

อันนี้แหละเป็นบทสุดท้ายที่จะพิสูจน์ว่า การพัฒนามนุษย์จะทำได้แค่ไหนเป็น “จุดสุดยอด” เราไม่ไปยุ่งเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เอาเป็นว่าจุดศูนย์รวมทั้งหมดในการแก้ปัญหาความขัดแย้งบีบรัดของมนุษยชาตินี้ เราบอกได้ว่า “วิถีพระพุทธศาสนา” มีคำตอบเพื่อให้เกิดเสรีภาพ เสมอภาค และสันติภาพ ไงเล่าครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image