ภาพเก่าเล่าตำนาน : ยอดนักกฎหมายในคดีพระยอดเมืองขวาง

นักกฎหมายไทยในรัชสมัยในหลวง ร.5 ผู้ไม่เคยไปศึกษากฎหมายในต่างประเทศ ศึกษาวิชากฎหมายด้วยตัวเอง รวมทั้งวิชาภาษาอังกฤษและฝรั่งเศส ที่สังคมไทยควรรู้จัก

เหนือสิ่งอื่นใด คือ ซื่อตรง มีคุณธรรม กล้ายืนหยัดในความถูกต้อง เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย ได้ทำงานวางรากฐานระบบยุติธรรมของไทย…

คดีพระยอดเมืองขวาง ใน พ.ศ.2436-2437 เป็นคดีเรื่องเดียวที่จำเลยถูกกล่าวหาฟ้องร้องในการกระทำคราวเดียวใน 2 ศาล 2 ครั้ง เนื่องจากการข่มขู่ของมหาอำนาจฝรั่งเศส…จนในที่สุด “พระยอดเมืองขวาง” ข้าราชการสยามต้องรับโทษ “จองจำ-ติดคุก”

เป็นคดีความที่ครึกโครมที่สุด สยามถูกข่มขู่แทบจะเสียบ้านเสียเมือง เหตุการณ์การต่อสู้ทางตัวบทกฎหมายที่สยามถูก “บดขยี้” …เป็นที่มาของคำว่า… “หมาป่าฝรั่งเศสกับลูกแกะสยาม” (The French Wolf and the Siamese Lamb) โด่งดังไปทั่วยุโรป

Advertisement

เหตุการณ์ ร.ศ.112 (พ.ศ.2436 ในรัชสมัยในหลวง ร.5) ต่อเนื่องถึง ร.ศ.113 โดยย่อ…ครับ

พระยอดเมืองขวาง เดิมชื่อ ขำ เป็นต้นสกุล ยอดเพ็ชร์ เกิดเมื่อ พ.ศ.2395 ที่ อ.บรรพตพิสัย จ.นครสวรรค์ เป็นบุตรของพระยาไกรเพ็ชร์ (มิตร กฤษณมิตร) เริ่มรับราชการเป็นข้าหลวงผู้ช่วยในกองข้าหลวงใหญ่นครจำปาศักดิ์ รักษาราชการกองข้าหลวงลาวกาว ต่อมาได้เป็นเจ้าเมืองเชียงขวาง

3 มิถุนายน 2436 “พระยอดเมืองขวาง” ข้าหลวงของสยามที่ไปปกครองเมืองเชียงม่วน (ใกล้เมืองเดียนเบียนฟู) นำกำลังทหารสยาม 18 คน ไปเจรจากับผู้บังคับกองทหารฝรั่งเศส เพื่อขอให้ปล่อยตัว “ขุนอนุรักษ์” ที่ถูกทางการฝรั่งเศสจับตัวมาคุมขัง จากเหตุการณ์ขัดแย้งเรื่องเส้นเขตแดน

Advertisement

มิสเตอร์กรอสกุแรง (Grosgurin) หัวหน้าของทหารฝรั่งเศส “ไม่ยินยอม” เกิดการโต้เถียงอย่างรุนแรง เสียงปืนดังขึ้น ทหารไทยที่มาจากโคราชล้มตาย 1 คน และ “ขุนวัง” ที่เดินทางมากับพระยอดเมืองขวางตายอีก 1 คน

ทั้ง 2 ฝ่ายยิงกันดุเดือด …ตามด้วยไฟไหม้อาคารที่พัก

เสียงปืนสงบ ทหารไทยตาย 6 บาดเจ็บ 5 คน ทหารญวนของฝรั่งเศสตาย 11 คน ทหารไทยจับเป็นเชลยได้ 5 คน

มิสเตอร์กรอสกุแรง หัวหน้าทหารฝรั่งเศส… “ตาย” ในที่เกิดเหตุ

ฝรั่งเศสโกรธจัด… “กล่าวหา” พระยอดเมืองขวางและพวกรุมทำร้ายทหารฝรั่งเศสกับคณะถึงแก่ความตายและบาดเจ็บขณะเกิดเหตุในเมืองคำม่วน เป็นเรื่องเสียเกียรติ…ที่อภัยไม่ได้

พระยอดเมืองขวาง ทำหนังสือรายงานกระทรวงมหาดไทย

ฝรั่งเศส ก็ทำรายงานไปถึง “ผู้สำเร็จราชการอินโดจีน”

ฝรั่งเศสยื่นคำขาดให้ทางการสยามสอบสวน ต้องเอา “ขึ้นศาล” เพื่อพิจารณาโทษ ฝ่ายไทยชี้แจง โต้แย้งอย่างไร ฝรั่งเศสก็ไม่ยอมรับฟัง ในที่สุดต้องนำตัวขึ้นศาล

ครั้งที่ 1 ในหลวง รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้กรมหลวงพิชิตปรีชากร แม่ทัพใหญ่อีสานใต้เป็น “ประธานคณะผู้พิพากษา” ซึ่งประกอบด้วย พระยาสีหราชเดโชชัย พระยาอภัยรณฤทธิ์ พระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ พระยาธรรมสารนิติ พระยาฤทธิรงค์ พระยาธรรมสารเนตติ์ มีหลวงสุนทรโกษา และนายหัสบำเรอ อัยการเป็นทนายฝ่ายโจทก์ นายตีเลกี (William Alfred Tilleke) และนายเวอร์นอน เพจ (Vernon Page ชาวอังกฤษ) เป็นทนายจำเลย

กระบวนการทางศาลที่เกิดขึ้น เรียกกันว่า คดีพระยอดเมืองขวาง

เมื่อมีการจัดตั้งศาลรับสั่งพิเศษ (พิจารณาคดีครั้งแรกเป็นเวลา 22 วัน ตั้งแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ ถึง 16 มีนาคม พ.ศ.2437) กรมหลวงพิชิตปรีชากรทรงทำหน้าที่ได้ดีเยี่ยม ทรงเป็นผู้นำทำการรณรงค์ทางคดีความที่เข้มแข็งยากจะหาผู้อื่นเหมือนพระองค์ท่าน ใช้หลักการพิจารณาคดีแบบที่ใช้ในยุโรป มีการสืบพยาน ซักถาม มีการรวบรวม-แสดงหลักฐาน ในขณะที่ฝ่ายฝรั่งเศสถือว่า “ไม่ถูกใจ”

การพิจารณาคดีในศาลครั้งที่ 1 พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงพิชิตปรีชากร ทรงมีมติเด็ดขาดเห็นว่าจำเลย (พระยอดเมืองขวาง) ไม่ผิด…พิพากษา “ปล่อยตัว”

ฝรั่งเศส “ไม่พอใจ” การตัดสินคดีความของศาลไทย

เขี้ยวเล็บ ของมหาอำนาจของมหาอำนาจฝรั่งเศสในเวลานั้น คือ “เรือปืน” กว่า 10 ลำ ที่พำนักรวมกัน ณ กรุงไซ่ง่อน (ทางตอนใต้ของเวียดนาม ฝรั่งเศสยึดเวียดนามได้ตั้งแต่ พ.ศ.2416)
เมื่อศาลไทยตัดสินว่า “ไม่ผิด” …ฝรั่งเศสบอกว่า “ต้องผิด”

13 กรกฎาคม 2436 ช่วงเย็น… เรือรบฝรั่งเศส 3 ลำบุกเข้ามาปากแม่น้ำเจ้าพระยา หมายจะเข้ากรุงเทพฯ …ทหารของสยามบนป้อมพระจุลจอมเกล้า เมืองปากน้ำ สมุทรปราการ ทำหน้าที่ปกป้องราชอาณาจักร ยิงเรือรบฝรั่งเศสเสียหาย

เรือรบ 2 ลำ ที่ไม่เสียหาย ชื่อ แองกองสตังต์ และเรือโคเมต บุกเข้ามาตามแม่น้ำเจ้าพระยา มาอยู่ที่หน้าสถานทูตฝรั่งเศส ท่าน้ำเจริญกรุง ที่ไม่ไกลจากพระบรมมหาราชวัง

ข้าหลวงฝรั่งเศส ยืนยัน ต้องพิจารณาตัดสินคดีอีกครั้ง โดยฝ่ายฝรั่งเศสจะจัดตั้งคณะผู้พิพากษาให้ใหม่…

ผลการตัดสินครั้งที่ 2 ฝรั่งเศสเป็นฝ่ายจัด “คณะผู้พิพากษา” ใหม่ เอาผิดพระยอดเมืองขวางจนได้ในที่สุด เป็นไปตามที่ฝรั่งเศส “ถูกใจ” …พระยอดเมืองขวางต้องเข้าคุก ถูกจองจำ

ขอนำเสนอประวัติของนักกฎหมายไทยที่น่าเคารพ ยกย่อง

กรมหลวงพิชิตปรีชากรทรงเป็นพระเจ้าลูกยาเธอชั้นใหญ่และเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 20 ของในหลวง ร.4 มีเจ้าจอมมารดาพึ่ง พระสนมรองเป็นพระมารดา ประสูติเมื่อวันจันทร์ที่ 29 ตุลาคม พ.ศ.2398

ทรงเป็นพระเจ้าน้องยาเธอของในหลวง ร.5 ทรงมีความฉลาดเฉียบแหลมตั้งแต่ทรงพระเยาว์ มีอัธยาศัยนิยมการศึกษาบทกฎหมายและอรรถคดีมาแต่พระชนมายุน้อย

ในหลวง ร.5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ศึกษากฎหมายและฝึกหัดการพิจารณาความในสำนักพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาเทเวศร์วัชรินทร์จนทรงมีความรอบรู้ทางนิติศาสตร์ไทยอย่างช่ำชอง

ทรงเป็นนักนิติศาสตร์ไทยที่เข้มแข็งที่สุดในยุค ร.ศ.112 และ 113 เป็นผู้นำนักนิติศาสตร์อื่นๆ ร่วมในกระบวนการป้องกันให้ “พระยอดเมืองขวาง” ได้รับความยุติธรรม โดยใช้กระบวนการทางกฎหมายที่ถูกต้อง รับฟังพยานอย่างละเอียดรอบคอบทุกแง่มุม

การปฏิบัติงานของศาลรับสั่งพิเศษในคดีพระยอดเมืองขวาง ศาลออกนั่งตรงเวลา 10.00 น. พิจารณาต่อถึงเวลา 16.00 น. ทุกวัน ดำเนินคดีเรียบร้อยรวดเร็วติดต่อกันจนเสร็จการพิจารณา

การปฏิบัติงานของศาลได้รับการชมเชยจากชาวต่างประเทศและไทยเป็นอันมาก เมื่อมีคำพิพากษาก็ได้รับการสดุดี

การดำเนินการพิจารณาแผนใหม่ แม้ไทยเราจะเริ่มมาก่อน แต่คดีที่พึงถือว่าเป็นแบบอย่างในการพิจารณาอย่างแท้จริงสำหรับกระบวนการพิจารณาแผนใหม่นั้น ก็คือ “คดีพระยอดเมืองขวาง”

การปฏิบัติงานในฐานะอธิบดีศาลรับสั่งพิเศษนับได้ว่ากรมหลวงพิชิตปรีชากรทรงตรากตรำเหน็ดเหนื่อย

ท่านยังทรงศึกษานิติศาสตร์แบบต่างประเทศเป็นการเอกเทศด้วยทรงศึกษาภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส รอบรู้จนใช้การได้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นองคมนตรีและสมาชิกในสภารัฐมนตรีสมัยรัชกาลที่ 5

เมื่อมีการก่อตั้ง “ศาลฎีกา” ได้ทรงเป็นอธิบดีศาลฎีกาพระองค์แรกและยังทรงเป็นอธิบดีศาลแพ่งกลาง ศาลแพ่งเกษมอีก 2 ศาล ทั้งได้ทรงปฏิบัติงานตามพระบรมราโชบายเรื่อง “เลิกทาส” กำหนดเกษียณอายุลูกทาสโดยสมเด็จพระปิยมหาราชจนสำเร็จ ในขณะที่ทรงดำรงตำแหน่งอธิบดีศาลแพ่งทั้งสอง

ย้อนไปเมื่อ พ.ศ.2427 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระองค์ท่านไปจัด “ศาลต่างประเทศ” ที่เมืองเชียงใหม่ก็ทำได้เรียบร้อย

พ.ศ.2428 ทรงเสนอความคิดถวายในหลวง ร.5 ให้รวมศาลทั้งปวงไว้ในกระทรวงยุติธรรมและให้แยกอำนาจตุลาการให้ขาดจากทุกกระทรวงเป็นเบื้องต้น แต่เจ้ากระทรวงขณะนั้นเห็นว่ายังไม่ถึงเวลาจึงรอร้างมา

พ.ศ.2434 ทรงรวมหน่วยงาน ตั้งกระทรวงยุติธรรม ตามแนวคิดของพระองค์ท่าน

พ.ศ.2434 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็น “ข้าหลวงใหญ่” สำเร็จราชการมณฑลอีสาน ซึ่งเรียกว่า “มณฑลลาวกาว” คือรวมอาณาเขตลาวตะวันออกและตะวันออกเฉียงเหนือเข้าด้วยกัน ตั้งที่ว่าการ ณ เมืองอุบลราชธานี รองรับสถานการณ์ที่ฝรั่งเศสใช้กำลังทหารเข้ามายึดครองเวียดนาม ลาว เขมร

ต่อมาใน พ.ศ.2436 เนื่องจากพระองค์ท่านเคยช่วยราชการทหารหน้า มียศเป็น “นายพันเอก” ในระยะเป็นข้าหลวงใหญ่ทรงต้องบังคับทั้งทหารและพลเรือนได้เลื่อนยศเป็น “พลตรี”

พ.ศ.2437 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นเสนาบดีกระทรวงยุติธรรม พระองค์ท่านทรงเป็นเสนาบดีที่เริ่มจัดตั้ง “โรงเรียนกฎหมาย” เพื่อผลิตเนติบัณฑิตด้วย แต่ยังไม่ทันสำเร็จเพราะติดขัดเรื่องครูอาจารย์ จึงได้มาสำเร็จในสมัยกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ทรงเป็นเสนาบดี …เนื่องจากท่านประชวร

ปลายปี พ.ศ.2439 กรมหลวงพิชิตปรีชากร ได้กราบบังคมลาพ้นจากตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงยุติธรรม กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ทรงรับตำแหน่งแทนพระองค์

“อำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอยู่ใต้อุ้งมือฝ่ายธุรการนั้นใช้ไม่ได้ …มีแต่จะเกิดภัยขึ้นเสมอๆ” คือแนวทางการปรับเปลี่ยน วางระบบกฎหมายของไทย โดยกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์

กรมหลวงพิชิตปรีชากรประชวร สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ.2452 พระชันษา 55 ทรงเป็นต้นราชสกุล “คัคณางค์”

ไม่นานมานี้ ผู้เขียนไปค้นหาเอกสาร ณ หอสมุดแห่งชาติ พบ “ห้องและพระรูป” ของกรมหลวงพิชิตปรีชากร ที่น่ายกย่อง สง่างาม คู่ควรกับพระราชกรณียกิจที่ทรงปฏิบัติในฐานะนักกฎหมาย

ข้อมูลรายละเอียดเรื่องพระยอดเมืองขวาง ขอแนะนำ วรรณกรรมไทย พระยอดเมืองขวางเจ้าเมืองคำม่วน ของนายสุจริต ถาวรสุข ที่ได้รับรางวัลชั้นที่ 1 ประเภทร้อยแก้ว ประจำปี พ.ศ.2516 โดยธนาคารกรุงเทพ จำกัด

เหตุวิกฤตของบ้านเมืองในอดีตครั้งนั้น… ทำให้คนไทยทั้งหลายพอจะได้เห็น “นักกฎหมายที่ประชาชนพึ่งพาได้”

พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image