เดินหน้าชน : ทางออกเบี้ยชรา

เดินหน้าชน : ทางออกเบี้ยชรา

21 กลายเป็นประเด็นที่สร้างความกังวลให้กับผู้สูงอายุในปัจจุบัน และผู้ที่จะต้องเข้าสู่วัยผู้สูงอายุในอนาคตว่ายังจะได้รับเบี้ยยังชีพคนชราเดือนละ 600-1,000 บาท หรือไม่ หลังระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2566 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา มีผลบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 12 สิงหาคมที่ผ่านมา

ระเบียบฉบับนี้ ได้ปรับปรุงคุณสมบัติผู้มีสิทธิได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ข้อ 6(4) เป็นผู้ไม่มีรายได้หรือมีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพตามที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติตามกฎหมายว่าด้วยผู้สูงอายุกำหนด

แม้ขณะนี้ผู้สูงอายุกว่า 11 ล้านคนที่ได้รับเบี้ยยังชีพอยู่แล้วจะได้รับเบี้ยยังชีพเหมือนเดิมตามบทเฉพาะกาลท้ายระเบียบฉบับนี้ เพื่อรอคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ (กผส.) กำหนดหลักเกณฑ์ออกมา ตามที่รัฐบาลได้ออกมาชี้แจงคลายความกังวล

Advertisement

แต่หากมีการกำหนดหลักเกณฑ์ออกมาแล้วนั่นหมายความว่าจะต้องมีผู้สูงอายุที่จะไม่ได้รับเบี้ยยังชีพจำนวนมาก จะเป็นตัวเลขกี่ล้านคนขึ้นอยู่กับหลักเกณฑ์ใหม่

แนวโน้มของหลักเกณฑ์ที่จะออกมาแม้จะยังไม่มีความชัดเจน แต่จากคำชี้แจงของ อนุกูล ปีดแก้ว ปลัด พม. พอจะเห็นภาพว่า “การกำหนดหลักเกณฑ์ของ กผส. ซึ่งมีผู้ทรงคุณวุฒิ และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องพิจารณาครอบคลุมทุกมิติรอบด้าน โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดที่ประชาชนจะได้รับ ซึ่งผู้ไม่มีรายได้หรือมีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพอาจจะไม่ใช่ผู้ที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเพียงกลุ่มเดียวก็ได้ หรือเบี้ยที่ได้รับจัดสรรอาจจะไม่ใช่ 600, 700, 800 หรือ 1,000 บาท กผส.อาจจะพิจารณาปรับให้เหมาะสมกับการยังชีพ ต้องพิจารณาถึงภาระการคลังของประเทศด้วย”

สิ่งที่หลายคนตั้งคำถาม หลายคนกังวล คือ หลักเกณฑ์ใหม่โดยคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติจะไม่มีปัญหา และจะสามารถคัดกรองกลุ่มผู้สูงอายุที่ควรจะต้องได้รับเบี้ยยังชีพนี้ได้มีประสิทธิภาพ สามารถพิสูจน์ความยากจนได้จริง

Advertisement

และจะไม่มีปัญหาตกหล่นเฉกเช่นบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่คนจนตัวจริงไม่ได้รับสิทธิ

ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง ทีดีอาร์ไอ ได้แสดงความเห็นและให้ข้อเสนอแนะ ซึ่งเผยแพร่ในเว็บไซต์ทีดีอาร์ไอว่า ถ้าหลักเกณฑ์นี้ออกมาบังคับใช้จริงกระบวนการคัดกรองจะแน่ใจได้อย่างไรว่าจะไม่มีปัญหาอย่างที่เคยเป็นมาก่อนหน้าปี 2552 ไม่ว่าหลักเกณฑ์จากคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติจะออกมาอย่างไร แต่ถ้าให้พิจารณาจะมีไม่กี่ทางเลือกที่คาดว่าจะใช้ เช่น อาจจะใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐเป็นเกณฑ์ว่าคนแก่คนไหนจน แต่อย่าลืมว่าตัวบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเองก็มีปัญหาในตัวเองอยู่แล้วที่พบว่ามีคนจนตกหล่นเยอะมาก

ขณะที่แนวทางการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุนั้น ดร.สมชัยระบุว่า “แนวทางที่ชอบเป็นแนวคิดแบบลูกผสม คือ ในเรื่องของถ้วนหน้าให้คงเอาไว้ ในระดับที่ไม่สูงนัก เช่น อาจจะเป็นระดับที่ได้ในปัจจุบัน 600-1,000 บาท ผู้สูงอายุจะได้ถ้วนหน้าทุกคนแบบไม่มีการคัดกรอง ถ้าเกิดว่ากรณีที่พรรคการเมืองซึ่งมาเป็นรัฐบาลชุดใหม่ อยากจะเพิ่มงบประมาณอีกเป็นพันกว่าบาท หรือกระทั่งถึง 3,000 บาท ตามที่หาเสียงไว้ ในส่วนที่เพิ่มขึ้นตรงนี้ ให้เข้าสู่การคัดกรองได้ เพื่อให้เฉพาะคนจนมากๆ ได้รับเงินในส่วนเพิ่มนี้ไป โดยข้อดีคือจะไม่มีใครที่ตกหล่น

งบประมาณที่ต้องใช้อาจจะมากกว่าปัจจุบัน แต่ว่าจะใช้ไม่มากเท่ากับกรณีที่เป็นถ้วนหน้าในอัตราจ่ายต่อหัวที่สูง”

การปรับหลักเกณฑ์เบี้ยยังชีพคนชราจะด้วยเหตุผล ภาระงบประมาณที่สูงปีละ 5-6 หมื่นล้านบาท และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นตามสัดส่วนประชากรสูงอายุ อย่างที่ภาครัฐส่งสัญญาณมาว่าจำเป็นต้องลดภาระการคลัง หรือเหตุผลความจำเป็นอื่นๆ

นับเป็นอีกโจทย์ใหญ่ที่รอการตัดสินใจของรัฐบาลชุดใหม่ว่าจะเดินหน้าอย่างไร โดยต้องไม่กระทบสิทธิที่พึงมีของประชาชน

สุพัด ทีปะลา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image