เดินหน้าชน : มิติป่า-โลกร้อน

เดินหน้าชน : มิติป่า-โลกร้อน การเมืองยังฝุ่นตลบ ขอหลบไปพักเรื่องต้นไม้

การเมืองยังฝุ่นตลบ ขอหลบไปพักเรื่องต้นไม้และป่าเขียวๆ ให้ใจร่มๆ บ้าง
ขณะนี้ ต้นไม้และป่านั้นมีความสำคัญหลากมิติ และมีผลกระทบกว้างขวาง ครอบคลุมหลายด้าน ทั้งการดำรงชีวิตของมนุษย์ สังคม และเศรษฐกิจ
ทั่วโลกให้ความสำคัญกับภาวะโลกร้อนมากขึ้น ด้วยเพราะได้เห็นความเสียหายชัดเจนขึ้น ไม่ว่าจะภัยธรรมชาติที่สุดโต่งในประเทศต่างๆ ทั้งน้ำท่วมหนัก หรือร้อนแล้งรุนแรง
ล่าสุด ปรากฏการณ์เอลนิโญ ที่หลายฝ่ายคาดกันว่าครั้งนี้จะแล้งหนักยาวนาน กระทบชิ่งไปหลายส่วน ไม่ว่าจะวิถีการดำรงชีวิต หรือผลผลิตทางการเกษตรเสียหาย
แม้กระทั่ง การขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ เมื่อคลองปานามาแห้ง เรือสินค้าต้องลดระวางบรรทุกเพื่อแล่นผ่านไปได้ ทำให้ต้นทุนการขนส่งเพิ่ม
หลายประเทศให้ความสำคัญกับการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หนึ่งในวิธีรับมือคือ การปลูกป่า

ประเทศในตะวันออกกลาง ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นทะเลทราย เริ่มปลูกป่ามากขึ้น นำโดยซาอุดีอาระเบีย ที่ชูวิสัยทัศน์ Saudi Vision 2030 มีแผนสร้างเมืองใหม่ชื่อว่า “นีอุม” มีโครงการปลูกต้นไม้กว่า 1 หมื่นล้านต้น
อีกทั้ง จะขยายไปยังกลุ่มประเทศคาบสมุทรอาหรับ 6 ประเทศ ร่วมปลูกต้นไม้รวม 50,000 ล้านต้น
ถือเป็นโอกาสดีของไทยในการส่งออกต้นไม้ไปขายซาอุฯแล้วกว่า 2 แสนต้น สร้างรายได้ให้กับประเทศ
การปลูกป่ายังผูกโยงกับการค้าระหว่างประเทศ โดยสหภาพยุโรป (อียู) ออกมาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism: CBAM) เก็บภาษีสินค้านำเข้าที่ปล่อยคาร์บอนสูง เริ่ม 1 ตุลาคมนี้
ส่วนสหรัฐก็มีเสนอร่างกฎหมาย Clean Competition Act (CCA) เก็บภาษีคาร์บอนกับสินค้าที่กระบวนการผลิตมีการปล่อยคาร์บอนปริมาณสูงเช่นกัน
เรื่องภาวะโลกร้อน ถูกกำหนดเป็นเงื่อนไขต่างๆ มากขึ้น เพื่อบีบทั้งทางตรงและทางอ้อมให้ประเทศต่างๆ ต้องปรับตัว

สำหรับประเทศไทยนั้น ให้ความสำคัญกับการปลูกป่ามาต่อเนื่อง โดยมีนโยบายเพิ่มพื้นที่ที่สีเขียวให้ได้ 55% ทั้งป่าอนุรักษ์ ป่าเศรษฐกิจ ป่าชุมชน
โดยเฉพาะป่าชุมชนมีแล้วกว่า 1.2 แห่ง พื้นที่กว่า 6.6 ล้านไร่คาดว่าจะช่วยดูดซับก๊าซเรือนกระจกได้ราว 6.27 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า/ปี
การปลูกป่าโดยอาศัยลำพังเพียงหน่วยงานรัฐคงยากจะสำเร็จ จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือทั้งภาคเอกชนและชุมชน
บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เป็นเอกชนรายหนึ่งที่เริ่มปลูกป่ามานานร่วม 30 ปีแล้ว
ย้อนไปเมื่อปี 2537 ปตท.เริ่มปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติในหลวงรัชกาลที่ 9 จำนวน 1 ล้านไร่ โดยบรรลุเป้าหมายเมื่อปี 2545 รวม 419 แปลงใน 48 จังหวัดทั่วประเทศ

เมื่อเร็วๆ นี้ ปตท.คิกออฟโครงการ จุดพลังชีวิต พลิกผืนป่า1 ต้นกล้า สู่ป่าล้านที่ 2 ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ และชุมชน ปลูกต้นไม้ 4,500 ต้น ที่แปลงปลูกป่า เขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าวังเพลิง ป่าม่วงค่อมและป่าลำนารายณ์ จ.ลพบุรี
กำหนดเป้าหมายพื้นที่ปลูกป่ารวม 86,173 ไร่ทั่วประเทศ พร้อมขึ้นทะเบียนโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจ ตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program: T-VER)
ปตท.ตั้งเป้าปลูกป่าเพิ่มอีก 1 ล้านไร่ รวมกับบริษัทในเครืออีก 1 ล้านไร่ ภายในปี 2573 เมื่อรวมกับพื้นที่ปลูกป่า 1 ล้านไร่ก่อนหน้านี้ ทำให้พื้นที่ปลูกป่าของกลุ่ม ปตท.มีรวมกว่า 3 ล้านไร่จะช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ได้ประมาณร้อยละ 20 ของปริมาณการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกของ ปตท. ซึ่งจะมีศักยภาพในการดูดซับมากกว่า 4.15 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี ช่วยขยับไปสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายใน 2593

Advertisement

นอกจากนี้ ผืนป่าที่ฟื้นฟูกลับมา ยังเป็นแหล่งต้นน้ำ เพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับชุมชนมูลค่าหลายล้านบาทต่อปีด้วย
จะเห็นว่าป่าไม้มีความสำคัญในหลายมิติ ที่ทุกฝ่ายต้องตระหนักและร่วมมืออย่างจริงจัง เพื่อดึงความสมดุลทางธรรมชาติกับมนุษย์ไม่ให้ถ่างมากไปกว่าเดิมอีก

สราวุฒิ สิงห์เอี่ยม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image