‘โจ ไบเดน’ตกวิชาเศรษฐศาสตร์

‘โจ ไบเดน’ตกวิชาเศรษฐศาสตร์ หากมองผ่านนโยบายเศรษฐกิจของประธานาธิบดีโจ ไบเดน

หากมองผ่านนโยบายเศรษฐกิจของประธานาธิบดีโจ ไบเดน แม้เป็นวิธีการสนับสนุนอุตสาหกรรม มีผลกระตุ้นเศรษฐกิจตลาด แต่ทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้ออย่างสาหัสสากรรจ์
ไบเดนได้ชูธง “ไบเดนโนมิกส์” (Bidenomics) ทำการหาเสียงป้องกันตำแหน่งประธานาธิบดี 2024 แต่ดูเหมือนยังไม่ได้รับความนิยม อเมริกันชนกลับมีความเคลือบแคลงสงสัยถึงความเป็นไปได้
ความจริง “ไบเดนโนมิกส์” ก็มิใช่ “ไม่มีตลาด” หากดูจากปรากฏการณ์เมื่อปลายปี 2021 ก็ยังได้รับชัยชนะทางนิติบัญญัติอย่างเป็นขบวนการ อันได้แก่โครงสร้างพื้นฐาน วัสดุใช้ประกอบอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และพลังงานทดแทน
หลังจากนั้น ก็ได้ล่มหัวจมท้ายกับพรรครีพับลิกัน โดยก่อหนี้เป็นจำนวนมหาศาล น่าเชื่อว่านโยบายดังกล่าวจะต้องกระทบต่อเศรษฐกิจระยะยาวอย่างแน่นอน

“ไบเดน” มีความทะเยอทะยานอย่างสูงในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เมื่อเริ่มรับตำแหน่งจึงได้ใช้มาตรการ “เงินช่วยเหลือ” ใช้เงินถึง 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ เป็นเหตุให้เกิดภาวะเงินตึง และเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น เหตุการณ์ดังกล่าวดำรงมาเป็นเวลา 1 ปีครึ่ง กระทั่งเมื่อไม่นานมานี้ จึงได้บรรเทาลงไปบ้าง แต่อัตราการสนับสนุนของผู้ลงคะแนนได้ลดลงไปแล้ว จึงไม่เป็นประโยชน์ต่อการป้องกันตำแหน่งสมัยหน้า
“ไบเดน” กล่าวว่า เป้าหมายของ “ไบเดนโนมิกส์” คือต้องการทำให้ชนชั้นกลางเติบโตขึ้นไปโดยเริ่มตั้งแต่การสร้างถนนและอุตสาหกรรมการประดิษฐ์
สัจธรรม 1 คือ “ไบเดน” เสมือนเป็น “สาวก” ของ “ลัทธิเคนส์” ในสมัยโบราณ (เศรษฐศาสตร์แบบเคนส์) จึงใจจดใจจ่อต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจ และกระทำในขอบเขตอันกว้างใหญ่ไพศาล

อนึ่ง มาตรการ “เงินช่วยเหลือ” ของ “ไบเดน” กระทำท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจสมบูรณ์ อเมริกันชนไม่ต้องการ กรณีไม่ต่างไปจาก “ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ” ในที่สุดนำมาซึ่งปัญหาเงินเฟ้ออย่างร้อนแรงสาหัส คือ
1 เหตุการณ์ก่อนโควิดมาเยือน อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ 2
1 เมื่อปี 2022 สูงถึงร้อยละ 9.1
1 บัดนี้ลดลงตามราคาน้ำมันเหลือร้อยละ 4
1 เงินเฟ้อพื้นฐาน (Core inflation) ยังอยู่ระหว่าง 4-5
ผู้ลงคะแนนเลือกตั้งส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับมาตรการเศรษฐกิจของ “ไบเดน” เมื่อเปรียบเทียบมาตราส่วนระหว่างไม่เห็นด้วยและเห็นด้วย คือ 2 ต่อ 1
แต่ “ไบเดน” ปฏิเสธความรับผิดชอบต่อปัญหาเงินเฟ้อ โดยอ้างว่าเกิดจากตลาดแรงงานตึงตัวเป็นเหตุ
ทว่า เหตุผลรับฟังมิได้ เพราะย้อนแย้งกันในทางตรรกะ

หากย้อนมองรัฐบาลพรรครีพับลิกันในอดีต คือสนับสนุนการลดภาษีขนาดใหญ่ ผ่อนปรนระบบนิตินัย ตลอดจนขยายขอบเขตการค้าเสรี ตรรกะพื้นฐานคือ “จากบนสู่ล่าง”
ทั้งนี้ โดยใช้ระบบการลดภาษีทำการกระตุ้นการลงทุน เป็นการสร้างงานและทำให้เศรษฐกิจเติบโต
อีกรูปแบบ 1 ที่นักเศรษฐศาสตร์นิยมเรียกว่า“trickle down” คือผลประโยชน์จากบนลงสู่ชนชั้นกลาง
แต่เศรษฐศาสตร์ของ “ไบเดน” เป็นการสวนทางกัน คือแนวคิดพื้นฐานจาก “ล่างขึ้นบน”ทั้งนี้ โดยการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ชิปคอมพิวเตอร์และวิทยาศาสตร์

Advertisement

แม้บัดนี้อัตราการจ้างงานสูงขึ้น เงินเฟ้อลดลง แต่ก็ยังไม่เข้าเป้าที่ธนาคารกลางสหรัฐตั้งไว้
ต้องไม่ลืมว่า การเลือกตั้งประธานาธิบดี ถ้าจะอยู่ 2 สมัย จำเป็นต้องแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อและการตกงานให้ดำรงอยู่ในอัตราที่ต่ำ เพราะอเมริกันชนให้ความสนใจมาก จนกลายเป็นประเพณีไปแล้ว และยังเป็นเกณฑ์ตัดสินใจว่าจะเลือกผู้ใดอีกด้วย
ดังนั้น “ไบเดน” จึงต้องใช้เวลาที่เหลืออยู่แก้ไขปรับปรุงจุดอ่อนของ “ไบเดนโนมิกส์”
เพราะเท่าที่ประเมิน แม้มีทั้งมุมบวกและลบ แต่มุมลบมากกว่า จึงต้องถือว่ายัง “สอบไม่ผ่าน”
อีกประการหนึ่ง ถ้าประเด็นเงินเฟ้อและคนตกงานยังอยู่ในเกณฑ์ที่สูงเกินกำหนดที่ธนาคารกลางสหรัฐตั้งไว้ การป้องกันตำแหน่งประธานาธิบดีของ “โจ ไบเดน” คงจะมีโอกาสเลือนราง หรือไม่มีเลย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image