ผู้เขียน | เสถียร จันทิมาธร |
---|
เมื่อการศึกระหว่างเว่ยกับฉีเป็นการเผชิญหน้าระหว่างแม่ทัพผังเจี้ยนกับทัพฉีที่มีซุนปินเป็นเสนาธิการ
จึงเหมาะยิ่งที่จะใช้วลีว่า ศึกนี้ “ใหญ่หลวง”
ในฐานะที่ ประดิษฐ์ พีระมาน ศึกษารายละเอียดแค้นฝังหุ่นของผังเจี้ยนกับซุนปินตั้งแต่ศึกษาร่วมกัน ณ หุบเขาปีศาจ
จึงจัดให้เป็นตัวอย่างแห่ง “ถอยทัพ ยอดกลยุทธ์”
เป็นการถอยทัพผ่านกระบวนท่าของซุนปิน เป็นการรุกอย่างต่อเนื่องผ่านการตัดสินใจของผังเจี้ยน
ไฉนจึงฉายให้เห็นจุดเด่นแห่ง “การถอย”
ขณะที่กองทัพเว่ยบุกเข้าประชิดกำแพงเมืองเซ่งโตวอันเป็นราชธานีแคว้นหันพลันผังเจี้ยนก็ได้รับหนังสือจากเว่ยฮุ่ยอ่อง
“กองทัพฉีบุกก๊กเว่ย ถอยทัพกลับโดยเร็ว”
ผังเจี้ยนจึงถอนทัพกลับเว่ย ระหว่างทางก็ทบทวนการศึกกับแคว้นจ้าว แล้วถูกทัพฉีรุกเข้าตีเว่ยโดยซุนปินใช้ “ขบวนทัพพยุหยาตราแปดทิศ” ตั้งรับที่เมืองกุยเล้ง
แล้วบดขยี้ทัพเว่ยพ่ายแพ้ยับเยิน
แค้นนี้จึงจำเป็นต้องได้รับการชำระ โดยผังเจี้ยนแบ่งกำลังเป็น 3 กอง ทัพหน้าเป็นทหารชาญศึก 3 หมื่น เร่งเดินทัพด้วยความเร็ว 2 เท่า
ทัพหลวงยกตามมา โดยมีทัพหลังคอยระวังหลัง
ที่เร่งทัพให้รุดไปโดยเร็วเพื่อมิให้ซุนปินมีโอกาสเลือกชัยภูมิตั้ง “ขบวนทัพพยุหยาตราแปดทิศ” ได้และตั้งธงว่า
“ครานี้ฉีรนหาที่ตาย แม้จะถอยหนีกลับฉีข้าก็จะตามไปสังหารให้สิ้น”
เมื่อทัพของเว่ยไปยังแนวหน้าก็พบว่าทัพฉีได้ถอนออกจากดินแดนของเว่ยหนีกลับฉีตามความคาดหมาย
ผังเจี้ยนบัญชาให้ตาม ท่ามกลางความกระเหี้ยนกระหือรือของไพร่พล
ทางด้านของฉี กุนซือซุนปินกล่าวกับแม่ทัพเถียนจี้ “ทัพฉีจะใช้กลยุทธ์บุกเข้าเว่ย เราจะล่อให้ผังเจี้ยนนำทัพติดตาม”
“เมื่อเว่ยบุกเราต้องพิชิตทันที หาไม่แล้วทัพเว่ยจะรุกเข้าราชธานี” แม่ทัพแย้ง
ได้ฟังดังนั้นซุนปินยังยืนกลยุทธ์เดิม “ศึกครั้งนี้จะล่อให้ผังเจี้ยนบุกเข้าหุบเขาม้ามังกร ปิดล้อมสังหารผังเจี้ยนพิชิตทัพเว่ยที่มรณภูมินี้”
“ผังเจี้ยนชำนาญศึก อาจไม่ยอมนำทัพเข้าช่องเขาม้ามังกร”
“ผังเจี้ยนแม้ชำนาญศึกแต่ความแค้นจากความพ่ายแพ้ศึกครั้งก่อนทำให้เร่งเดินทัพหวังแก้คืน” นี่ย่อมเป็นการคาดการณ์อย่างรู้เท่าทันต่อตัวตนแห่งผังเจี้ยน
ถามว่าซุนปินใช้กลยุทธ์ใดในการล่อหลอก
กลยุทธ์ในระหว่างการถอยทัพก็คือ “เราจะใช้กลยุทธ์ลดเตาไฟล่อให้ผังเจี้ยนหลงคิดว่าทหารฉีหนีทัพจะได้ฮึกเหิมเร่งติดตาม”
วันแรก ให้ก่อเตาไว้ 10 หมื่น
วันที่สอง ก่อเตาไฟลดลงเหลือ 5 หมื่น
วันที่สาม คงเหลือเตาไฟเพียง 2 หมื่น
ทุกอย่างเป็นไปตามคาด เมื่อผังเจี้ยนไล่ตามแต่ละค่ายเห็นจำนวนเตาไฟลดลงจาก 10 หมื่น เป็น 5 หมื่น และ 2 หมื่น
จึงเร่งรุดติดตามหวังในการเผด็จศึกขั้นเด็ดขาด
เมื่อทัพฉีถอยถึงหุบเขาม้ามังกร ซุนปินบัญชาให้ทิ้งเสื้อเกราะและยุทโธปกรณ์
เกลื่อนกราดรายทาง
สร้างภาพให้เห็นอาการหนียะย่าย ด้วยความตกใจกลัว
ผังเจี้ยนเห็นเช่นนั้นยิ่งลิงโลดดีใจโดยหารู้ไม่ว่าซุนปินใช้กลยุทธ์ในการถอยอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 4 วัน
ลวงข้าศึกให้ติดตามเข้าสู่กับดัก
ที่เนินเขาม้ามังกรอันเป็น “จุดสังหาร” ซุนปินได้จัดวางทหารกองเกาทัณฑ์เอาไว้จำนวน 1 หมื่น ซุ่มบนเนินเขาทั้งสองด้าน
ผังเจี้ยนนำกำลังบุกเข้าทางแคบแห่งหุบเขาม้ามังกร
เมื่อทัพหน้ารายงานว่า ณ เบื้องหน้ามีตัวหนังสือเขียนไว้บนต้นไม้ ผังเจี้ยนสั่งการให้จุดไฟสว่างพลันก็พบหนังสือเขียนไว้ว่า
“ผังเจียนตายใต้ต้นไม้นี้ กุนซือซุนประกาศ”
เมื่อแสงไฟจากแต่ละชุดส่องสว่างก็เท่ากับเป็นสัญญาณ เกาทัณฑ์จากทัพฉีนับหมื่นก็ระดมยิงไปที่แสงไฟ
ทหารเว่ยถูกสังหารย่อยยับ
ผังเจี้ยนบาดเจ็บ รู้ว่าหนีไม่รอดจึงเชือดคอตนเองตาย ทัพหลังที่ติดตามมาก็ถูกปิดล้อมจนราชบุตรต้องชิงเชือดคอพลีชีพอีกราย
“ถอยทัพ ยอดยุทธ์” คือ ปรัชญาสูงสุดของการศึกสงคราม นี่ย่อมเป็นบทสรุป
กลยุทธ์เดียวกันนี้ สมศักดิ์ แต้มบุญเลิศชัย เรียกตรงกับสำนวนจีนที่ว่า “หนี เป็นดีที่สุด” จัดเป็นกลยุทธ์สุดท้าย กลยุทธ์ที่ 36
ขณะที่ บุญศักดิ์ แสงระวี สรุปว่า “หนี คือยอดกลยุทธ์”
ภายใต้ความคิดรวบยอดที่ว่า “หลบศึกทั้งทัพ ถอยหนีมิผิด เป็นวิสัยซึ่งสงคราม”
สอดรับกับอรรถาธิบายของ ประดิษฐ์ พีระมาน
ในระหว่างการสู้รบจะมีทั้งการรุกและการถอยอยู่ตลอดเวลา แม่ทัพที่เชี่ยวชาญการศึกจะสามารถพิชิตข้าศึกได้
ทั้งยาม “รุก” และยาม “ถอย”
แม่ทัพที่ชำนาญศึกจะเตรียมอุบายถอยทัพเอาไว้ก่อนการเคลื่อนทัพ จะเพื่อพลิกผันการสู้รบให้ข้าศึกพ่ายแพ้ได้ทั้งยามรุกและยามถอย
เมื่อถึงคราวจำเป็นจะต้องถอยทัพจริงข้าศึกก็ไม่กล้ารุกไล่ติดตาม
ดังที่ สมศักดิ์ แต้มบุญเลิศชัย สรุปว่า ถอนกำลังเพื่อหลบหนีคู่ต่อสู้ การรุกด้วยการถอยออกไปก่อน แล้วคอยหาโอกาสทำลายคู่ต่อสู้
ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ
ความแจ่มชัดดำเนินไปตามอนุศาสน์จาก บุญศักดิ์ แสงระวี กลยุทธ์ “หนีคือยอดกลยุทธ์” มีความหมายว่า
เมื่อรบกับข้าศึก หากข้าศึกแข็ง เราอ่อน
อาจจะถอยร่นอย่างรวดเร็วเพื่อหลบเลี่ยงการปะทะดังที่ “คัมภีร์อี้จิง แม่ทัพ” ยืนยันอย่างหนักแน่น
“ถอยหนีมิผิด เป็นวิสัยซึ่งสงคราม”
ชี้ชัดว่าการถอยหนีในการทำสงครามมิใช่ความผิดพลาด หากแต่เป็นเรื่องธรรมดาสามัญในการรบที่มักจะพบเห็นเสมอ
การถอยเช่นนี้เพื่อหลีกเลี่ยงความเสียหายในยามตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบ
และเพื่อชิงโอกาสตอบโต้ได้ในภายหลัง มิใช่ถอยหนีอย่างพ่ายแพ้หมดรูปตีโต้กลับมิได้อีก
นั่นก็คือ มิใช่ “หนียะย่าย พ่ายจะแจ”
ที่กำหนดไว้ในกลยุทธ์ที่ 36 ชี้ชัดว่าเป็นกลยุทธ์ซึ่งฝ่ายอยู่ในฐานะเลวกว่าใช้รูปแบบถอยหนีเพื่อหาโอกาสพิชิตข้าศึก
ตำราพิชัยสงคราม “ไหวหนานจื่อ ฝึกการยุทธทหาร”
กล่าวว่า “แข็งจึงสู้ อ่อนก็หนี” สอดประสานกับตำราพิชัยสงคราม “ปิงฝ่าหยวนจี่ไต้” ที่ว่า “แม่ทัพหลบ แล้วรักษาไว้ได้ก็พึงหลบ”
ใน “ซุนจื่อ(ซุนวู)บทกลยุทธ์” ก็ยืนยัน “แข็งพึงเลี่ยงเสีย”
ภายใต้สถานการณ์ที่ไม่เป็นผลดีจะต้องหลีกเลี่ยงการสู้รบขั้นแตกหักกับข้าศึกทางออกจึงมีอยู่ 3 ทาง
1 ยอมจำนน 1 เจรจาสงบศึก 1 ถอยหนี
การยอมจำนนคือการพ่ายแพ้อย่างถึงที่สุด การเจรจาคือการพ่ายแพ้ครึ่งหนึ่ง ถอยหนีอาจแปรเปลี่ยนมาเป็นชัยชนะได้
ถอยจึงเป็นการถอยเพื่อสู้