สะท้อนคิด เรียนดี มีความสุข (1)

สะท้อนคิด เรียนดี มีความสุข (1) รัฐบาลเศรษฐา 1 เสร็จสิ้นการแถลงนโยบาย

รัฐบาลเศรษฐา 1 เสร็จสิ้นการแถลงนโยบาย วันที่ 11-12 กันยายนที่ผ่านมา ถัดจากนั้นเพียงข้ามวัน พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อม นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยฯ จัดประชุมมอบนโยบายการศึกษาและแนวทางการขับเคลื่อนนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” รับลูกต่อเลยทันที

แสดงถึงการเตรียมการอย่างมีขั้นตอน วางจังหวะก้าวในการออกตัวมาล่วงหน้าแล้ว ด้วยภาพรัฐมนตรีว่าการจับมือสองข้างซ้ายขวากับนักเรียนชายสองคนในท่ากำลังจะเดินหน้าไปด้วยกัน

ว่าไปแล้วก็เป็นเรื่องปกติของการเข้ารับตำแหน่งหน้าที่สำคัญระดับเสนาบดี ย่อมต้องมีการเตรียมการต่างๆ เป็นอย่างดีเพื่อให้เกิดภาพลักษณ์ที่ดี เกิดการยอมรับ และนำไปสู่ความร่วมมือในการทำงานและความสำเร็จในที่สุด รัฐมนตรีแต่ละคนที่ผ่านมาก็ดำเนินการทำนองเดียวกัน

แต่ที่แตกต่างไปกว่าและน่าสนใจสำหรับรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการล่าสุดก็คือ แทนที่จะทำแบบเดิมๆ อย่างที่ผ่านมา เป็นการประชุมแบบปิดภายในเฉพาะฝ่ายนโยบายกับผู้บริหารฝ่ายประจำและผู้เกี่ยวข้องในวงจำกัด “ความลับของราชการ” เมื่อจบแล้วถึงค่อยสรุปมาบอกกล่าวคนนอกภายหลังเท่าที่ผู้จัดต้องการจะสื่อสาร บอกกล่าวแค่ไหน คนนอกควรรับรู้แค่นั้นพอ

Advertisement

ครั้งนี้เป็นการจัดประชุมแบบเปิด มีการถ่ายทอดสดผ่าน Facebook ให้ข้าราชการทุกระดับทุกคนที่สนใจได้รับรู้ ได้ยิน ได้ฟัง ได้เห็นภาพตลอดเวลาเกือบสองชั่วโมงเต็ม สามารถดูย้อนหลังได้อีกด้วย

ที่สำคัญ เปิดให้เด็กนักเรียน พ่อแม่ ผู้ปกครอง ประชาชนที่สนใจความเป็นไปทางการศึกษาได้รับฟัง รับชม ได้ตลอดเช่นกัน

ช่วงท้ายเปิดช่องทางให้สแกนคิวอาร์โค้ดแสดงความเห็นย้อนกลับไปได้เลยทันที ว่าสิ่งที่แถลงเข้าท่าหรือไม่แค่ไหน มีจุดเด่น จุดด้อยตรงไหนบ้างเพื่อนำไปสู่การปรับปรุงแก้ไขต่อไป

Advertisement

ครับ เริ่มย่างก้าวด้วยความเปิดเผย โปร่งใส เปิดให้เกิดการศึกษาแบบมีส่วนร่วมภายใต้ภาพใหม่การศึกษาเป็นของทุกคน ไม่ใช่การศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ เฉพาะคนในกระทรวงศึกษาธิการอย่างที่ผ่านๆ มาเท่านั้น

แนวทางปฏิบัติทำนองนี้เป็นการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมความเคยชินเดิม วัฒนธรรมอำนาจสั่งการให้เป็นวัฒนธรรมการมีส่วนร่วม สมควรจะเป็นเรื่องปกติต่อไปสำหรับทุกรัฐบาล ทุกรัฐมนตรีในอนาคต ทั้งเรื่องการเตรียมการนำเสนอ การออกตัว ทำให้เกิดความน่าสนใจติดตาม ไม่น่าเบื่อหน่ายและเนื้อหามองเห็นภาพทิศทางที่จะก้าวเดินต่อไปที่ชัดเจน

ภาพรวมของการออกตัวด้วยการพูดคุย สนทนา รับฟัง นำเสนออย่างเป็นธรรมชาติ ทำให้เห็นความเชื่อมโยงระหว่างนโยบายในระดับรัฐบาลกับระดับกระทรวงสอดประสานกันอย่างไร ตรงจุดไหน เรื่องอะไร ทั้งระดับมหภาคเชิงระบบ กับนโยบายระดับจุลภาคที่ประกาศไว้ตอนหาเสียงเลือกตั้ง

เนื้อหาสาระรายละเอียดนโยบายแต่ละเรื่อง แต่ละประเด็น อะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ จะว่ากันต่อไป

ที่ชัดเจนเป็นรูปธรรมปิดท้ายก็คือ ข้อสั่งการและแนวทางปฏิบัติ 6 ข้อ ได้แก่ 1 ให้นำนโยบายด้านการศึกษาของคณะรัฐมนตรีที่แถลงต่อรัฐสภาและนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการไปดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม (Action Plan)

2 ดำเนินการป้องกันและปราบปรามการทุจริต เช่น การบรรจุ แต่งตั้ง โยกย้าย (ห้ามซื้อ-ขายตำแหน่ง) ห้ามทุจริตการจัดซื้อจัดจ้างวัสดุครุภัณฑ์ ชุดนักเรียน อาหารกลางวัน ฯลฯ และต้องจัดซื้อจัดจ้างวัสดุครุภัณฑ์ที่มีคุณภาพ

3 น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่การปฏิบัติ

4 ให้ร่วมกันรักษาสิ่งแวดล้อมและมุ่งสู่การใช้พลังงานสะอาด

5 ส่งเสริมการอ่านอย่างเป็นกระบวนการ โดยครูต้องเป็นต้นแบบในการรักการอ่าน

6 การลงพื้นที่ตรวจราชการหรือตรวจเยี่ยม ให้เฉพาะผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องมาร่วมรับอย่างเรียบง่ายและประหยัด เช่น ไม่ต้องติดป้ายต้อนรับ ไม่มีของที่ระลึก หรือของฝาก เป็นต้น

ข้อสั่งการและแนวปฏิบัติทั้งหมดถูกป่าวประกาศอย่างเปิดเผยตรงไปตรงมา จึงไม่ใช่เรื่องเฉพาะระหว่างรัฐมนตรีกับข้าราชการภายใต้การบังคับบัญชาเท่านั้น แต่เป็นคำมั่นสัญญาประชาคม สัญญาสาธารณะที่จะต้องร่วมกันติดตามให้เกิดการปฏิบัติจริง

จบรายการเปิดใจ มีสุ้มเสียง แซวออกมาภายหลังบ้างเรื่องใส่ซองช่วยงาน 20 บาท ไม่มีก็ช่วยลงแรงล้างจาน ถือเสียว่าเป็นเรื่องปกติ พวกปากหอยปากปู ชอบด้อยค่าคนอื่น ดูถูกการใช้แรงงาน ช่วยล้างจานเสียหายตรงไหน

คนหนึ่งพูดถึงเรื่องการแสดงความมีน้ำใจ ชีวิตพอเพียง อีกฝ่ายกลับติดยึด จมไม่ลง คนใหญ่ต้องคิด พูดแต่คำใหญ่ๆ โลกาภิวัตน์ตลอด พูดจาภาษาชาวบ้านไม่ได้ เป็นเรื่องเชย ไปโน่น

ภายใต้ความเชื่อที่ว่า ถ้าผู้นำเป็นแบบอย่างที่ดี ไม่เป็นน้ำเต็มแก้วอย่างที่ให้คำมั่นไว้ อนาคตการศึกษาไทย เด็กและเยาวชนไทยน่าจะมีความหวังและมีความสุขมากขึ้น ต้องติดตาม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image