สถานีคิดเลขที่ 12 : ฮาร์ดเพาเวอร์

สถานีคิดเลขที่ 12 : ฮาร์ดเพาเวอร์ หลังเลือกตั้ง 22 พฤษภาคม 2566

หลังเลือกตั้ง 22 พฤษภาคม 2566
แม้เราได้เห็นปรากฏการณ์ “บ้านใหญ่” หลายจังหวัดถูก “ล้ม” อย่างพลิกความคาดหมาย
ทำให้มีความหวังเล็กๆ ว่า “ประชาธิปไตย”
อาจสามารถทำให้ผู้มีอิทธิพล เจ้าพ่อ ในสนามการเมือง ลดบทบาทลงได้
กระนั้น พลันที่เกิด ปรากฏการณ์ “กำนันนก” ที่นครปฐม
ทำให้สังคมตระหนักว่า ปัญหาเจ้าพ่อไม่ได้ลดน้อยถอยลง
ตรงกันข้ามกลับเกาะเกี่ยวพันลึกเข้าไปสู่กลไกพื้นฐานทั้งภาครัฐและเอกชน
“ฝี” ที่แตกออกมา ณ เมืองพระ แม้ทำให้รัฐบาลใหม่ ภายใต้การนำของนายเศรษฐา ทวีสิน ตื่นตัวจะแก้ไขปัญหาเรื่องนี้อีกครั้ง

แต่กระนั้น การตอบสนองของรัฐบาลใหม่ เป็นไปในลักษณะเพียงมอบหมายความรับผิดชอบ ตามสายงานเท่านั้น
โดยนายกรัฐมนตรี (ซึ่งว่าที่จริงก็ดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติอยู่แล้ว) มอบให้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล ไปดูแล
นายอนุทินตั้งตนเองเป็นประธานแก้ไข แต่ก็มอบหมายให้ นายชาดา ไทยเศรษฐ์ ในฐานะรองประธานดำเนินการอีกทอดหนึ่ง
โดยคงเห็นว่า ถูกฝาถูกตัว เนื่องจากนายชาดา ได้ยอมรับโดยเปิดเผยว่า เส้นทางที่ผ่านมาของตนเอง อยู่ในแวดวงเจ้าพ่อและผู้มีอิทธิพล ซึ่งแม้ปัจจุบันจะวางมือ แต่ประสบการณ์ที่มี ก็น่าจะดำเนินการปราบปรามเจ้าพ่อ-ผู้มีอิทธิพลได้
ซึ่งก็ต้องติดตามดูว่า ปฏิบัติการแบบฮาร์ดเพาเวอร์ (อดีต) เจ้าพ่อปราบเจ้าพ่อ จะประสบความสำเร็จมากน้อยเพียงใด
หรือที่สุดแล้ว ก็จะจางหายไปเหมือนในอดีต

อาจารย์เวียงรัฐ เนติโพธิ์ เคยเขียนบทความ “เจ้าพ่ออุปถัมภ์ กับรัฐอุปถัมภ์” ไว้ในวารสารสังคมศาสตร์ ปีที่ 34 ฉบับที่ 1 มกราคม-มิถุนายน 2546
มีข้อมูล และแนวคิด น่าสนใจ
อาจารย์เวียงรัฐ ให้ข้อมูลว่าพฤษภาคม 2546 รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร เคยผลักดันเรื่องนี้เป็น “วาระแห่งชาติ”
มีนโยบายประกาศรายชื่อผู้มีอิทธิพลและปราบปรามผู้มีอิทธิพลทั่วประเทศ
นายกฯทักษิณขณะนั้น ถึงกับประกาศว่า “ต่อไปนี้งานเลี้ยงบ้านข้าราชการผู้ใหญ่ขออย่าให้มีโจรมาร่วมด้วยเป็นอันขาด”
ซึ่งขอแทรกตรงนี้หน่อยว่า ปัจจุบัน หากจะมีใครประกาศบ้าง
คงต้องประกาศว่า “ต่อไปนี้งานเลี้ยงบ้านเจ้าพ่อขออย่าให้มีตำรวจ ข้าราชการไปร่วมด้วยเป็นอันขาด”
ด้วยตอนนี้ดูเหมือนว่าสถานการณ์จะแย่กว่าเดิม
นั่นคือฝ่ายราชการต้องเข้าไปซบผู้มีอิทธิพลเสียมากกว่า
ถึงได้เป็นห่วงว่า นายชาดาจะแก้ไขปัญหานี้ลุล่วงได้จริงหรือ

โดยอาจารย์เวียงรัฐ เตือนว่าปัญหาเจ้าพ่อจะแก้ไม่ได้เลย
ตราบใดที่ยังมีชาวบ้านไม่มีช่องทางเข้าถึงทรัพยากรและอำนาจ (นอกจากการลงคะแนนเสียงเพียงอย่างเดียว)
การจับเจ้าพ่อที่เข้มแข็งคนหนึ่ง ไม่ได้แปลว่าเจ้าพ่อจะหมดไป
หรือการนำเจ้าพ่อรายย่อยๆ มาจงรักภักดีกับพรรคของรัฐบาล ก็ไม่ได้แปลว่าเจ้าพ่อจะหมดไป
หากรัฐบาลจะเน้นการปราบเจ้าพ่อตัวจริง (ที่ไม่ใช่แค่เจ้าของวินมอเตอร์ไซค์) ต้องทำให้ชาวบ้านลดการพึ่งพิงเจ้าพ่อลง
นั่นหมายถึงชาวบ้านอยู่ดีกินดี มีความแตกต่างทางฐานะน้อย
สามารถพัฒนาศักยภาพของคนในระบบทุนนิยมนี้ได้อย่างเสรีซึ่งนั่นคือ รัฐสวัสดิการ
แต่ในความเป็นจริง ยังห่างไกล จากทั้งฐานะและสถานการณ์ของสังคมไทยเป็นอย่างมาก

Advertisement

อาจารย์เวียงรัฐ เขียนบทความนี้เมื่อปี 2546 มาถึงวันนี้ ยังทันสมัย
นั่นคือสังคมไทยยังไม่ได้ก้าวไปไหน
ปัญหาเจ้าพ่อ ผู้มีอิทธิพล ยังคงฝังตัวอย่างหยั่งลึก
หวังจะใช้ “ฮาร์ดเพาเวอร์” ของอดีตเจ้าพ่อ มาปราบ จะได้ผลหรือไม่
รอดูฝีมือ “ดอน ชาดา”

สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image