วิถีแห่งกลยุทธ์ : ‘รอ’ฟักตัว‘สว่าง’ ระหว่าง‘เค้น’กับ‘ปล่อย’ ตามแต่อย่าประชิด

วิถีแห่งกลยุทธ์ : ‘รอ’ฟักตัว‘สว่าง’ ระหว่าง‘เค้น’กับ‘ปล่อย’ ตามแต่อย่าประชิด

ต้นสมัยชุนชิว
เจิ้งอู่กงอภิเษกกับหญิงสาวตระกูลเจียงแห่งแคว้นเซิน และมีโอรสด้วยกัน 2 พระองค์
องค์โตนาม อู้เซิน
องค์เล็กนาม ต้วน
เจียงฮองเฮาพยายามเพ็ดทูลให้เจิ้งอู่กง พระสวามี สถาปนาองค์ชายต้วนขึ้นเป็นรัชทายาท แต่ไม่สำเร็จ
เมื่อเจิ้งอู่กงสวรรคต องค์ชายอู้เซินก็ขึ้นครองราชย์ทรงพระนาม “เจิ้งจวงกง”
พระมารดาเจียงขอร้องให้เจิ้งจวงกงยกเมืองจื้ออี้ให้องค์ชายต้วน แต่เจิ้งจวงกงไม่เห็นด้วย
“จื้ออี้มีชัยภูมิเต็มไปด้วยอันตราย ยากแก่การปกครอง ขอให้เสด็จแม่เลือกเมืองอื่นแทน เป็นเมืองใดก็ได้ยกเว้นเมืองนี้เท่านั้น”
แล้วพระมารดาเจียงขอเมืองใด

ตามเรื่องเล่าอัน “จิง ซิง แซ” แปลและเรียบเรียงไว้ใน “39 Tactics for Success อุบายเฉียบ”
พระมารดาเจียงขอเมืองจิงเฉิง
ตามความเป็นจริง จิงเฉิง เป็นราชธานี แต่เมื่อเจิ้งจ้วงกงได้ตรัสออกไปแล้วจะขอเมืองใดก็ได้ยกเว้นจื้ออี้
ก็จำต้องยกจิงเฉิงให้องค์ชายต้วน
ขณะเดียวกัน ตัวเจิ้งจ้วงกงเองก็ทรงย้าย “ราชธานี” ไปที่ใหม่ พร้อมกับยกย่ององค์ชายตัวนขึ้นเป็น
“ไท่สู” หรือ “สมเด็จพระอนุชา”
ที่เป็นเช่นนี้เพราะเจิ้งจ้วงกงตระหนักในความรักความอาทรที่พระมารดาเจียงมีต่อองค์ชายต้วน
1 เพราะประสูติยาก 1 เพราะรูปทรงองอาจสง่างาม

กล่าวสำหรับไท่สูต้วนเมื่อได้ครองเมืองจิงเฉิงก็ก่อสร้างกำแพงขึ้นสูงโดยขัดกับอนุศาสน์เดิมที่เจิ้งอู่กงบัญญัติไว้
ดังปรากฏการอ้างอิงของจี้จง เสนาบดี
กำแพงของเมืองใหญ่จะสูงเกินกว่า 1 ใน 3 ของราชธานีไม่ได้ กำแพงเมืองขนาดกลาง จะสูงเกินกว่า 1 ใน 5 ของราชธานีไม่ได้ กำแพงเมืองขนาดเล็กจะสูงเกินกว่า 1 ใน 9 ของราชธานีไม่ได้
“ขณะนี้กำแพงเมืองจิงเฉิงสูงกว่า 30 วา ไม่ต้องตามกฎระเบียบอย่างสิ้นเชิง เกรงว่าต่อไปภายหน้าอาจเป็นภัยได้”
เป็นภัยในที่นี้คือเป็นภัยต่อ “เจิ้งจวงกง”

ได้ยินข้อรายงานจากเสนาบดีจี้จงด้วยความห่วงใยเช่นนั้นยากเป็นอย่างยิ่งที่เจิ้งจวงกงจะทัดทานได้
เนื่องจาก “เจียงไทเฮาทรงหนุนหลัง”
“จะปล่อยให้ทำตามอำเภอใจของเจียงไทเฮาคงไม่ดี ฝ่าบาทน่าจะป้องกันเสียแต่เนิ่นๆ ไม่ควรปล่อยให้อำนาจของไท่สูต้วนแผ่ขยายออกไป ข้าพระองค์เกรงว่าวันหน้าจะเกิดเรื่องยุ่งยาก”
“เขาจะต้องประสบเคราะห์กรรมเข้าสักวัน เจ้ารอดูไปเถิด”

Advertisement

จากนั้นไม่นาน ไท่สูต้วนก็บีบบังคับเมืองทางเหนือและตะวันตกจิงเฉิง เข้ามาอยู่ในการปกครอง
แม่ทัพใหญ่ กงจื่อหลี กราบทูลเจิ้งจวงกงว่า
“แคว้นหนึ่งไม่อาจมีฮ่องเต้ 2 พระองค์ ฝ่าบาทมีพระประสงค์เช่นไรกันแน่ ถ้าจะยกบ้านเมืองให้ไท่สูต้วนพวกข้าพระองค์จะได้ไปถวายการรับใช้ไท่สูต้วน แต่ถ้าไม่ประสงค์ก็ขอให้ฝ่าบาทกำจัดเขาเสียเพื่อราษฎรจะได้ไม่สับสน”
“อย่าเพิ่งร้อนใจ” เจิ้งจวงกงตรัส “เขาจะต้องประสบภัยพิบัติจากสิ่งที่ทำลงไปอย่างแน่นอน”
การดำเนินไปอย่างไร

ไม่เพียงแต่ไท่สูต้วนจะยึดเอา 2 เมืองมาเป็นของตน หากแต่ยังขยายอาณาเขตจนถึงเมืองหลินเอี๋ยน
เห็นเช่นนั้น กงจื่อหลี รีบกราบทูล
“หรือว่านี่ยังไม่ถึงเวลาที่จะจัดการ พื้นที่ที่ไท่สูต้วนยึดครองนับวันยิ่งขยายกว้างขึ้น ราษฎรของเขานับวันก็ยิ่งมีมากขึ้น”
“ท่านอย่าวิตกกังวลไปเลย” เป็นดำรัสจากเจิ้งจวงกง
“เมื่อไม่มีความชอบธรรมราษฎรย่อมไม่เห็นดีเห็นงาม เขตแดนยิ่งกว้างก็ยิ่งประสบความพินาศเร็ว”
ในที่สุดเมื่อคิดว่า “พร้อม” แผนของไท่สูต้วนก็ “เผยแสดง”

ทางหนึ่ง ลอบประสานกับเจียงไทเฮา ขณะเดียวกัน ทางหนึ่ง ก็ตีขนาบเจิ้งจวงกงจากทางด้านนอกและจากทางด้านใน
ไท่สูต้วน เจียงไทเฮา อยู่ในความประมาท ชะล่าใจ
หารู้ไม่ว่าในความเยือกเย็นของเจิ้งจวงกง ได้มีการติดตามสอดแนมการเคลื่อนไหวอย่างเกาะติด
ทั้งมิได้เป็นการเกาะติดอย่างธรรมดา หากมีการเคลื่อนไหวลับๆ
เห็นได้จากเมื่อแม่ทัพใหญ่ได้รับบัญชาให้เคลื่อนทัพ การรบคืบหน้าได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากราษฎรในเมืองจิงเฉิงต่างพากันแปรพักตร์
ไท่สูต้วนต้องหนีกระเจิงไปยังเมืองเอี้ยนตี้
เจิ้งจวงกงบัญชาให้ทัพหลวงไล่ตีประชิดเมืองเอี้ยนตี้ ไล่ไท่สูต้วนพ้นจากแคว้นต้องลี้ภัยไปอยู่ที่อื่น
นี่ย่อมเป็นกลยุทธ์ “แสร้งปล่อยเพื่อจะจับ”

Advertisement

หากแปลตามสำนวนจีนอย่างเคร่งครัดในความจัดเจนของ สมศักดิ์ แต้มบุญเลิศชัย ทุกอย่างดำเนินไปในกระสวน
อวี้(อยาก) ฉิน(จับ) กู้(จงใจ) จ้ง(ปล่อย)
เพราะถ้าไปบีบรัดหรือจู่โจมคู่ต่อสู้มากเกินไปก็จะถูกต่อต้านรุนแรง แต่ถ้าทำเป็นหย่อนยาน หรือปล่อยให้เขาไป
ฝ่ายตรงข้ามก็จะไม่ระวังตัว และไม่ต่อต้านมาก
ดำเนินตามบทสรุป “จิง ซิง แซ” ที่ว่า คิดจะจัดการผู้ใดถ้ายังไม่ถึงเวลาและโอกาสที่เหมาะสมควรวางเฉยปล่อยเลยไปก่อน ให้เขาทำตามความพอใจและแสดงออกอย่างเต็มที่จะได้ก้าวไปสู่ความหายนะเร็วขึ้น
เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสมก็โจมตีทีเดียวให้อยู่หมัด
วิถีแห่ง “แสร้งปล่อยเพื่อจับ” มาจากสัจจะที่ว่า เค้นกลับสู้ ปล่อยกลับคลาย อย่างที่สำแดงใน “36 กลยุทธ์ แห่งชัยชนะ” สำนวน บุญศักดิ์ แสงระวี
ตามแต่อย่าประชิด ให้เหนื่อยในกาย ให้หน่ายในใจ
แตกแล้วจึงจับ ไพร่พลมิหลั่งเลือด รอ ฟักตัว สว่าง
เพราะถ้าบีบคั้นจนเกินไปนักสุนัขก็จักสู้อย่างจนตรอก ปล่อยข้าศึกหนีก็จักทำลายความเหิมเกริมของข้าศึกลงได้
ทว่า ต้องไล่ตามอย่าละ
เพื่อบั่นทอนกำลังของข้าศึกให้กะปลกกะเปลี้ย ครั้นเมื่อสิ้นเรี่ยวแรงใจก็มิคิดต่อสู้ด้วยแล้วจึงจับ
เป็นการรบที่ไม่เสียเลือดเนื้อ อีกทั้งยังทำให้ข้าศึกแตกสลายไปเอง

มีความจำเป็นต้องทำความเข้าใจต่อผลึกในทางความคิด “รอ ฟักตัว สว่าง” อันมีอยู่ในคัมภีร์ “อี้จิง รอ”
“รอ” หมายถึง การรอคอยอย่างอดทน
“ฟักตัว” ก็คือไก่ฟักจนเป็นลูกไก่ หมายถึง “ได้”
“สว่าง” ก็คือ แสงสว่าง หมายถึง “ชัยชนะ”
โปรดสังเกตว่าภายใน “รอ” สะท้อนรอเพื่อรับกับการ “ฟักตัว” จึงก่อให้บังเกิดความสว่างขึ้น
รออย่างเป็นฝ่ายกระทำ รอเพื่อดำเนินการรุก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image