สะท้อนคิด เรียนดี มีความสุข (2)

สะท้อนคิด เรียนดี มีความสุข (2) พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการมอบนโยบายกระทรวงศึกษาธิการแก่ข้าราชการในสังกัด โดยชูวลีหลัก “เรียนดี มีความสุข” รองรับนโยบายรัฐบาลที่นายกรัฐมนตรีแถลงไปก่อนหน้านั้น

เกิดข้อชวนคิดตามมาว่า “เรียนดี มีความสุข” เป็นเป้าหมาย หรือวิธีการ เพื่อบรรลุผลการจัดการศึกษา

ไม่ว่าจะเป็นเป้าหมาย หรือวิธีการ หรือเป็นทั้งสองอย่างไปพร้อมกันก็ตาม หนทางที่จะบรรลุเป้าหมายก็คือ รายละเอียดต่างๆ ที่แถลงต่อมาตามลำดับ ได้แก่

ลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา ประกอบด้วย 1.ปรับวิธีการประเมินวิทยฐานะครูและบุคลากรทางการศึกษา ลดขั้นตอน มุ่งผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียน 2.ครูและบุคลากรทางการศึกษาคืนถิ่น (โยกย้ายกลับภูมิลำเนาด้วยความโปร่งใส ไม่มีการซื้อขายตำแหน่ง) 3.แก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา 4.จัดหาอุปกรณ์การสอนและสวัสดิการ (1 ครู 1 Tablet)

Advertisement

ลดภาระนักเรียนและผู้ปกครอง ประกอบด้วย 1) เรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา (Anywhere Anytime ) เรียนฟรี มีงานทำ ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง รวมทั้งมีระบบหรือแพลตฟอร์มการเรียนรู้โดยผู้เรียนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา (1 นักเรียน 1 Tablet)

2) 1 อำเภอ 1 โรงเรียนคุณภาพ 3) ระบบแนะแนวการเรียน (Coaching) และเป้าหมายชีวิต 4) การจัดทำระบบวัดผลรับรองมาตรฐานวิชาชีพ (Skill Certificate) ผู้เรียนสามารถเรียนเพิ่มเพื่อรับประกาศนียบัตรในการประกอบอาชีพ 5) การจัดทำระบบวัดผลเทียบระดับการศึกษาและประเมินผลการศึกษาเพื่อให้ผู้เรียนที่มีความสามารถเป็นเลิศไม่ต้องเสียเวลาในระบบ ประหยัดเวลา ประหยัดค่าใช้จ่าย 6) มีรายได้ระหว่างเรียน จบแล้วมีงานทำ (Learn to Earn)

จากคำแถลงดังกล่าวจะพบว่านโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ล่าสุด ให้ความสำคัญกับเรื่องของ “ครู” เป็นอันดับแรก ตามด้วยการลดภาระนักเรียนและผู้ปกครอง

Advertisement

นั่นย่อมสะท้อนว่า ผู้กำหนดนโยบายเห็นว่า ครูเป็นตัวละครหลัก เป็นปัจจัยสำคัญข้อแรกที่จะนำไปสู่ความสำเร็จทางการศึกษา หรือเป็นคานงัดในการปฏิรูปการศึกษา

ซึ่งนักการศึกษาเห็นว่า การปฏิรูปการศึกษาจะสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อ เกิดการปฏิรูปที่สำคัญ 6 ด้าน นั่นคือ ปฏิรูปครู ปฏิรูปการเรียนรู้ ปฏิรูปหลักสูตร ปฏิรูปการวัดและประเมินผล ปฏิรูปการบริหารจัดการ และปฏิรูปโครงสร้างองค์กร

บทเรียนจากการปฏิรูปการศึกษาที่ผ่านมา นับตั้งแต่ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ 2542 บังคับใช้จะพบว่า การปฏิรูปโครงสร้างองค์กรเป็นภารกิจหลัก ทำให้การปฏิรูปครูและปฏิรูปด้านอื่นๆ ไม่บรรลุผลเท่าที่ควร

เมื่อผู้นำกระทรวงศึกษาธิการหยิบยกเรื่องของ “ครู” ขึ้นมาเป็นแนวทางปฏิบัติหลัก ย่อมสร้างความหวังให้กับทุกฝ่ายมากขึ้น

แต่ก็ยังมีคำถามว่า มาตรการที่นำมาใช้ 4 ข้อในเรื่องของครูนั้น มีพลังพอถึงระดับ ทำให้เกิดการปฏิรูปครูทั้งระบบหรือไม่

เมื่อปัญหาชีวิตและการทำงานของครูแต่ละบุคคลลดลงแล้ว น่าจะทำให้การปฏิบัติงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น

แต่จะถึงขั้นทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลง กระบวนการการเรียนการสอน จาก Passive Learning เป็น Active Learning แค่ไหน ยังเป็นข้อกังขา

ภายใต้ระบบและวัฒนธรรมอำนาจที่ยังดำรงอยู่ จึงทำให้เกิดข้อเสนอตลอดมาว่า หากจะปฏิรูปครูให้เห็นผลต้องดำเนินการเชิงระบบ ควบคู่กันไปทั้ง 3 เรื่อง ได้แก่ การผลิต การใช้ และการพัฒนาครู

ประเด็นการปฏิรูปเชิงระบบ นี่แหละครับ นโยบายของกระทรวงศึกษาธิการที่ประกาศมา ครอบคลุมไม่ถึง เท่าที่ควร

ส่วนนโยบายระดับรัฐบาลก็เขียนกว้างๆ แค่ว่าจะดำเนินการปฏิรูปการศึกษาและสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ ตลอดชีวิต

นั่นน่าจะเป็นเพราะว่า ขั้นตอนการผลิต เป็นบทบาทของสถาบันผลิตครู ได้แก่ มหาวิทยาลัยต่างๆ ทั้งของรัฐและเอกชน ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

ขณะที่การใช้ครู เป็นบทบาทของหน่วยงานภายใต้กระทรวงศึกษาธิการเป็นหลัก ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานการอาชีวศึกษา (สอศ.) ส่วนการพัฒนาเป็นภารกิจร่วมของหน่วยงานภายใต้ทั้งสองกระทรวง

อย่างไรก็ตาม ในขั้นตอนการใช้ครู โรงเรียนจะมีครูที่ดี มีคุณภาพแค่ไหน ย่อมเป็นผลมาจากระบบ กระบวนการผลิต การหล่อหลอม และการพัฒนาร่วมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจิตวิญญาณของความเป็นครู

หากกระบวนการทั้งสามขั้นตอน ผลิต ใช้ และพัฒนา ได้รับการปฏิรูป ไปพร้อมๆ กับการแก้ปัญหาเชิงปัจเจกบุคคล โอกาสแห่งความหวังย่อมมีมากขึ้น

เกิดการผลิต หรือสร้างครูภายใต้ระบบปิด ต้องการใช้เท่าไหร่ ผลิตเท่านั้น มีหลักประกันการมีงานทำ ลดการแข่งขันเชิงปริมาณ ทำให้ปัญหาบัณฑิตเฟ้อ ด้อยคุณภาพลดลง

กลไก กระบวนการความร่วมมือระหว่างสองกระทรวงหลักและกระทรวงอื่นที่เกี่ยวข้อง จึงควรได้รับการป่าวประกาศอย่างเป็นทางการ เป็นสัญญาประชาคม อีกครั้งหนึ่ง

ทิศทางและแนวปฏิบัติดังกล่าวนี้ ถึงจะเป็นหลักประกันว่า นโยบายเรียนดี มีความสุข ที่รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการประกาศ มีโอกาสบรรลุเป้าหมาย เกิดขึ้นจริง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image