แอฟริกากับการดำเนินนโยบายการทูตเศรษฐกิจเชิงรุกของไทย

แอฟริกากับการดำเนินนโยบายการทูตเศรษฐกิจเชิงรุกของไทย

เมื่อวันที่ 11-12 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา รัฐบาลภายใต้การนำของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี คนที่ 30 ของประเทศไทย ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เป็นที่น่าสนใจว่าหนึ่งในแนวทางการสร้างรายได้ให้กับประเทศภายใต้รัฐบาลนี้คือ “การใช้นโยบายการทูตเศรษฐกิจเชิงรุก” เพื่อนำมาเป็นหนึ่งในเครื่องมือฟื้นฟูเศรษฐกิจของไทย

โดยในคำแถลงนโยบายที่ระบุไว้ในหน้า 6 ว่า “รัฐบาลมีแนวทางที่จะสร้างรายได้ โดยการใช้นโยบายการทูตเศรษฐกิจเชิงรุกเพื่อเปิดประตูการค้าสู่ตลาดใหม่ๆ ให้สินค้าและบริการของประเทศไทย อาทิ กลุ่มสหภาพยุโรป กลุ่มประเทศในตะวันออกกลาง อินเดีย แอฟริกา อเมริกาใต้ รวมถึงการให้ความสำคัญกับตลาดเดิมที่รวมถึงประเทศบ้านใกล้เรือนเคียง…” จากคำแถลงนโยบายดังกล่าวจะเห็นได้ว่า การใช้นโยบายการทูตเศรษฐกิจเชิงรุกเพื่อเปิดประตูการค้าสู่ตลาดใหม่ๆ นี้ถูกนำกลับมาใช้อีกครั้งภายหลังที่ห่างหายไปภายใต้รัฐบาลของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี

หากมองย้อนกลับไปในอดีตที่ผ่านมาจะพบว่า นโยบายการทูตเศรษฐกิจเชิงรุก เป็นนโยบายที่ถูกนำมาใช้โดยตลอดตั้งแต่ในสมัยพรรคไทยรักไทย และนำกลับมาใช้อีกครั้งในสมัยพรรคเพื่อไทย ทั้งนี้ การกำหนดนโยบายการทูตเศรษฐกิจเชิงรุกในสมัยพรรคไทยรักไทยภายใต้การนำของ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้กำหนดนโยบายดังกล่าวมาเป็นนโยบายด้านการต่างประเทศ เพื่อริเริ่มขยายความสัมพันธ์กับประเทศยุทธศาสตร์ใหม่ๆ ที่ประเทศไทยให้ความสนใจ

Advertisement

สามารถสะท้อนผ่านคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2544 โดยส่วนหนึ่งในคำแถลงในส่วนของนโยบายด้านการต่างประเทศตอนหนึ่งได้ระบุไว้ว่า “มุ่งดำเนินนโยบายการต่างประเทศโดยเน้นการทูตเชิงรุกด้านเศรษฐกิจ ประกอบกับการทูตในด้านต่างๆ เพื่อฟื้นฟูและสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ รวมทั้งแสวงหาความร่วมมือระหว่างประเทศในทุกด้าน”

จากคำแถลงนโยบายข้างต้นสะท้อนให้เห็นว่า รัฐบาลพรรคไทยรักไทยได้ดำเนินนโยบายต่างประเทศ โดยใช้การทูตเศรษฐกิจเชิงรุก ในการสร้างความร่วมมือและความสัมพันธ์ เพื่อส่งเสริมผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของไทย

ตัวอย่างที่สำคัญได้แก่ ทวีปแอฟริกา กลายเป็นภูมิภาคที่ไทยเริ่มต้นดำเนินนโยบายการทูตเศรษฐกิจเชิงรุกและเข้าไปส่งเสริมความสัมพันธ์และการค้าระหว่างกันมากยิ่งขึ้น เพื่อลดการพึ่งพาตลาดหลักอย่าง สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น โดยมีลักษณะของการดำเนินนโยบายทางการทูตเศรษฐกิจเชิงรุกของไทยต่อแอฟริกาที่ปรากฏใน 2 ลักษณะ ได้แก่

Advertisement

(1) การเดินทางเยือนประเทศในแอฟริกาตะวันออกในระดับผู้นำอย่างเป็นทางการ ทั้งนี้ ในสมัยนายทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้เดินทางเยือนเคนยาอย่างเป็นทางการ ในปี 2548 โดยการเดินทางเยือนดังกล่าวถือว่าเป็นการเดินทางเยือนในระดับผู้นำอย่างเป็นทางการที่ไปเยือนเคนยาหรือประเทศแถบแอฟริกาเป็นครั้งแรก

(2) การเปิดสำนักงานผู้แทนทางการทูตของรัฐบาลไทยในแอฟริกาตะวันออก โดยในปี 2546 รัฐบาลไทยได้มีการผลักดันการยกฐานะ Outpost ที่กรุงอันตานานาริโว ประเทศมาดากัสการ์ เป็นสถานกงสุลใหญ่แห่งใหม่ในแอฟริกา เพื่อดูแลผู้ประกอบการไทยที่เข้าไปทำธุรกิจค้าพลอยในประเทศมาดากัสการ์

อย่างไรก็ตาม นโยบายการทูตเศรษฐกิจเชิงรุกก็ไม่ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากภายหลังเกิดการรัฐประหารเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในปี 2549 ส่งผลให้นโยบายการทูตเศรษฐกิจเชิงรุกของไทยต่อแอฟริกาชะงักงันไป รัฐบาลใหม่ที่ขึ้นมาหลังจากนั้นไม่ได้สานต่อนโยบายที่เกิดขึ้นดังกล่าว และกลับมาปรากฏชัดอีกครั้งหนึ่งในสมัยรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ภายใต้การนำของ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่เข้ามาในปี 2554 จึงได้นำนโยบายการทูตเศรษฐกิจเชิงรุก ของอดีตพรรคไทยรักไทยมาสานต่อ

โดยปรากฏให้เห็นได้จากคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีต่อรัฐสภา ในด้านต่างประเทศและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ซึ่งแถลงเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2554 โดยระบุไว้ในข้อ 7.4 ว่า “กระชับความร่วมมือและความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์กับประเทศ กลุ่มประเทศ และองค์การระหว่างประเทศที่มีบทบาทสำคัญของโลก เพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นในประเทศไทย พร้อมกับสร้างภูมิคุ้มกันและขีดความสามารถในการแข่งขันให้เศรษฐกิจไทย”

แอฟริกากลับมาเป็นเป้าหมายของนโยบายการทูตเศรษฐกิจเชิงรุกอีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้ รัฐบาลของ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้กำหนด นโยบายความริเริ่มไทย-แอฟริกา หรือ Thai-Africa Initiative เพื่อยกระดับความสัมพันธ์กับภูมิภาคแอฟริกา ทั้งในด้านเศรษฐกิจ ด้านการพัฒนา และความร่วมมือทางด้านยุทธศาสตร์ มาใช้เป็นกลไกการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างกันในช่วงดังกล่าว ซึ่งถือเป็นแนวการดำเนินนโยบายระยะยาวอย่างเป็นทางการของไทยต่อแอฟริกาเป็นครั้งแรก เพื่อยกระดับความเป็นหุ้นส่วนระหว่างกัน โดยมีเป้าหมายเพื่อเป็นเวทีสำหรับการแสวงหาแนวทางใหม่ๆ สำหรับความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจและแก้ไขสิ่งท้าทายร่วมกัน

ทั้งนี้ รัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีลักษณะของการดำเนินนโยบายทางการทูตเศรษฐกิจเชิงรุกของไทยต่อแอฟริกาคล้ายคลึงกันกับในยุคสมัยพรรคไทยรักไทย ได้แก่

(1) การเดินทางเยือนในระดับผู้นำอย่างเป็นทางการของไทยไปยังแอฟริกา โดยเดินทางไปยัง 3 ประเทศ ได้แก่ โมซัมบิก แทนซาเนีย และยูกันดา เมื่อปี 2556 ถือเป็นการเดินทางเยือนในระดับผู้นำประเทศอย่างเป็นทางการครั้งแรกใน 3 ประเทศข้างต้น เพื่อสร้างความสัมพันธ์ทางการทูตรวมถึงการเปิดตลาดไทยในแอฟริกา เนื่องจากประเทศทั้งสามเป็นกลุ่มประเทศที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจสูง โดยการเดินทางเยือนดังกล่าวยังได้นำนักธุรกิจภาคเอกชนของไทยเดินทางไปร่วมกับคณะของนายกรัฐมนตรีด้วย

(2) การผลักดันการเปิดสถานเอกอัครราชทูตไทยแห่งใหม่ในแอฟริกา โดยในการเดินทางเยือนโมซัมบิกรัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้เจรจาเพื่อขอให้รัฐบาลโมซัมบิกสนับสนุนการเปิดสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงมาปูโต เนื่องจากในช่วงดังกล่าวโมซัมบิกถือเป็นประเทศในแอฟริกาที่มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว

อย่างไรก็ตาม นโยบายการทูตเศรษฐกิจเชิงรุกของรัฐบาลเพื่อไทยก็สิ้นสุดลงเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในปี 2557 รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ได้สานต่อนโยบายดังกล่าว ดังนั้น การกลับเข้ามาเป็นผู้นำรัฐบาลอีกครั้งหนึ่งในรอบเกือบหนึ่งทศวรรษของของพรรคเพื่อไทย ภายในการนำของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี จึงเป็นเครื่องพิสูจน์ ถึงความท้าทายในการสานต่อนโยบายดังกล่าวอีกครั้ง

ที่สำคัญยังเป็นโอกาสในการนำนโยบายการทูตเศรษฐกิจเชิงรุก กลับมาเป็นแนวนโยบายสำคัญในฐานะเครื่องมือกระตุ้นเศรษฐกิจของไทยในเวทีโลก อีกทั้งยังคงต้องติดตามต่อไปว่า รัฐบาลเพื่อไทยภายใต้นายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน จะมีการดำเนินนโยบายดังกล่าวในลักษณะ หรือรูปแบบการดำเนินนโยบายอย่างไร จะผลักดันให้ไทยกลับมาเป็นประเทศผู้มีบทบาทนำในการดำเนินนโยบายการทูตเชิงรุกของภูมิภาคอาเซียนได้หรือไม่ จะมีความคล้ายคลึงกับการดำเนินนโยบายของพรรคไทยรักไทย และพรรคเพื่อไทย ในอดีตหรือไม่ รวมถึงภูมิภาคแอฟริกายังเป็นตลาดใหม่และเป็นโอกาสทางการค้าการลงทุนที่น่าสนใจของไทยอีกครั้งเหมือนในอดีตที่ผ่านมาหรือไม่

ทว่าเรื่องนี้ “มีสัญญาณบวก” จากมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดแรก เมื่อวันที่ 13 กันยายน รัฐบาลได้แต่งตั้ง นายรัศม์ ชาลีจันทร์ อดีตเอกอัครราชทูตคนแรก ที่รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แต่งตั้งให้ไปประจำ ณ กรุงมาปูโต ประเทศโมซัมบิก กลับมาช่วยงานในกระทรวงการต่างประเทศอีกครั้ง หลังเกษียณอายุราชการ

นับจากนี้จึงต้องจับตามองต่อไปว่า สุดท้ายแล้วการแต่งตั้งอดีตคนคุ้นเคยมาช่วยงานด้านการต่างประเทศรัฐบาลจะนำไปสู่การดำเนินนโยบายการทูตของไทยไปในทิศทางใด

ปรภัส แท่นธัญลักษณ์

ข้อมูลจากสารนิพนธ์เรื่อง การทูตทางเศรษฐกิจของไทยต่อแอฟริกา: กรณีศึกษาการเปิดสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงมาปูโต โมซัมบิก ของนายปรภัส แท่นธัญลักษณ์ สาขาวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image