สะพานแห่งกาลเวลา : ‘เอไอ’กับ‘ผ้าห่อศพแห่งตูริน’

สะพานแห่งกาลเวลา : ‘เอไอ’กับ‘ผ้าห่อศพแห่งตูริน’

หลายคนคงรู้จักหรือเคยได้ยินเรื่อง “ผ้าห่อศพแห่งตูริน” มาบ้างไม่มากก็น้อย ผ้าที่ว่านี้เป็นผ้าลินินผืนสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง 1.1 เมตร ยาว 4.4 เมตร ที่พิเศษก็คือ บนผ้ามีภาพจางๆ ของชายผู้หนึ่งทั้งภาพด้านหน้าและด้านหลัง

มีผู้คนจำนวนหนึ่ง โดยเฉพาะผู้ที่นับถือศาสนาคริสต์ นิกายคาทอลิก เชื่อว่า ผ้าที่ว่านี้คือ ผ้าห่อพระศพของพระเยซูแห่งนาซาเร็ธ หลังจากสิ้นพระชนม์บนกางเขน

มีคนไม่น้อยที่เชื่อกันว่า ภาพของชายที่ปรากฏลางๆ อยู่ในผ้าผืนนี้นั้น เป็นการแสดงปาฏิหาริย์ของพระเยซูให้ภาพของพระองค์จำหลักไว้ เพื่อสืบทอดให้กับผู้คนในยุคต่อๆ ไป

Advertisement
ผ้าห่อศพแห่งตูริน (Wikimedia Cvommon)

ดังนั้น ผ้าผืนนี้จึงนอกจากจะมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์แล้ว ยังมีคุณค่าในเชิงจิตใจและศรัทธา ว่าเป็นของศักดิ์สิทธิ์ซึ่งเก็บรักษาสืบทอดต่อกันมาตั้งแต่โบราณกาล

ภาพของ เซกอนโด ปิอา (Wikimedia Cvommon)

เมื่อปี 1898 ช่างภาพสมัครเล่นชาวอิตาลีชื่อ เซกอนโด ปิอา พยายามถ่ายภาพใบหน้าของชายที่ปรากฏอยู่บนผ้า เขาแปลกใจที่ว่า เมื่อนำฟิล์มมาล้าง ภาพที่ได้ในฟิล์ม แทนที่จะเป็นภาพเนกะทีฟ กลับเป็นภาพ โพสิทีฟ ของชายผู้นั้น

นั่นหมายความว่า ภาพที่จำหลักอยู่บนผ้าลินินผืนนี้เป็นภาพแบบเนกะทีฟนั่นเอง ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่น่าทึ่งไม่น้อย

Advertisement

อย่างไรก็ตาม ภาพของ เซกอนโด ปิอา ถูกยึดถือเป็นแบบอย่างลักษณะใบหน้าของพระเยซูเรื่อยมานับตั้งแต่บัดนั้น

จนกระทั่งเมื่อเร็วๆ นี้ “มิดเจอร์นีย์” บริษัทผู้ให้บริการด้านปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) เจ้าของโปรแกรมประยุกต์ใช้เอไอชื่อเดียวกัน ใช้โปรแกรมของตนเก็บข้อมูลจากผืนผ้า แล้วประมวลขึ้นเป็นภาพขึ้นมาใหม่ ให้ภาพและรายละเอียดที่ชัดเจนมากขึ้นกว่าเดิมมาก

ภาพที่มิดเจอร์นีย์ประมวลขึ้นมาเป็นภาพของชายผมยาวผู้หนึ่ง ดวงตาเบิกกว้างมองตรงไปข้างหน้า ส่วนท่อนบนของร่างกายเห็นได้ชัดเจน และสวมชุดคลุมยาวธรรมดาๆ ซึ่งพบเห็นทั่วไปในยุคนั้น

อย่างไรก็ตาม ผลงานของ มิดเจอร์นีย์ แม้จะชัดเจนจนน่าทึ่ง แต่ก็ไม่สามารถตอบคำถามสำคัญที่ถูกถามมาตลอดได้

นั่นคือ บุคคลในภาพนั้นใช่พระเยซูหรือไม่

ภาพที่ได้จากการประมวลผลของ เอไอ (Midjourny)

หรือพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ มิดเจอร์นีย์ ไม่ได้ให้ความกระจ่างต่อข้อสงสัยที่ว่า ผ้าห่อศพแห่งตูริน นี้คือผ้าห่อศพพระเยซูจริงๆ หรือเปล่า หรือเป็นผ้าที่ถูกทำขึ้นในภายหลัง เพื่อวัตถุประสงค์ประการหนึ่งประการใด

ตามที่มีบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ ผ้าห่อศพผืนนี้ปรากฏขึ้นครั้งแรกในปี 1353 โดยถูกนำมาจัดแสดงไว้ในโบสถ์แห่งหนึ่งในหมู่บ้าน ไลเรย์ ในฝรั่งเศส

ปี 1390 อาร์คบิชอป แห่งโทรเยส์ ทำหนังสือถึงองค์สันตปาปา คลีเมนต์ ที่ 7 แห่งคริสตจักรคาทอลิกว่า ผ้าดังกล่าวนี้ “ถูกทำขึ้นอย่างชาญฉลาด” เพื่อหาเงินจากผู้เชื่อถือศรัทธา แต่ก็ไม่มีการดำเนินการใดๆ จากทางพระสันตะปาปา

พอถึงปี 1453 ราชสำนักแห่งซาวอย ได้ครอบครองผ้าผืนนี้ พอถึงปี 1578 ดยุคแห่งซาวอย เป็นผู้เคลื่อนย้าย ผ้าห่อศพ ผืนนี้มายัง “วิหารแห่งผ้าศักดิ์สิทธิ์” ในเมืองตูริน ประเทศอิตาลี และอยู่ที่นี่มาจนกระทั่งถึงทุกวันนี้

มีความพยายามพิสูจน์หาข้อเท็จจริงเรื่องนี้โดยวิธีการทางวิทยาศาสตร์มาหลายครั้ง รวมทั้งการใช้กรรมวิธีระบุอายุด้วยคาร์บอน (radiocarbon dating) ในปี 1988 ที่ได้ผลลัพธ์ว่า ผ้าห่อศพนี้ทำขึ้นในช่วงยุคกลางในยุโรป ซึ่งอยู่หลังจากยุคของพระเยซูอยู่มาก

กระนั้น ผลลัพธ์ดังกล่าวก็มีช่องโหว่ให้โต้แย้ง และที่สำคัญที่สุดก็คือ ยังไม่มีใครอธิบายได้แน่ชัดว่า ถ้าทำขึ้น คนทำใช้วิธีไหนทำให้ภาพไปปรากฏอยู่บนผ้าได้เช่นนั้น

“ผ้าห่อศพแห่งตูริน” จึงยังคงเป็นปริศนาลึกลับอยู่ต่อไป แม้ในยุคของเอไออย่างยุคนี้ก็ตามที

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image