วิถีแห่งกลยุทธ์ : ศึก ใต้บัลลังก์ ปล่อย ‘ศร’ ซ้าย ขวา เล่ห์ ซ่อน เหลี่ยม

วิถีแห่งกลยุทธ์ : ศึก ใต้บัลลังก์ ปล่อย ‘ศร’ ซ้าย ขวา เล่ห์ ซ่อน เหลี่ยม

หุ่ยตี้แห่งราชวงศ์จิ้น แม้จะอยู่ในตระกูล “ซือหม่า” แต่เมื่อครองราชย์สมบัติสืบต่อจาก “ซือหม่าเอี๋ยน” ผู้บิดา
ก็ได้ชื่อในเวลาต่อมาว่า “ฮ่องเต้ ผู้โง่เขลา”
“จัง ซิง แซ” ให้อรรถาธิบายว่า 1 เป็นคนเบาปัญญา ไร้ความสามารถ 1 ได้ขึ้นเป็นฮ่องเต้ก็ด้วยอาศัยแผนการร้ายของพระสนมเจี่ยหนานเฟิ่ง
แผนการ “ร้าย” อย่างไร ต้อง “ติดตาม”
เมื่อซือหม่าจงได้รับการสถาปนาเป็น “จิ้นหุ่ยตี้”ก็ถึงเวลาที่เจี่ยหนานเฟิ่งทะยานขึ้นเป็นฮองเฮา
คุณสมบัติโดยพื้นฐานของเจี่ยหนานเฟิ่งเป็นเช่นใด
ตอบได้เลยว่า โดยกมลสันดานเป็นคนเหี้ยมโหด ทั้งขี้อิจฉา มากด้วยความริษยา มีความทะเยอทะยานอยากเป็นใหญ่
ทั้งหมดนี้คือ “พลังขับ” ในเชิง “เร้ากระตุ้น”

เจี่ยฮองเฮาลอบสมคบกับซือหม่าเหวย โอรสองค์ที่ 5 ของซือหม่าเอี๋ยน วางแผนก่อการร้ายอย่างเป็นขั้นตอน
เริ่มจาก ราชครู “หยางจิ้น”
ทั้งยังอ้างราชโองการหุ่ยตี้ปลดหยางไทเฮาลงเป็นสามัญชน สั่งการให้ซือหม่าเหวยลอบสังหาร ซือหม่าเลี่ยง และเว่ยก้วน
คนแรกเพิ่งรับตำแหน่งเป็น “อัครเสนาบดี” คนหลังเป็น “หัวหน้าราชองครักษ์”
ยังไม่พอ ยังหันทวนหวนกลับมาสั่งประหารซือหม่าเหวยโทษฐานสังหาร
ซือหม่าเลี่ยง และ เว่ยก้วน โดยพลการ
เสร็จสรรพก็รวบรัด “กุม” ทุกขุมข่ายในราชสำนักอยู่ในมือ

เวลาผ่านไปภายใต้อำนาจอันเบ็ดเสร็จ องค์ชายรัชทายาทเติบโตเป็นผู้ใหญ่ท่ามกลางการขยายอำนาจของฮองเฮาเจี่ย
จุดอ่อนของรัชทายาทอยู่ที่มิได้เป็นโอรสเจี่ยฮองเฮา
ยิ่งองค์รัชทายาทเติบใหญ่ ความไม่พอพระทัยต่ออำนาจบาตรใหญ่ของเจี่ยฮองเฮายิ่งเพิ่มพูน
นี่คือจุดแห่งความขัดแย้ง
เป็นความขัดแย้งที่ยังใช้ “วิธีการ” เดิมในการจัดการ คือ 1 ปลดรัชทายาทเป็นสามัญชน 1 สังหารสนมเซียซึ่งเป็นพระมารดารัชทายาท
ผลไม่เป็นดังเดิม กลับสร้างความไม่พอใจในลักษณะขยายตัว

ลักษณะขยายตัวเห็นได้จากความไม่พอใจกลายเป็นความเคียดแค้น ชิงชัง ที่สำคัญก็คือเกิดขึ้นในเหล่าขุนนางในราชสำนัก
นำไปสู่การวางแผนในลักษณะ “สมคบคิด”
นั่นก็คือ ซือหม่าเหยา หัวหน้าองครักษ์ฝ่ายขวาร่วมกับ ตูสวีเชา จงหลางซืออี และขุนนางอีกจำนวนหนึ่ง
เป้าหมายเพื่อปลดเจี่ยฮองเฮา คืนฐานันดรแก่องค์รัชทายาท
จากการวิเคราะห์พวกเขาเห็นว่า หากไม่สามารถดึง “ซือหม่าหลุน” (บุตรคนที่ 9 ของซือหม่าอี้” มาเป็นพวกก็ยากที่จะทำการได้สำเร็จ
เพราะซือหม่าหลุนเป็นผู้กุม “กำลังทหาร”
แม้ซือหม่าหลุนจะเป็นฝ่ายเดียวกับเจี่ยฮองเฮา แต่จุดอ่อนอย่างสำคัญเป็นคนละโมบ โลภมาก
ประเมินว่าหากเอา “ผลประโยชน์” มาหลอกล่อก็อาจ “สำเร็จ”

Advertisement

ซือหม่าหยาจึงเข้าหาซุนซิ่ว คนสนิทของซือหม่าหลุนขอให้ช่วยเกลี้ยกล่อมให้เห็นชอบกับแผนการฟื้นคืนฐานันดรศักดิ์แด่องค์รัชทายาท
ผลในเบื้องต้นซือหม่าหลุนเห็นชอบด้วย
การเหมือนจะง่ายแต่กลับไม่ง่ายขณะที่การเปลี่ยนแปลงกำลังบังเกิดซุ่นซิ่วก็ได้กล่าวกับซือหม่าหลุน
“องค์ชายรัชทายาทเป็นคนฉลาด ห้าวหาญ
ถ้าได้กลับวังหลวงย่อมไม่ยอมให้ใครบงการได้โดยง่าย ใต้เท้าเองแต่ไหนแต่ไรมาก็ได้รับความไว้วางพระทัยจากเจี่ยฮองเฮาให้รับหน้าที่สำคัญ
นี่เป็นเรื่องที่ทุกคนต่างรู้ดี
ตอนนี้ถ้าช่วยองค์รัชทายาท ทรยศเจี่ยฮองเฮา แม้จะสร้างผลงานยิ่งใหญ่แต่อย่างมากก็ถูกมองว่าเป็นการทำความชอบเพื่อลบล้างความผิด ไม่มีทางได้รับความไว้วางพระทัยจากองค์รัชทายาท หรือได้รับมอบหมายหน้าที่สำคัญอย่างแน่นอน
ดีไม่ดี ยังจะหลีกเลี่ยงความผิดที่เคยทำไม่ได้ด้วยซ้ำ”

ข้อเสนอจากซุ่นซิ่วท้าทายอย่างยิ่ง ร้อนแรงอย่างยิ่ง เป็นความร้อนแรงที่มีความแหลมคมเพราะชี้ปัญหาและเสนอทางออกไว้ครบครัน
หลังคำถามว่า “ข้าควรจะทำอย่างไร” คำตอบก็ตามมา
“ใต้เท้าน่าจะนำเรื่องที่ซือหม่าหยาวางแผนจะรับองค์รัชทายาทกลับวังหลวงไปกราบทูลให้เจี่ยฮองเฮาทราบ
เจี่ยฮองเฮาจะต้องชิงสังหารองค์รัชทายาทก่อนเป็นแน่
ถึงตอนนั้นใต้เท้าค่อยไปจัดการเจี่ยฮองเฮาโดยอ้างว่าเป็นการแก้แค้นให้องค์รัชทายาท
ยิงศรพร้อมกันทั้งซ้ายขวา
ทั้งอาศัยเจี่ยฮองเฮากำจัดรัชทายาท ทั้งกำจัดเจี่ยฮองเฮาอย่างชอบด้วยเหตุผล”
เป็นที่สบอารมณ์ซือหม่าหลุนอย่างยิ่งยวด

ด้านหนึ่ง ซุ่นซิ่วส่งคนไปกราบทูลต่อเจี่ยฮองเฮาว่า ซือหม่าหยาและพวกมีแผนการอย่างไร
ด้านหนึ่ง กำชับอย่างหนักแน่นให้รีบชิงลงมือก่อน
เมื่อเป็นรายงานอันมาจากซุ่นซิ่ว ซึ่งเป็นคนสนิทของซือหม่าหลุนย่อมมีน้ำหนัก เท่ากับซือหม่าหลุนรายงานเอง
ทุกอย่างเป็นไปตามความคาดหมาย
เจี่ยฮองเฮาปลอมพระราชโองการจิ้นหุ่ยตี้มีพระบัญชาให้องค์รัชทายาทดื่มยาพิษฆ่าตัวตาย
นี่ย่อมเป็นโอกาสอันเหมาะงามของซื่อหม่าหลุน
ซื่อหม่าหลุน ซุ่นซิ่ว พร้อมกำลังทหาร ยกกำลังเข้าวังหลวงอ้างว่าเพื่อทำการแก้แค้นให้องค์รัชทายาท
ปลดเจี่ยฮองเฮาลงเป็นสามัญชน
จากนั้น สังหารบริวารเจี่ยฮองเฮาเรียบ บังคับจิ้นหุ่ยตี้ให้มีพระราชโองการแต่งตั้งตนเป็น“อัครเสนาบดี”
ผลก็คือ จิ้นหุ่ยตี้อยู่ในฐานะเป็น “หุ่นเชิด”
นี่ย่อมเป็นกระบวนท่าเดียวกันกับที่ “ซือหม่าอี้” เคยทำมาแล้วกับกษัตริย์ราชวงศ์วุ่ย เพียงแต่ตอนนั้นเป้าหมายคือพวกตระกูล “เฉา” (โจว)
แต่ครานี้เป็น “ซือหม่า” ด้วยกัน
“จัง ซิง แซ” จึงสรุปอย่างรวบรัดว่า “ยุทธวิธียิงศรทั้งซ้ายขวา” มีประสิทธิภาพคล้ายกับยุทธวิธียิงปืนนัดเดียวได้นก 2 ตัว
แต่รูปแบบอาจจะแตกต่างอยู่บ้าง
นั่นก็คือ ไม่ใช่การยิงปืนนัดเดียวแล้วถูกนก 2 ตัว หากแต่กระทำอย่างเดียวได้ผล 2 อย่าง
ยิงซ้ายที ยิงขวาที ยิงถูกทั้ง 2 ข้าง

Advertisement

ทั้งหมดล้วนบังเกิดขึ้นภายใต้ราชบัลลังก์แห่ง “จิ้นหุ่ยตี้” เป็นเรื่องของคนเจ้าเล่ห์ 2 กลุ่มเผชิญหน้ากัน
ภายใต้อำนาจที่ไม่มีอำนาจแห่ง “ฮ่องเต้”
ภายใต้เหลี่ยมเล่ห์ เพทุบายของเจี่ยฮองเฮา ก็ตกจากบัลลังก์ภายใต้เหลี่ยมเล่ห์ของซือหม่าหลุน
ดาบย่อมตายด้วยดาบ เหลี่ยมย่อมสูญสิ้นด้วยเล่ห์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image