สะท้อนคิด เรียนดี มีความสุข (3)

สะท้อนคิด เรียนดี มีความสุข (3) คําแถลงในวันประชุมมอบนโยบาย

คําแถลงในวันประชุมมอบนโยบายและข้อสั่งการของ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กับข้าราชการในสังกัด นอกจากแนวทางลดภาระครู นักเรียนและผู้ปกครอง จะเป็นประเด็นหลักแล้ว

ยังยืนยันที่จะดำเนินการตามคำประกาศในการหาเสียงเลือกตั้งของพรรคร่วมรัฐบาล ได้แก่ 1 นักเรียน 1 Tablet, 1 ครู 1 Tablet, 1 อำเภอ 1 โรงเรียนคุณภาพ, จัดทำระบบวัดผลรับรองมาตรฐานวิชาชีพ มีรายได้ระหว่างเรียน จบแล้วมีงานทำ

ไม่ผิดคำพูด ว่างั้นเถอะ

แต่ประเด็นที่ยังไม่ชัดก็คือ การกระจายอำนาจทางการศึกษา โรงเรียนเป็นนิติบุคคล จะผลักดันต่อไปอย่างไร หรือไม่ รวมถึงจุดยืนต่อร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ซึ่งเป็นข้อเสนอของคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) ตั้งแต่ปี 2562 รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และรัฐสภา ทำไม่สำเร็จ

Advertisement

นั่นย่อมแปลความได้สามแนวทาง 1.ไม่แตะต้อง ปล่อยให้เป็นไปตามโครงสร้างเดิม ตาม พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 2.ปัดฝุ่นฉบับที่รัฐบาลที่แล้วเสนอแต่ไม่ผ่านขึ้นมาใหม่ 3.ยกร่างใหม่โดยมีกระบวนการมีส่วนร่วมให้มากขึ้น ยังไม่มีใครให้คำตอบแน่นอนในเรื่องนี้ว่าจะเดินแนวทางไหน

สิ่งที่ปรากฏออกมาจึงสะท้อนการสงวนท่าที ไม่พยายามที่จะแตะต้องเรื่องโครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการ รวมถึงประเด็นปัญหาที่สืบเนื่องมาจากคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 19/2560 ว่าด้วยบทบาท อำนาจหน้าที่ ความสัมพันธ์ระหว่างศึกษาธิการจังหวัด กับผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา

แม้จะมีการออกพระราชบัญญัติแก้ไขปรับปรุงโดย ส.ส.ในสภาสมัยที่แล้วก็ตาม ช่วงว่างระหว่างสองหน่วยงานนี้ยังดำรงอยู่

Advertisement

แนวทางของรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ จึงเน้นเรื่องครู นักเรียน และผู้ปกครอง เพราะมองเห็นภาพชัด มีโอกาสเห็นผลมากกว่าทำเรื่องโครงสร้าง ซึ่งกระทบอำนาจและผลประโยชน์คน ก่อปัญหาความขัดแย้ง ต่อต้าน

ขณะเดียวกันไม่กล่าวถึงประเด็นปัญหาโรงเรียนขนาดเล็ก การเงินเพิ่มพิเศษให้กับครูโรงเรียนพื้นที่ห่างไกล หลักสูตรการศึกษาพื้นฐาน พ.ศ.2551 ซึ่งล่าสุดสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ยืนยันข้อเสนอต้องปรับเป็นหลักสูตรฐานสมรรถนะ เน้นสร้างทักษะต่างๆ แก่ผู้เรียน นอกจากทักษะทางวิชาการ

ครับ ฟังคำแถลงทั้งของนายกรัฐมนตรีต่อรัฐสภาและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ “เรียนดี มีความสุข” แล้ว อดย้อนกลับไปดูข้อเสนอของ กอปศ.ไม่ได้

กอปศ.เสนอรายงานต่อรัฐบาลหลังเสร็จสิ้นภารกิจ 2 ปี เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2562 รวม 8 ข้อได้แก่ 1.สร้างความตระหนักในสังคมทุกภาคส่วนให้เห็นถึงความจำเป็นที่ต้องปฏิรูปการศึกษาและให้เห็นความสำคัญของการมีส่วนร่วม 2.ผลักดันให้เกิดคณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติซึ่งเป็นกลไกหลัก และให้มีสำนักกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติตลอดจนองค์ประกอบต่างๆ ที่ต้องเร่งดำเนินการ 3.ปรับปรุงระบบการศึกษา โครงสร้างของ ศธ. ตามแนวทางและเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติและแผนปฏิรูปประเทศ

4.ให้กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาดำเนินการให้มีประสิทธิภาพ เกิดผล ลดและแก้ไขความเหลื่อมล้ำ โดยจัดสรรงบประมาณที่เพียงพอ 5.ให้เน้นการปรับเปลี่ยนโรงเรียนในระบบการศึกษาให้เกิดประสิทธิผล สร้างผู้เรียนที่มีคุณภาพในระดับสากล เชี่ยวชาญได้ตามความถนัดของตัวเอง 6.เร่งรัดพัฒนาเด็กปฐมวัยตาม พ.ร.บ.การพัฒนาเด็กปฐมวัย โดยดูแลเรื่องมาตรฐานและบุคคลที่จะมาดูแลเด็กโดยเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

7.ให้ทุกภาคส่วนของสังคมตระหนักและมีส่วนร่วมในการปฏิรูปการศึกษาโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ปกครอง ชุมชน ส่งเสริมเจตคติและค่านิยมที่ดีในสังคม เพราะคุณภาพที่แท้จริงของการศึกษาไม่ใช่ใบปริญญา หรือใบรับรอง อีกทั้งการศึกษาไม่ใช่หน้าที่ของรัฐทั้งหมด แต่เป็นหน้าที่ของทุกคนที่จะมีส่วนร่วม 8.ข้อเสนอต่อสื่อมวลชนในการมีบทบาทเพิ่มความรู้ ความเข้าใจ เพิ่มเจตคติที่ดีแก่สังคม ดูแลไม่ให้เกิดผลลบความรุนแรง

ต่อมาคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาจนจบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ พ.ศ.2565 กำหนดกิจกรรมเร่งด่วนสำคัญที่ต้องดำเนินการ 1.สร้างโอกาสและความเสมอภาคทางการศึกษาตั้งแต่ระดับปฐมวัย 2.พัฒนาการจัดการเรียนการสอนสู่การเรียนรู้ฐานสมรรถนะเพื่อตอบสนองการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 3.การปฏิรูปกลไกและระบบการผลิตและพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาให้มีคุณภาพมาตรฐาน 4.การจัดอาชีวศึกษาระบบทวิภาคีและระบบอื่นๆ ที่เน้นการฝึกปฏิบัติอย่างเต็มรูปแบบ นำไปสู่การจ้างงานและการสร้างคน 5.การปฏิรูปบทบาทการวิจัยและระบบธรรมาภิบาลของสถาบันอุดมศึกษา เพื่อสนับสนนุนการพัฒนาประเทศออกจากกับดักรายได้ปานกลางอย่างยั่งยืน

อ่านเทียบเคียงกันแล้ว คงช่วยทำให้มองเห็นทิศทางการบริหารการศึกษาไทยในช่วง 4 ปีต่อจากนี้ไปชัดขึ้น ก่อนติดตามว่าความเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นระดับไหน

การศึกษาจะหลุดพ้นจากความทุกข์ กลายเป็นความสุข ทั้งผู้เรียน ผู้สอน พ่อแม่ผู้ปกครอง หรือไม่ ขณะผู้มีอำนาจทั้งหลายได้อำนาจและบทบาท ผ่านการเจรจาต่อรอง จัดสรรเก้าอี้กันไปเรียบร้อยแล้ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image