สะพานแห่งกาลเวลา : ทรัพยากรในอวกาศ

สะพานแห่งกาลเวลา : ทรัพยากรในอวกาศ เมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

เมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา มีการประชุม “โต๊ะกลม” เชิงวิชาการที่น่าสนใจอย่างมาก จัดขึ้นที่โคโลราโด สคูล ออฟ ไมนส์ (Colorado School of Mines) หรือวิทยาลัยการเหมืองแร่แห่งโคโลราโด ในเมืองโกลเดน รัฐโคโลราโด สหรัฐอเมริกา

การประชุมดังกล่าวนี้มีผู้เข้าร่วมราว 250 คน นำเสนอแนวคิดและวิธีการในแง่มุมต่างๆ เพื่อการใช้ประโยชน์จาก “ทรัพยากรในห้วงอวกาศ” กันเป็นการเฉพาะ

หัวข้อมีตั้งแต่เรื่องโมเดลทางด้านเศรษฐศาสตร์ของการทำเหมืองในอวกาศ เรื่อยไปจนถึงผลลัพธ์จากการทดลองศึกษาวิจัยในห้องปฏิบัติการที่เกี่ยวข้อง และแง่มุมในเชิงนโยบายกับกฎหมายที่พัวพันไปถึงอีกต่างหาก

คำว่า “ในห้วงอวกาศ” นั้นในชั้นต้นนี้ถูกจำกัดไว้ที่ “ดวงจันทร์” เป็นการจำเพาะ เพราะใกล้โลกที่สุดและมนุษย์เรามีองค์ความรู้เพียงพอต่อการเดินทางไปแล้วกลับมายังโลกที่เป็นบ้านได้สบายๆ

Advertisement

เป้าหมายที่จะใช้ประโยชน์จากองค์ความรู้ดังกล่าวก็คือ ทำอย่างไรถึงจะนำเอาทรัพยากรที่มีบนดวงจันทร์มาใช้ประโยชน์ได้ เริ่มต้นจากการใช้มันเพื่อประโยชน์บนดวงจันทร์ก่อนเป็นลำดับแรก ซึ่งถูกเรียกขานให้เข้าใจกันง่ายๆ กระชับๆ ว่า “in-situ resource utilization” หรือ “ISRU”

“ไอเอสอาร์ยู” นั้นเกี่ยวข้องกับการสกัดออกซิเจน, น้ำ จากดวงจันทร์ รวมไปถึงแร่ธาตุวัสดุต่างๆ ที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ เช่น ทำเชื้อเพลิงจรวด หรือใช้เพื่อผลิต “อากาศ” สำหรับการใช้ชีวิตของมนุษย์บนดวงจันทร์ แล้วจึงค่อยขยายไปเป็นการสร้างที่พักอาศัย และฐานปล่อยจรวด เป็นอาทิ

งานประชุมดังกล่าวนี้นอกจากจะแสดงให้เห็นว่า สิ่งซึ่งครั้งหนึ่งเคยยึดถือกันว่าเป็น “นิยาย” หรือ “เรื่องเพ้อฝัน” ตอนนี้กำลัง “เข้าใกล้ความเป็นจริง” มากขึ้นทุกที

Advertisement

แองเกล อับบุด-มาดริด ผู้อำนวยการศูนย์เพื่อศึกษาทรัพยากรอวกาศของวิทยาลัยแห่งนี้ ระบุว่า ที่เป็นเช่นนั้นเพราะเกิดการแข่งขันกันขึ้นมากลายเป็นแรงกดดันระดับนานาชาติ ผลักดันให้แนวทางนี้รุดหน้า ใกล้ความจริงมากขึ้นเรื่อยๆ

ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นก็คือมีภาคเอกชนเข้ามาเกี่ยวข้องในเชิงธุรกิจมากขึ้นทุกทีจนกลายเป็นแรงผลักดันสำคัญและใหญ่หลวงที่สุดในเวลานี้

ที่เห็นชัดเจนที่สุดในเวลานี้ก็คือ การทำงานร่วมกันระหว่างองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (นาซา) กับกลุ่มบริษัทสัญชาติอเมริกันจำนวนหนึ่ง ภายใต้โครงการที่เรียกว่า “โครงการบริการสัมภาระสู่ดวงจันทร์เชิงพาณิชย์” (the Commercial Lunar Payload Services-CLPS program) เรียกสั้นๆ ว่า “ซีแอลพีเอส”

พูดอีกอย่างหนึ่งได้ว่า “ซีแอลพีเอส” คือการถ่ายทอดองค์ความรู้, ประสบการณ์ และความเชี่ยวชาญจากภาครัฐสู่ภาคเอกชน เพื่อเป้าหมายในการนำเอาดวงจันทร์มาใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์นั่นเอง

หนึ่งในบริษัทต่างๆ ภายใต้โครงการซีแอลพีเอสก็คือ “อินทูอิทีฟ แมชีนส์” (Intuitive Machines หรือ IM) ซึ่งเป็นผู้ให้บริการเชิงพาณิชย์เพื่อการ “เข้าถึง” ดวงจันทร์ ทั้งเพื่อวิทยาศาสตร์และเพื่อการสำรวจอื่นๆ

ไอเอ็มพัฒนายานสำหรับรับ-ส่ง สัมภาระขนาดเล็กขึ้นมา เรียกว่า “โนวา-ซี แลนเดอร์” เพื่อให้บริการ “นำส่ง” สัมภาระสู่พื้นผิวดวงจันทร์ โดยเตรียมให้บริการครั้งปฐมฤกษ์ต่อนาซาด้วยการจัดส่งสัมภาระสู่ขั้วใต้ของดวงจันทร์ในอีกไม่ช้าไม่นาน

นอกจากนั้นแล้ว ไอเอ็มยังให้บริการยานสำรวจเคลื่อนที่ เรียกว่า “ไมโคร โนวา” ซึ่งจริงๆ ก็คือโดรนที่มีเครื่องยนต์ขับเคลื่อน ออกแบบมาสำหรับการสำรวจในพื้นที่กว้าง และพื้นที่ซึ่งยานโรเวอร์เข้าไม่ถึงเช่น หลุมอุกกาบาตบนดวงจันทร์ หรือพื้นที่ที่อยู่ในเงามืดถาวรบนดวงจันทร์ เป็นต้น

เบน บัสซีย์ หัวหน้าคณะนักวิทยาศาสตร์ของไอเอ็ม และเป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่อง “น้ำแข็ง” บนดวงจันทร์ เชื่อว่าการทำเหมืองหรืออะไรก็แล้วแต่บนดวงจันทร์ต้องเริ่มต้นจากสิ่งง่ายๆ แต่สำคัญก่อนเป็นลำดับแรก เช่น การสกัดเอาออกซิเจน หรือน้ำออกมาจากผิวชั้นนอกสุดของดวงจันทร์

เรารู้ว่าน้ำแข็งมีบนดวงจันทร์ แต่เราต้องทดลองจนรู้ให้ได้ว่าเราจะสามารถสกัดมันออกมได้อย่างไร คุ้มค่าในเชิงพาณิชย์หรือไม่ ถึงจะบอกได้ว่าน้ำแข็งบนดวงจันทร์เป็นทรัพยากรล้ำค่าได้หรือเปล่า เพราะถ้าสกัดไม่ได้ หรือยากจนต้องใช้ต้นทุนสูงเกินไป น้ำแข็งที่มีก็ไร้ประโยชน์

บัสซีย์ชี้ว่า มนุษย์จำเป็นต้องมี “สถานี” เพื่อการสำรวจดวงจันทร์ ในทำนองเดียวกับที่สหรัฐมีสถานีเพื่อการสำรวจขั้วโลกใต้ที่เรียกว่า สถานี “แมคเมอร์โด” ที่แอนตาร์กติก

เมื่อมี “แมคเมอร์โด” บนดวงจันทร์ได้ เราถึงสามารถเปลี่ยนดวงจันทร์ให้เป็นสถานี “แมคเมอร์โด” เพื่อการสำรวจอวกาศต่อไปได้นั่นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image