เดินหน้าชน : ภาคปชช.-ร่างรธน.

เดินหน้าชน : ภาคปชช.-ร่างรธน. 10 ตุลาคมนี้ เป็นครั้งแรกของการนัดประชุม

10 ตุลาคมนี้ เป็นครั้งแรกของการนัดประชุมคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560
ตามคำสั่งของ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 3 ตุลาคม 2566
ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯและ รมว.พาณิชย์จะนั่งหัวโต๊ะ ในฐานะประธานคณะกรรมการ
พร้อมกรรมการจากภาคส่วนต่างๆ รวมทั้งสิ้น 35 คน
แต่ส่วนใหญ่เป็นคนของพรรคเพื่อไทย

แต่มีข้อน่าสังเกตว่า
หนึ่ง วัตถุประสงค์หลักของการดำเนินการเรื่องนี้คือ เพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญ
หนึ่ง การจัดให้มีการลงประชามติเพื่อสอบถามประชาชนว่า “ประชาชนประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่” ตามที่ศาล รธน.เคยวินิจฉัยเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2564 จะไม่สามารถดำเนินการได้โดยฉับไว เพราะในคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการของเศรษฐาในข้อแรกกำหนดอำนาจหน้าที่ไว้ว่า พิจารณาศึกษาแนวทางในการจัดทำประชามติ
หนึ่ง ภูมิธรรมให้สัมภาษณ์ว่าจะใช้เวลาราว 3-4 ปี ถึงจะแล้วเสร็จ ซึ่งแปลว่า การดำเนินการจะไปสิ้นสุดตลอดอายุของสภาผู้แทนฯ คือ 13 พฤษภาคม 2570

หากนับตั้งแต่ช่วงนี้ก็เหลือเวลาอีกประมาณ 3 ปีครึ่ง เพราะนับแต่เลือกตั้งก็ผ่านมาแล้วเกือบ 6 เดือน
การเลือกตั้งครั้งต่อไปที่อยากให้เกิดขึ้นโดยเร็ว คงจะเป็นไปไม่ได้ เนื่องจากยังมีขั้นตอนการจัดทำประชามติหลังสภาร่าง รธน.จัดทำเสร็จแล้วว่าจะเห็นชอบร่าง รธน.หรือไม่?
อีกทั้งการจัดทำกฎหมายประกอบ รธน. โดยรัฐสภา เพื่อให้สอดรับกับ รธน.ฉบับใหม่ ซึ่งต้องใช้เวลา

ในเมื่อคณะกรรมการศึกษาแนวทางในการจัดทำประชามติฯ ไม่มีภาคประชาชนเข้ามาร่วม
ภาคประชาชนเองก็ควรจะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดำเนินการคู่ขนานกันไปกับชุดของรัฐบาล
ให้มีจำนวน 35 คนเท่ากับของรัฐบาล
นอกจากมีตัวแทนขององค์กรภาคประชาชนแล้ว ก็ควรมีภาคส่วนอื่นๆ
และบุคคลที่มีจุดยืนประชาธิปไตย เป็นที่ยอมรับของสังคม
โดยเฉพาะนักวิชาการ นักศึกษา ที่เคยมีบทบาทในการปฏิเสธ รธน.ฉบับ คสช.มาร่วมอยู่ในคณะกรรมการชุดนี้
กำหนดอำนาจหน้าที่ให้ชัดเจนว่ามีภารกิจอะไร กระบวนการทำงาน ระยะเวลา การระดมทุน การเปิด
รับฟังความคิดเห็น การสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน ฯลฯ

Advertisement

ถ้าขับเคลื่อนเช่นนี้ จะทำให้คณะกรรมการชุด “ภูมิธรรม” จะถ่วงเวลาไม่ได้
ที่สำคัญการยอมประนีประนอมกับฝ่าย “อำนาจ” และกลุ่ม “ผลประโยชน์” จนส่งผลกระทบต่อ รธน.ที่ไม่เป็นประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์ ก็คงไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เพราะกระแสสังคม “จับจ้อง” และจะแสดงท่าทีคัดค้าน
อย่าลืมว่าเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม ที่ผ่านมา 40 องค์กรประชาธิปไตยและภาคประชาชนได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้มีการแก้ รธน.2560
โดยการยกร่างฉบับใหม่โดยสภาร่าง รธน.

นอกจากนี้ “ไอลอว์” ก็จัด “แคมเปญ” ล่ารายชื่อประชาชนเขียนใหม่ทั้งฉบับ เลือกตั้ง 100% เสนอคำถามประชามติต่อคณะรัฐมนตรีเศรษฐา ซึ่งรวบรวมรายชื่อได้ 200,000-300,000 คน
การเคลื่อนไหวขององค์กรประชาธิปไตยและภาคประชาชนที่มีพลัง มีความชอบธรรม จะสามารถส่งผลสะเทือนและต่อรองกับฝ่ายการเมืองได้!?!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image