เดินหน้าชน : ถอดฟืนจากกองไฟ

เดินหน้าชน : ถอดฟืนจากกองไฟ ท่าทีพรรคก้าวไกลยื่นร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)

ท่าทีพรรคก้าวไกลยื่นร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรมแก่บุคคลซึ่งได้กระทำความผิดอันเนื่องมาจากการเหตุการณ์ขัดแย้งทางการเมือง พ.ศ. … โดย นายชัยธวัช ตุลาธน ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) อ้างถึงความขัดแย้งทางการเมืองในรอบเกือบ 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ตั้งแต่การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ครั้งแรกเมื่อ 11 ก.พ.2549 ซึ่งลุกลามบานปลายจนเกิดรัฐประหาร 19 ก.ย.2549 โดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) และเกิดรัฐประหารซ้ำเมื่อ 22 พ.ค.2557 โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีประชาชนจำนวนมากเข้าไปมีส่วนร่วมในการชุมนุมและการแสดงออกในรูปแบบต่างๆ ทำให้หลายพันคนถูกดำเนินคดีตั้งแต่คดีเล็กๆ น้อยๆ ไปถึงคดีที่มีข้อกล่าวหาร้ายแรง หรือคดีความมั่นคง และเป็นการยากที่สังคมไทยจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติสุข เกิดความสามัคคีกัน

พรรคก้าวไกลต้องการให้สังคมกลับมาเริ่มต้นกันใหม่จำเป็นต้องยุตินิติสงครามต่อประชาชน ให้ประชาชนที่เคยแสดงออกทางการเมือง โดยมีมูลเหตุความขัดแย้งทางการเมืองในช่วงเวลาดังกล่าวได้หลุดพ้นจากการดำเนินคดี การนิรโทษกรรมเป็นหนทางที่จะถอดฟืนออกจากกองไฟ ยุตินิติสงคราม เพื่อเป็นก้าวแรกในการสร้างความยุติธรรมและปรองดองอย่างยั่งยืนในสังคมต่อไป

โดยคาดหวังว่าจะเป็น “หมุดหมายในการคืนชีวิตใหม่ให้แก่ประชาชน”

ทั้งนี้ บุคคลที่เข้าข่ายได้รับอานิสงส์นิรโทษกรรม คือ แกนนำและแนวร่วมชุมนุมทางการเมืองกลุ่มสำคัญๆ อาทิ กลุ่ม พธม. (ชุมนุมปี 2549) กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. (ชุมนุมปี 2552-2553) กลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ กปปส. (ชุมนุมปี 2556-2557) ขบวนการนักศึกษาและประชาชนฝ่ายต่อต้าน คสช. (ชุมนุมปี 2557-2562) และ กลุ่มคณะราษฎร/ราษฎร (ชุมนุมปี 2563-2564) ฯลฯ

Advertisement

การนิรโทษกรรมจะไม่ครอบคลุม 3 เงื่อนไข คือ 1.บรรดาเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สลายการชุมนุม ไม่ว่าจะได้กระทำการในฐานะเป็นผู้สั่งการหรือผู้ปฏิบัติการ 2.หากเป็นการกระทำเกินสมควรแก่เหตุ การกระทำผิดต่อชีวิตตามประมวลกฎหมายอาญา เว้นแต่เป็นการกระทำโดยประมาท และ 3.การกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 (คดีกบฏล้มล้างหรือเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ, คดีล้มล้างอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ, คดีแบ่งแยกการปกครอง)

ดังนั้น กลุ่มบุคคลที่ส่อว่าจะไม่เข้าเกณฑ์ คือ เจ้าหน้าที่รัฐโดยเฉพาะทหาร ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงเมื่อปี 2553 และมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 92 ศพ แต่ไม่มีเจ้าหน้าที่รัฐถูกดำเนินคดีใดๆ จนนักวิชาการเรียกขานว่า “อภิสิทธิ์ปลอดพ้นความผิด” หรือ “วัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด”

โดยใช้กลไก “คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดการกระทำความผิดเพื่อการนิรโทษกรรม” 9 คน ซึ่งประธานรัฐสภาเป็นผู้แต่งตั้ง ประกอบด้วย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ผู้นำฝ่ายค้านในสภา บุคคลที่ได้รับเลือกโดย ครม. บุคคลที่ได้รับเลือกโดยที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร 2 คน ผู้พิพากษา/อดีตผู้พิพากษาในศาลยุติธรรมซึ่งได้รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ตุลาการ/อดีตตุลาการศาลปกครองซึ่งได้รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด พนักงาน/อดีตพนักงานอัยการซึ่งได้รับเลือกโดยคณะกรรมการอัยการและเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร

Advertisement

ขณะที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยคดีมาตรา 112 จะเข้าเงื่อนไขหรือไม่ ก็อยู่ในการวินิจฉัยของคณะกรรมการชุดนี้

ซึ่งภายหลังเหตุการณ์ 6 ต.ค.2519 รัฐบาลได้ทำให้เป็นเงื่อนไขสำคัญที่นำไปสู่การคลี่คลายความขัดแย้ง ด้วยการออกคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 66/23 เพื่อนิรโทษกรรมให้กับคนที่ใช้อาวุธลุกขึ้นสู้กับเจ้าหน้าที่รัฐ และมีส่วนทำให้เจ้าหน้าที่รัฐเสียชีวิตจำนวนมาก เรายังสามารถเปิดให้กับคนที่กระทำผิดร้ายแรงเข้าสู่สังคม พูดคุย และร่วมใช้ชีวิตปกติในสังคมอีกครั้ง

“ตอนที่นิรโทษกรรมให้กับเหตุการณ์ 6 ตุลา ก็เป็นเรื่องความผิดมาตรา 112 เป็นหลัก และยังมีคดีกบฏล้มล้างการปกครอง เปิดให้คนที่เข้าร่วมต่อสู้ด้วยอาวุธ เราสามารถที่จะอภัยเพื่อทำให้การเมืองไทยเดินหน้าไปได้ จึงคิดว่าหากไม่มีอคติจนเกินไป ทุกฝ่ายควรจะร่วมกัน”

บรรดา ส.ส. ส.ว. คนสีเสื้อต่างๆ ถ้าเปิดใจให้กว้างน่าจะเห็นทางออกได้

ขนาดวันนี้ยังมีรัฐบาลข้ามขั้วเข้ามาบริหารประเทศ ก็ควรจะเลิกคิดเล็กคิดน้อยกันได้แล้ว

พันธศักดิ์ รักพงษ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image