ครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี อาเซียน 66

ครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี อาเซียน 66 วันอังคารที่ 17 ตุลาคมนี้

วันอังคารที่ 17 ตุลาคมนี้ ประเทศไทยจะมีงานพิธีสำคัญทางด้านการศึกษาอีกครั้งหนึ่งผู้สนใจความเป็นไปด้านการศึกษาไทยและนานาชาติน่าติดตามอย่างยิ่ง คือพิธีพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ครั้งที่ 5 ปี 2566 จัดที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กทม. สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยถ่ายทอดสดตั้งแต่ 08.30 น.

รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีเป็นรางวัลนานาชาติที่จัดมอบให้แก่ครูผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงในชีวิตลูกศิษย์และมีคุณูปการต่อวงการศึกษาในประเทศอาเซียน และติมอร์-เลสเต รวม 11 คน ทุกๆ 2 ปี

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานรางวัลแก่ครูที่ได้รับรางวัลปีนี้ ได้แก่ ครูโมฮัมหมัด อาเมียร์ อิรวาน บิน ฮาจิมุกซิน เนการาบรูไนดารุสซาลาม, ครูเฮ ชาคริยาราชอาณาจักรกัมพูชา, ครูฮาริสดายานิ สาธารณรัฐอินโดนีเซีย, ครูกีมเฟือง เฮืองมะนี สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว, ครูไซฟุลนิซาน เจ๊ะ อิสมาอิล มาเลเซีย, ครูดอว์ เอ ซู วิน สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา, ครูเจอร์วิน โอ. วาเลนเซียสาธารณรัฐฟิลิปปินส์, ครูชอง หลวน เพนนี สาธารณรัฐสิงคโปร์, ครูฟิโลมีนา ดา คอสตา สาธารณรัฐประชาธิปไตยติมอร์-เลสเต, ครูเหงียน หมั่น หุ่ง สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม และครูนิวัฒน์ เงินงามมีสุข ประเทศไทย

ครูนิวัฒน์เป็นครูศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา แม่ฟ้าหลวง (ศศช.) บ้านมอโก้คี อ.ท่าสองยาง จ.ตาก และทำหน้าที่ครูนิเทศก์ ใน 5 ศูนย์การเรียน และห้องเรียนสาขาที่บ้านมอโก้ใหม่ อ.ท่าสองยาง โดยจัดการศึกษาให้กับประชาชนทุกกลุ่มวัยในชุมชน ทั้งการศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อส่งเสริมการรู้หนังสือ การพัฒนาอาชีพ คุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม โดยใช้เวทีประชาคมหมู่บ้านทำให้เกิดการเรียนรู้ในชุมชนเพื่อแก้ปัญหายาเสพติด ลดการปลูกพืชเชิงเดี่ยว ลดการทำลายป่า ส่งเสริมการปลูกกาแฟครบวงจรและพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ รวมถึงทักษะชีวิตที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต

Advertisement

ครูนิวัฒน์อุทิศทั้งชีวิตของการเป็นครูบนดอยสูงมากกว่า 21 ปี และบุกเบิกศูนย์การเรียนรู้ชุมชนชาวไทยภูเขา แม่ฟ้าหลวง 5 แห่ง ซึ่งแต่ละศูนย์อยู่ห่างกัน 7-10 กิโลเมตร ด้วยความมุ่งมั่นว่าอยากตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน โดยให้ความรู้ที่จะติดตัวนักเรียนไปตลอดจนหมดลมหายใจ

สำหรับประเทศไทย มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรียังพิจารณามอบรางวัลคุณากร จำนวน 2 ราย คือ ครูอุดร สายสิงห์ ครูผู้เป็นที่รักและศรัทธายิ่งของศิษย์ผู้ปกครองและชุมชน ปฏิบัติหน้าที่ ณ โรงเรียนบ้านโกตาบารู อ.รามัน จ.ยะลา และครูสมเกียรติ แซ่เต็ง ครูยุคใหม่ผู้สร้างคุณภาพการศึกษาเพื่อการรักถิ่น เน้นความมีตัวตนและความสำเร็จของเด็กทุกคน ปฏิบัติหน้าที่ ณ โรงเรียนเขาน้อยวิทยาคม อ.เมือง จ.ตราด

ช่วงบ่ายวันเดียวกัน มีการนำเสนอผลงานของครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีปี 2566 แบ่งเป็น 5 กลุ่ม 5 หัวข้อให้เลือกเข้าร่วมได้ตามความสนใจ ได้แก่ กลุ่ม 1 Special Education-Inclusive Education for visually impaired โดยครูสิงคโปร์ กลุ่ม 2 English Language Making Learning Fun and Interactive โดยครูบรูไน อินโดนีเซีย และเมียนมา กลุ่ม 3 Mathematics Integrating Math to Daily live โดยครูกัมพูชา มาเลเซียและฟิลิปปินส์ กลุ่ม 4 School Management โดยครูลาว และเวียดนาม กลุ่ม 5 Community Engagement-Improving quality of lives โดยครูไทย และติมอร์-เลสเต

Advertisement

งานพิธีนี้นอกจากเป็นโอกาสที่จะร่วมแสดงความชื่นชมยินดีกับครูผู้มีคุณสมบัติของความเป็นครูด้วยชีวิตและจิตวิญญาณผ่านการคัดเลือกกลั่นกรองจากกระทรวงศึกษาธิการของทุกประเทศแล้ว เป็นโอกาสดีที่จะได้รับฟังแนวคิด ประสบการณ์ของครูทุกคน

ที่นำมาเล่าถ่ายทอดเป็นเบื้องต้นเพื่อประมวลอย่างเป็นระบบโดยละเอียด ถอดบทเรียนการทำหน้าที่และการดำเนินชีวิตเพื่อศิษย์ เพื่อสังคม มาแลกเปลี่ยนกันต่อไปในการประชุมวิชาการภายหลังรับรางวัลแล้วหนึ่งปี โดยมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีเป็นองค์กรดำเนินการ ทั้งก่อนการพระราชทานรางวัลและกิจกรรมต่อเนื่องหลังจากนั้น

สร้างเครือข่ายความร่วมมือทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ ระหว่างครู ระหว่างสถานศึกษา ร่วมกันดำเนินโครงการต่างๆ เพื่อดึงเอาความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ ความคิดและแนวปฏิบัติของครูทุกคนออกมาแบ่งปันบทเรียนแก่ครูคนอื่นๆ พัฒนาครูและพัฒนาการศึกษาของประเทศให้ก้าวรุดหน้ายิ่งขึ้น

อาทิ โครงการขยายผลศักยภาพครูมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีสู่การพัฒนาเด็กและเยาวชนด้อยโอกาส, โครงการครูไทยพบครูเทศ, โครงการส่งเสริมและพัฒนาการสะกด พูด อ่าน เขียนภาษาไทยเพื่อเด็กในถิ่นทุรกันดาร ตามพระราชดำริในสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, โครงการ Online activity among school ฯลฯ

ครับ ตัวอย่างโครงการความร่วมมือเหล่านี้ล้วนมีประโยชน์ต่อการพัฒนาการศึกษาเพื่อพัฒนาคนของทุกประเทศ ยกระดับคุณภาพ ลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ ขาดโอกาสทางการศึกษา และคุณภาพชีวิตของเด็กและเยาชน

การพิจารณารางวัลครั้งต่อไป ปี 2568 ได้เพิ่มประเทศเพื่อเสนอชื่อครูเข้ารับพระราชทานรางวัลอีก 3 ประเทศ ได้แก่ บังกลาเทศ ภูฏาน และมองโกเลีย สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีโครงการตามพระราชดำริด้านการศึกษาในประเทศเหล่านี้และที่อื่นๆ อีกหลายแห่ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image