คนต่างด้าวในอเมริกา 2566 (2)

คนต่างด้าวในอเมริกา 2566 (2)

คนต่างด้าวในอเมริกา 2566 (2)

ครั้งที่แล้วผู้เขียนได้เกริ่นเรื่องคนต่างด้าวไว้บ้างแล้ว แต่เรื่องของคนต่างด้าวในอเมริกายังมีอีกมากซึ่งมีผู้อ่านถามไปหลายคำถาม จึงขอตอบเท่าที่จะทำได้ เพราะเรื่องคนต่างด้าวในอเมริกานี่ประวัติศาสตร์ถอยกลับไปจาก 2566 มันยาว

ต่อไปนี้เป็นการตอบคำถามที่ผู้อ่านส่วนใหญ่ถาม

สหรัฐอเมริกาเริ่มเก็บข้อมูลคนต่างด้าวอย่างเป็นทางการตั้งแต่ พ.ศ.2393 หรือเมื่อ 173 ปีมาแล้ว โดยการทำสำมะโนประชากร ตอนนั้นพบว่ามีคนต่างด้าว 2.2 ล้านคน คิดเป็นเกือบร้อยละ 10 ของประชากร 23 ล้านคน

Advertisement

10 ปีต่อมา ในปี 2403 สัดส่วนคนต่างด้าวเพิ่มเป็นร้อยละ 13 ในปี 2433 เพิ่มเป็นร้อยละ 14.8 และในเวลา 60 ปีต่อมา (พ.ศ.2463) เพิ่มเป็นร้อยละ 15 โดยคนต่างด้าวส่วนใหญ่อพยพมาจากยุโรป ในปี 2464 และ 2467 จึงมีการออกกฎหมายจำกัดจำนวนผู้พำนักอาศัยถาวร (permanent immigrants ซึ่งคล้ายกับ “คนต่างด้าวตลอดชีพ” ของไทยแต่รายละเอียดต่างกันและของไทยขอยากมาก) ให้เฉพาะผู้ที่อพยพมาจากยุโรปตอนเหนือและยุโรปตะวันออก

จนกระทั่งเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (The Great Depression) ในปี 2472 ควบกับสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เริ่มในปี 2482 ทำให้คนต่างด้าวที่มาใหม่จากทางตะวันออกของอเมริกาลดลงอย่างวูบวาบ สัดส่วนคนต่างด้าวลดลงเหลือร้อยละ 4.7 (หรือ 9.6 ล้านคนจากประชากรในอเมริกา 203 ล้านคน) ในปี 2513

จ ากนั้นมา จำนวนและสัดส่วนคนต่างด้าวในอเมริกาก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วโดยส่วนใหญ่มาจากลาตินอเมริกาและเอเชียเนื่องจากการปรับแก้กฎหมายคนเข้าเมืองของอเมริกา เช่น กฎหมายคนเข้าเมืองและสัญชาติ ค.ศ.1965 ซึ่งยกเลิกการกำหนดโควต้าตามประเทศต้นทาง การจัดตั้งโครงการผู้ลี้ภัยอย่างเป็นทางการด้วยกฎหมายผู้ลี้ภัย ค.ศ.1980 และการให้สิทธิพิเศษแก่ผู้อพยพจากคิวบาช่วงสงครามเย็น (หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ถึง 2534) นอกจากนั้นแล้ว ปัจจัยอื่นๆ คือ การขยายเศรษฐกิจและการทหารของอเมริกาไปเอเชียและลาตินอเมริกา รวมทั้งความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและสังคมของอเมริกากับประเทศเพื่อนบ้านทางตอนใต้ของอเมริกา ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและปัญหาความวุ่นวายทางการเมืองในประเทศต่างๆ ทั่วโลก (ลาตินอเมริกามีประมาณ 30 ประเทศทางตอนใต้ของอเมริกา เช่น เม็กซิโก คิวบา ปานามา และประเทศในทวีปอเมริกาใต้ เช่น เวเนซุเอลา บราซิล เปรู อาร์เจนตินา โคลอมเบีย โบลิเวีย ชิลี เอกวาดอร์ ซึ่งใช้ ภาษา สเปน โปรตุเกส และฝรั่งเศส เนื่องจากส่วนใหญ่เคยเป็นเมืองขึ้นของ 3 ประเทศนักล่าอาณานิคมในสมัยก่อน)

Advertisement

ณ 2566 คนต่างด้าวในอเมริกามาจากไหนมากที่สุด? กลุ่มที่ใหญ่สุดคือพวกเม็กซิกัน ซึ่งนักเรียนไทยหรือคนไทยในอเมริกาจะเรียกว่าไอ้แม็กซ์ที่มีอยู่ถึงร้อยละ 24 ของคนต่างด้าวในอเมริกา หรือประมาณ 12 ล้านคน ลดลงจาก 15 ล้านคนเมื่อปี 2543 อันดับต่อมาคือ อินเดียกับจีน (รวมฮ่องกงและมาเก๊า แต่ไม่รวมไต้หวัน) ซึ่งมีอยู่ร้อยละ 6 และ 5 ของคนต่างด้าว (3 ล้าน และ 2.6 ล้านคน) รองลงมาคือ ฟิลิปปินส์ (2 ล้านคน) เอลซัลวาดอร์ เวียดนาม คิวบา และโดมินิกัน (ประเทศละ 1.5 ล้านคน) (ในอเมริกามีคนไทย 314,531 คน แต่ไม่ใช่คนต่างด้าวทั้งหมด เพราะรวมนักศึกษา (5 พันคน) ข้าราชการ พระสงฆ์ และเอกชนจำนวนหนึ่งด้วย)

ใ นแง่ของเชื้อชาติ ตามสำมะโนประชากรของอเมริกา พบว่า ในปี 2564 ร้อยละ 27 ของคนต่างด้าวเป็นคนเอเชีย ร้อยละ 21 เป็นคนผิวขาว ร้อยละ 9 เป็นคนผิวดำ ร้อยละ 44 ของคนต่างด้าว (20 ล้านคน) มีเชื้อสายลาติน หรือฮิสแปนิก(ฮิสแปนิกเป็นประเทศที่พูดภาษาสเปน ขณะที่ลาตินรวมพวกที่ใช้ภาษาโปรตุเกสและฝรั่งเศสด้วย) นอกจากที่เป็นคนต่างด้าวแล้ว คนฮิสแปนิกในอเมริกาอีก 43 ล้านคน เป็นพวกที่เกิดในอเมริกาและมีสัญชาติอเมริกัน

คนต่างด้าวในอเมริกาอยู่มานานเท่าใด ร้อยละ 48 หรือ 24.5 ล้านคนอยู่มาเกิน 20 ปี (ในจำนวนนี้ร้อยละ 30 หรือ 10 ล้านคน อยู่มาเกิน 30 ปี)

คนที่เกิดในอเมริกาจากพ่อแม่คนต่างด้าวมีจำนวนถึง 37 ล้านคน พวกนี้ได้สัญชาติอเมริกัน

คนต่างด้าวในอเมริกาครึ่งหนึ่งอายุไม่เกิน 46 ปี ซึ่งสูงกว่าคนอเมริกันที่ครึ่งหนึ่งอายุไม่เกิน 36.5 ปี ทั้งนี้ เนื่องจากคนต่างด้าวที่อพยพเข้ามาจะเป็นผู้ใหญ่ (ร้อยละ 78 ของคนต่างด้าวอายุ 18-64 ปี และร้อยละ 17 อายุ 65 ปีหรือแก่กว่า) ในขณะที่ลูกคนต่างด้าวที่เกิดในอเมริกาจะถูกนับเข้าเป็นคนสัญชาติอเมริกันจึงทำให้ค่ากลางของอายุคนสัญชาติอเมริกันต่ำลง

คนต่างด้าวร้อยละ 52 เป็นเพศหญิง

พูดถึงภาษาที่คนต่างด้าวใช้ที่บ้าน คนในอเมริกาทั่วไป (อายุ 5 ปี ขึ้นไป) ร้อยละ 78 (246 ล้านคน) ใช้ภาษาอังกฤษ ที่เหลือใช้ภาษาอื่นโดยร้อยละ 61 ใช้ภาษาสเปน รองลงมาคือภาษาจีน (รวมแมนดารินและกวางตุ้ง) ตากาล็อก เวียดนาม อาหรับ ฝรั่งเศส และเกาหลี ประมาณร้อยละ 46 ของคนต่างด้าวอายุ 5 ปีขึ้นไป มีความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษอย่างจำกัด (Limited English Proficient: LEP)

ร ะดับการศึกษาของคนต่างด้าวในอเมริกา น่าสนใจเพราะเป็นส่วนหนึ่งของคุณภาพคนต่างด้าว ปัจจุบัน ร้อยละ 34 (13.6 ล้านคน) ของคนต่างด้าวอายุ 25 ปีขึ้นไป มีปริญญาตรีหรือสูงกว่า ซึ่งถือว่าเป็นอัตราที่ใกล้เคียงกับคนอเมริกัน แต่คนต่างด้าวที่เข้ามาใหม่จะมีการศึกษาสูงกว่าโดยร้อยละ 47 ของคนต่างด้าวที่เข้ามาระหว่างปี 2560-2564 มีการศึกษาระดับปริญญาตรีเป็นอย่างน้อย

แต่ระดับการศึกษาดังกล่าวขึ้นอยู่กับประเทศต้นทาง ร้อยละ 80 ของพวกที่มาจากอินเดียจบมหาวิทยาลัย สูงกว่าพวกที่มาจากประเทศอื่น รองลงมาที่ผู้เข้าเมืองจบมหาวิทยาลัย ได้แก่ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ร้อยละ78) ซาอุดีอาระเบีย (ร้อยละ 77) ไต้หวัน (ร้อยละ 73) บัลแกเรีย ฝรั่งเศส และสิงคโปร์ (ร้อยละ 67 ในแต่ละประเทศ)

คนต่างด้าวส่วนใหญ่ไปอยู่รัฐไหน? รัฐที่มีคนต่างด้าวมากที่สุด คือ แคลิฟอร์เนีย (10.5 ล้านคน) เท็กซัส (5.1 ล้านคน) ฟลอริดา (4.5 ล้านคน) นิวยอร์ก (4.4 ล้านคน) และนิวเจอร์ซี (2.1 ล้านคน) แต่ในช่วง 2553-2564 รัฐที่มีคนต่างด้าวเข้าไปใหม่สูงสุด 6 รัฐ คือ ฟลอริดา (9.5 แสน) เท็กซัส (9.5 แสน) แคลิฟอร์เนีย (3 แสน) นิวเจอร์ซี (2.9 แสน) วอชิงตัน (2.6 แสน) และแมสซาชูเซตส์ (2.4 แสน)

แต่ถ้าดูจากสัดส่วนคนต่างด้าวต่อประชากรรัฐ แคลิฟอร์เนียมีสัดส่วนสูงที่สุด (ร้อยละ 27) ตามด้วยนิวเจอร์ซี (ร้อยละ 23) นิวยอร์ก (ร้อยละ 22) ฟลอริดา (ร้อยละ 21) ฮาวาย (ร้อยละ 19) และเนวาดา (ร้อยละ 18)

คนต่างด้าวที่เป็นแรงงานมีจำนวน 28.6 ล้านคน (จากคนต่างด้าว 50.6 ล้านคน) คิดเป็นร้อยละ 17 ของแรงงานในอเมริกา ซึ่งสัดส่วนนี้เพิ่มขึ้น 3 เท่า จากปี 2513 ซึ่งตอนนั้นแรงงานต่างด้าวมีเพียงร้อยละ 5 ของแรงงานในอเมริกา

แรงงานต่างด้าวทำงานอะไร? ส่วนใหญ่ (ร้อยละ 37) ทำงานระดับผู้จัดการ นักวิชาชีพ และผู้บริหารธุรกิจ รองลงมา ทำงานภาคบริการ (ร้อยละ 21) พนักงานขายและสำนักงาน (ร้อยละ 15) การผลิตและการขนส่ง (ร้อยละ 15) และก่อสร้าง ซ่อมบำรุงและทรัพยากรธรรมชาติ (ร้อยละ 12)

รายได้ของคนต่างด้าวคล้ายกับคนอเมริกันส่วนใหญ่ โดยครอบครัวคนต่างด้าวมีรายได้ประมาณปีละ 2.5 ล้านคน (1US$ = 36 บาท) แต่ร้อยละ 14 ของครอบครัวคนต่างด้าวยังจน คือมีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน (ครอบครัวที่มีลูก 2 คน) ของอเมริกา 9.9 แสนบาทต่อปี หรือเดือนละ 8.2 หมื่นบาท เทียบกับคนอเมริกันที่ร้อยละ 13 มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน

ก่อนจบตอนนี้ ไม่พูดถึงผู้ถือกรีนการ์ดคงไม่ได้ ผู้ถือกรีนการ์ดมีชื่อเรียกเป็นทางการว่า “ผู้พำนักอาศัยถาวรโดยชอบด้วยกฎหมาย (lawful permanent residents หรือ LPRs)” ปัจจุบันการขอรับกรีน
การ์ดมี 4 วิธี คือ ความสัมพันธ์ทางครอบครัว (กับพลเมืองอเมริกัน หรือคนถือกรีนการ์ดเดิม) การรับรองการทำงานจากนายจ้าง/การลงทุน การคุ้มครองทางมนุษยธรรม (สำหรับผู้ลี้ภัยและผู้ขอลี้ภัย) และลอตเตอรี่วีซ่า (Diversity Visa (DV)) หรือกรีนการ์ดลอตเตอรี่ ซึ่งจำนวนผู้ได้รับกรีนการ์ดใหม่จะถูกกำหนดในแต่ละปี โดยในปี 2564 มีผู้ได้รับกรีน
การ์ด 7.4 แสนคน ร้อยละ 52 เป็นญาติโดยตรงของพลเมืองอเมริกัน รองลงมาร้อยละ 5 มีความสัมพันธ์ทางครอบครัวกับคนต่างด้าวที่อยู่มาก่อน ร้อยละ 26 เป็นผู้ได้รับรองการทำงานจากนายจ้างหรือทำการยื่นขอเองซึ่งรวมทั้งนักลงทุน อีกร้อยละ 8 เป็นผู้ลี้ภัยที่เพิ่งได้กรีนการ์ด และร้อยละ 2 เป็นผู้ที่ถูกรางวัลกรีน
การ์ดลอตเตอรี่

(ผู้ถือกรีนการ์ดยังไม่นับว่าได้สัญชาติอเมริกันเพราะยังมีเงื่อนไขอื่นๆ เช่น ต้องอยู่อเมริกามาไม่ต่ำกว่า 5 ปี)

ผู้ถือกรีนการ์ดรุ่นใหม่นี้มาจากไหน ใน 6 อันดับแรกพบว่า ร้อยละ 14 มาจากเม็กซิโก ร้อยละ 13 จากอินเดีย ร้อยละ 7 มาจากจีนแผ่นดินใหญ่ ร้อยละ 4 มาจากฟิลิปปินส์ ร้อยละ 3 มาจากโดมินิกัน และอีกร้อยละ 3 จากคิวบา ที่เหลืออีกร้อยละ 56 มาจากที่อื่นๆ

ครับ ใครสนใจอยากได้กรีนการ์ดจากกรีนการ์ดลอตเตอรี่ ก็รอให้สถานทูตเขาประกาศ อเมริกาจะให้กรีนการ์ดอย่างนี้ปีละ 55,000 วีซ่า โดย 5,000 วีซ่าถูกกันไปให้ผู้ที่สมัครจากนิการากัวและอเมริกากลาง จึงเหลือเพียง 5 หมื่นฉบับสำหรับประเทศที่เหลือ

เมื่อปี 2564 มีผู้สมัคร 11.8 ล้านราย ลดลงจากปี 2563 ที่มีผู้สมัคร 14.7 ล้านราย ขอบอก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image