เดินหน้าชน : พายุเงินดิจิทัล

เดินหน้าชน : พายุเงินดิจิทัล นโยบายเติมเงิน 1 หมื่นบาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต

นโยบายเติมเงิน 1 หมื่นบาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาล มีเสียงอื้ออึงมากขึ้นทั้งจากกองเชียร์และฝ่ายคัดค้าน

เกิดการปะทะกันทางความเห็น ร้อนแรงขึ้นเรื่อยๆ โดยฝ่ายรัฐบาลและนักวิชาการบางส่วน มั่นใจว่านโยบายนี้ที่จะเป็นพายุหมุนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว ดันจีดีพีขยายตัวมากขึ้น

แต่มีนักวิชาการหลายคนคัดค้าน พร้อมอธิบายเหตุผลต่างๆ ว่าได้ไม่คุ้มเสีย กับงบประมาณกว่า 5.6 แสนล้านบาท(ล่าสุดอยู่ที่ 5.48 แสนล้านบาท เพราะคนอายุเกิน 16 ปี มี 5.48 ล้านคน)

อาทิ การใส่เงินเข้าระบบเศรษฐกิจมากเกินไปในสถานการณ์ปัจจุบันจะส่งผลให้เงินเฟ้อสูงขึ้น อาจนำไปสู่การขึ้นดอกเบี้ย

Advertisement

เมื่อเงินเฟ้อสูง ข้าวของแพง หลังจบโครงการไปแล้ว ราคาข้าวของจะลดลงไหม เป็นอีกหนึ่งคำถาม

อีกทั้ง เงื่อนไขต้องใช้จ่ายใน 6 เดือน แน่นอนว่ามีหลายคนนำไปซื้อสินค้าและบริการที่จำเป็น แต่มีไม่น้อยจะเป็นดีมานด์เทียม นั่นคือไม่ได้ต้องการใช้สินค้าหรือบริการเพื่อสนองประโยชน์ของตนอย่างแท้จริง แต่ต้องการใช้เงินที่ได้ให้หมดไป

นอกจากนี้ การใช้ระบบบล็อกเชน แม้จะมีข้อดีในการตรวจสอบป้องกันการฉ้อฉลได้ แต่การตรวจสอบแต่ละธุรกรรมใช้เวลานานมาก หากใช้ระบบพร้อมๆ กัน อาจทำให้ระบบล่มได้

Advertisement

เสียงติติงต่างๆ เหล่านี้ ทำให้ ป.ป.ช.ตั้งคณะกรรมการพิจารณาศึกษาโครงการนี้ว่าสุ่มเสี่ยงจะเกิดความเสียหายหรือมีช่องทุจริตหรือไม่

ทางฝั่งรัฐบาลก็รับฟังเสียงท้วงติง แต่ยืนยันต้องเดินหน้าต่อ โดยอาจปรับเปลี่ยนบางเงื่อนไขเพื่อป้องกันปัญหาต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น

คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ที่มี จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.การคลัง เป็นประธานได้หารือกันเมื่อ 12 ต.ค.ที่ผ่านมา ให้การบ้านฝ่ายต่างๆ ไป แล้วนัดประชุมอีกครั้ง 19 ต.ค. เพื่อสรุปเรื่องเสนอคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ที่มีนายกฯเป็นประธาน ในวันที่ 24 ต.ค.

โจทย์ที่ต้องหาข้อสรุปคือแหล่งเงิน คาดว่าจะเกลี่ยงบประมาณ 2567 บางส่วน และใช้เงินนอกงบประมาณ โดยให้แบงก์รัฐออกเงินให้ก่อน 2-3 แสนล้านบาท ซึ่งต้องไปขยายเพดานหนี้ตามมาตรา 28 ของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง โดยรัฐบาลจะกันงบประมาณมาคืนปีละ 1 แสนล้านบาท ถ้ายังไม่พออาจต้องกู้เงินโดยตรง

อีกไม่นานคงเห็นเค้าโครงเงินดิจิทัลจะเป็นอย่างไร แต่บังเอิญนึกถึงเรื่องเล่าเกี่ยวกับเงินหมุนและการใช้หนี้

หลายคนคงผ่านหูผ่านตามาแล้ว แต่ขออนุญาตดัดแปลงให้เข้ากับยุคสมัย

เรื่องมีอยู่ว่า มีเจ้าหน้าที่รัฐจะไปราชการต่างจังหวัด โอนเงิน 1 พันไปจองห้องพักไว้ เจ้าของโรงแรมได้เงินก็โอนต่อไปใช้หนี้ให้ร้านขายหมู เจ้าของเขียงหมูได้เงินมาก็โอนต่อใช้หนี้ร้านขายของชำ ทางเจ้าของร้านของชำได้เงินเข้าบัญชีก็โอนเงิน 1 พันใช้หนี้เจ้าของโรงแรม ต่อมาเจ้าหน้าที่รัฐเปลี่ยนใจไม่จองห้องพักแล้ว เจ้าของโรงแรมก็โอนเงินคืนให้เจ้าหน้าที่รัฐ

มีคำถามว่า เงิน 1 พันของเจ้าหน้าที่รัฐได้คืนมาแล้ว แต่ทั้งเจ้าของโรงแรม ร้านขายหมู ร้านของชำ หมดหนี้สินกัน…มีการตั้งคำถามว่า หนี้หายไปไหน

แม้เรื่องเล่านี้ไม่ได้ก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ เพราะเป็นการใช้หนี้ แต่พอจะเห็นการหมุนเวียนของเงิน

ดังนั้น หากนำเงินไปซื้อสินค้าหรือบริการ จะเกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น ยิ่งเป็นเงินดิจิทัลที่โอนกันอย่างรวดเร็ว จะยิ่งทำให้การหมุนเวียนของเงินเร็วขึ้น แต่ก็มีผลด้านลบเช่นกันตามที่มีเสียงท้วงติงไว้

รอดูว่าโครงการเงินดิจิทัล บทสรุปจะเป็นอย่างไร จะเป็นพายุหมุนเศรษฐกิจให้เติบโต หรือจะเป็นทอร์นาโดให้พังพาบ

สราวุฒิ สิงห์เอี่ยม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image