ประชามติ-ร่าง รธน.ใหม่ อีกกี่พันล้านที่ต้องจ่าย

ประชามติ-ร่าง รธน.ใหม่ อีกกี่พันล้านที่ต้องจ่าย เหตุเพราะความไม่ไว้วางใจนักการเมือง

เหตุเพราะความไม่ไว้วางใจนักการเมือง ไม่เชื่อมั่นของประชาชนผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง และความต้องการสร้างนั่งร้านให้แก่คณะรัฐประหารโดยแท้ จึงเป็นที่มาของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 หมวด 15 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ซึ่งทำได้ยาก เพราะเกิดความยุ่งยากหลายขั้นตอน

นอกจากการลงมติในวาระแรกขั้นรับหลักการ ต้องใช้เสียง ส.ส.และ ส.ว.เกินกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดแล้ว ต้องมีสมาชิกวุฒิสภาเห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าหนึ่งในสาม หรือ 84 คน

ในวาระที่สามขั้นสุดท้ายก็เช่นกัน ทั้งยังเขียนผูกมัดเพิ่มเติมไว้อีกว่า ในจำนวนคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของทั้งสองสภาที่ให้ความเห็นชอบ ต้องมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคการเมืองที่สมาชิกมิได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร หรือรองประธานสภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบของทุกพรรคการเมืองดังกล่าวรวมกัน

กติกาในการลงมติข้างต้น ยังไม่ครบถ้วนกระบวนความ

Advertisement

มาตรา 256 (8) เขียนไว้อีกว่า ในกรณีร่างรัฐธรรมนูญแก่้ไขเพิ่มเติมหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2พระมหากษัตริย์ หรือหมวด 15 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หรือเรื่องที่เกี่ยวกับคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญ หรือเรื่องที่เกี่ยวกับหน้าที่หรืออำนาจของศาลหรือองค์กรอิสระ หรือเรื่องที่ทำให้ศาลหรือองค์อิสระไม่อาจปฏิบัติตามหน้าที่หรืออำนาจได้ ก่อนการลงมติเห็นชอบ ให้จัดให้มีการออกเสียงประชามติตามกฎหมายว่าด้วยการออกเสียงประชามติ

ข้อความในบทบัญญัติว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่ว่ามานี่แหละครับ เป็นที่มาของมติคณะรัฐมนตรีและคำสั่งนายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน แต่งตั้งคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติและแนวทางร่างรัฐธรรมนูญ 35 คนมี นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน

ทั้งๆ ที่ในเวทีหาเสียงก่อนการเลือกตั้งวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 แทบทุกพรรคการเมืองต่างประกาศ ว่าเห็นชอบด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งจำนวนมากก็ลงคะแนนเสียงสนับสนุน

Advertisement

แต่ในภาคปฏิบัติ จู่ๆ นึกจะยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่เลยทันทีทำไม่ได้ แม้ว่าพรรคเพื่อไทยแกนนำยืนยันว่าจะไม่แตะต้องหมวด 1-2 และไม่แตะต้องพระราชอำนาจก็ตาม

ถ้าการดำเนินการเข้าหลักเกณฑ์หมวด 15 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 256 (8) จะต้องทำประชามติ อย่างน้อยสองครั้ง

ครั้งแรกทำประชามติขอความเห็นประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งเห็นสมควรให้แก้ไขเพิ่มเติมหรือไม่ ครั้งสุดท้ายก่อนรัฐสภาจะพิจารณาให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญที่ยกร่างขึ้นใหม่

ประเด็นปัญหาข้อถกเถียงยังไม่จบแค่นี้ เพราะเกิดคำถามว่า การแก้ไขเพิ่มเติมจะกระทำโดยใคร เพิ่มเข้ามาอีก

กระทำโดยสมาชิกรัฐสภายกร่างเอง พิจารณากันเอง หรือมีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ขึ้นมาดำเนินการ ที่มา องค์ประกอบ คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของ ส.ส.ร.จะเป็นอย่างไร

จากขั้นตอน กระบวนการทั้งหมดที่ลำดับมานี้ทำให้เกิดการคาดหมายเวลาที่ต้องใช้ในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ตั้งแต่เริ่มทำประชามติจนถึงประกาศใช้ และออกกฎหมายลูกรองรับ ไม่ต่ำกว่า4 ปี

การเมืองไทยนับจากนี้ไปก็จะมีประเด็นอภิปราย ถกเถียงว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตลอดไป ต้องผ่านการออกเสียงประชามติ หนึ่ง หรือสอง หรือสามครั้งก็ตาม ต้องจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญนำกลับมาให้รัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบ

ที่สำคัญใช้เงินจำนวนมากมหาศาล เฉพาะทำประชามติแต่ละครั้ง พอๆ กับการจัดการเลือกตั้งทั่วไป กระบวนการได้มาและการดำเนินงานของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญอีกเป็นพันล้านเช่นกัน

แต่ก็ไม่อาจหลีกเลี่ยง ยกเว้นกลับไปสู่แนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา จะประหยัดเงินเอาไปใช้อย่างอื่นได้มากมาย

เพราะแนวคิดรัฐธรรมนูญต้องร่างให้แก้ยากเข้าไว้ ด้วยข้อความเพียงว่า “หรือหมวด 15 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ” มาตรา 256(8) แค่นั้นเอง

จึงเป็นต้นเหตุทำให้ประเทศชาติต้องเสียเงินไปในการนี้เป็นจำนวนมากและเสียเวลาอีกยาวนาน

บางคนอาจมองว่าเสียอย่างอื่นเสียได้มากมาย โดยเฉพาะเสียหายไปกับการทุจริตคอร์รัปชั่นมากกว่านี้หลายเท่า นั่นก็สุดแต่มุมมองของแต่ละคน

ผมเพียงเห็นว่า ช่องทางไหนที่ทำให้ประเทศเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายทีละมากๆ น่าจะเลือกหนทางนั้น

แม้จะไม่ทันการณ์เพราะรัฐบาลต้องยอมจำนนต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ว่ามา และเดินหน้าไปไกลแล้วก็ตาม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image