กลยุทธ์ทางการเมือง

กลยุทธ์ทางการเมือง

กลยุทธ์ทางการเมือง

การประชุมสุดยอดผู้นำ 20 ประเทศ (G20) ที่กรุงนิวเดลี อินเดีย ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงได้ขาดประชุมเป็นครั้งแรก ทั้งนี้ โดยมอบให้นายกรัฐมนตรีหลี่ เฉียงนำคณะไปร่วมประชุมแทน
กลายเป็น “ทอล์ก ออฟ เดอะ เวิลด์”

ประธานาธิบดีโจ ไบเดนหวังว่าจะได้พบกับ “สี จิ้นผิง” แต่ไม่ได้พบ จึงเปิดเผยต่อสาธารณะว่า “ผิดหวัง”

ทั้งสองผู้นำได้พบกันครั้งล่าสุดคือ การประชุม G20 เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2022 ณ อินโดนีเซีย

Advertisement

แม้ “สี จิ้นผิง” ไม่ร่วมการประชุม เกิดจากสาเหตุหลายประการ แต่สังคมมองว่า อาจจะกระทบต่อสัมพันธไมตรีระหว่างจีน-สหรัฐที่ดูเหมือนกำลังจะคลี่คลายความตึงเครียดลงไปนั้น กลับระอุขึ้นมาอีกวาระหนึ่ง

แต่เชื่อว่า การที่ “สี จิ้นผิง” ไม่ได้พบกับ “โจ ไบเดน” คงไม่มีผลกระทบมากนัก

แม้ข่าวจากรัฐบาลจีนแจ้งว่า “สี จิ้นผิง” ไม่ร่วมประชุมที่อินเดีย เพราะต้องอยู่ในประเทศเพื่อบัญชาและติดตามการกู้อุทกภัย และรอต้อนรับประธานาธิบดีเวเนซุเอลา และแซมเบีย ส่วนสุขภาพร่างกายปกติ

Advertisement

แต่โครงสร้างการทูตของจีน หลายด้านคือเวทีการเมืองสำคัญ การประชุม G20 ก็คือ “การทูตพหุภาคี” ที่สำคัญอย่างยิ่ง การอ้างภาระกิจใดนั้นไม่มีเหตุผลให้รับฟังได้

จึงเห็นว่า น่าจะเกิดจากจีนประเมินผลลัพธ์เกี่ยวกับระบบ G20 เจือสมกับความไม่พอใจกับพฤติกรรมที่เห็นแก่ตัวของอินเดีย คือการใช้อำนาจหน้าที่บรรจุเรื่องการท่องเที่ยวของอินเดียเข้าในวาระการประชุมครั้งนี้

วัตถุประสงค์ในการก่อตั้ง G20 คือทำการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจทั่วโลก แต่หลายปีที่ผ่านมาได้รับการแทรกแซงจากการเมืองอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด เกิด “สงครามยูเครน” แถลงการณ์ร่วมของการประชุมได้บริภาษรัสเซีย จนกลายเป็นเหตุโต้แย้งกันเกิดขึ้น กรณีนี้จึงเป็นปฏิบัติการที่เกินขอบเขต และขัดต่อวัตถุประสงค์

อย่างไรก็ตาม การที่จีนส่งผู้นำสายเศรษฐกิจคือนายกรัฐมนตรีหลี่ เฉียงไปร่วม ก็ถือเป็นเรื่องที่สอดคล้องกับระบอบขององค์กร ฐานานุรูปก็เหมาะสมกับงาน และอยู่ในกรอบกำหนดที่บริบูรณ์

อนึ่ง การประชุมสุดยอดระดับประเทศ เช่น APEC หรือ EAS เป็นต้น ไม่มีความจำเป็นว่าประธานาธิบดีจะต้องออกงานทุกครั้งเสมอไป อาทิ สหรัฐมักจะมอบหมายให้รองประธานาธิบดีหรือรัฐมนตรีต่างประเทศเป็นผู้แทนไปร่วมประชุม รัสเซียก็ส่งรัฐมนตรีต่างประเทศไปร่วมเช่นกัน

ที่น่าสนใจคือ อินเดียได้ทำการซ้อมรบทางอากาศในระหว่างการประชุม ซึ่งเป็นพรมแดนจีน-อินเดียที่มีข้อพิพาทมาตลอด เป็นเรื่องอ่อนไหว ชัดเจนยิ่งว่า ไม่เป็นเวลาอันเหมาะสม
ที่ “สี จิ้นผิง” จะมาเยือนอินเดีย

ฉะนั้น การที่ “สี จิ้นผิง” ไม่ร่วมประชุมครั้งนี้ จึงมิใช่ประเด็นปัญหาจีน-สหรัฐ และก็ไม่น่าจะกระทบต่อสัมพันธไมตรี ประเด็นจึงมีอยู่ว่า ประเทศใหญ่ ตำแหน่งใหญ่ ทุกอิริยาบท
จึงเป็นที่สนใจของสังคม

อีกประการหนึ่ง จากการพบปะระหว่าง “สี จิ้นผิง” กับ “โจ ไบเดน” ที่ประชุม G20 ณ บาหลี อินโดนีเซีย เมื่อปีที่แล้ว ภายใต้ “พิชาน” ของจีนสรุปได้ว่า ได้ผลไม่มากสำหรับการแก้ปัญหาโครงสร้างความขัดแย้งเชิงลึก

แม้ประธานาธิบดีโจ ไบเดนมิได้พบประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ครั้งนี้ พรรณนาว่ารู้สึกผิดหวัง แต่ “ไบเดน” ก็ยังกล่าวว่า “ต้องได้มีโอกาสพบกันอย่างแน่นอน” การคาดเดาของสังคมคือ ทั้งสองผู้นำคงจะได้มีโอกาสพบกันในการประชุมสุดยอด APEC ณ ซานฟรานซิสโก สหรัฐ ในเดือนพฤศจิกายน ปีนี้

มีข่าวว่า เนื่องจากเหตุผลการแซงก์ชั่น จึงปฏิเสธการเข้าร่วมประชุมของ “หลี่ เจียเชาว์” ผู้ว่าเขตปกครองพิเศษฮ่องกง ถ้าข่าวนี้เป็นจริง อาจเป็นเหตุให้การพบปะระหว่าง “สี จิ้นผิง-โจ ไบเดน” ต้องมีการเปลี่ยนแปลง

มาตรการแซงก์ชั่น “หลี่ เจียเชาว์” ของสหรัฐนั้น ไม่น่าจะเหมาะสม และอาจกลายเป็นชนวนแห่งความขัดแย้ง บั่นทอนการพัฒนาความสัมพันธไมตรีของสองประเทศ อาจเป็นบททดสอบอีกครั้งหนึ่งสำหรับจีน-สหรัฐ

ศ.ชยานันต์ ศุกลวณิช

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image