ข้อพิจารณาทางกฎหมาย กรณีทหารต้องไปปฏิบัติหน้าที่ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้

ข้อพิจารณาทางกฎหมาย กรณีทหารต้องไปปฏิบัติหน้าที่ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้

ข้อพิจารณาทางกฎหมาย
กรณีทหารต้องไปปฏิบัติหน้าที่
ในจังหวัดชายแดนภาคใต้

ตามที่มีการประกาศใช้กฎหมายความมั่นคงพิเศษประกอบด้วยพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พระพุทธศักราช 2457 พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 และพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 เพื่อให้ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า มีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มาเป็นระยะเวลานานแล้ว ซึ่งในอนาคตมีแนวโน้มยกเลิก ก็มีประเด็นข้อกฎหมายที่น่าสนใจว่า หากต่อไปไม่มีการประกาศใช้กฎหมายความมั่นคงพิเศษดังกล่าวแล้วรัฐบาลประสงค์จะให้ทหารเข้ามามีส่วนรักษาความสงบเรียบร้อยในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อเสริมการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจภายใต้กฎหมายบ้านเมืองปกติ จะมีคำถามว่าทหารจะสามารถมีอำนาจหน้าที่ได้หรือไม่ เพียงใด

ซึ่งสรุปได้ว่าสถานการณ์หรือการก่อความไม่สงบหรือการก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็น 1.การเกิดความไม่สงบเรียบร้อยในพื้นที่ซึ่งเป็นภัยคุกคามส่งผลกระทบต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ซึ่งประมวลกฎหมายอาญาได้บัญญัติความผิดต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักรในหมวด 2 2.การกบฏ (การใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อแบ่งแยกดินแดนหรือยึดอำนาจปกครองในส่วนหนึ่งส่วนใดแห่งราชอาณาจักร ตลอดจนการสะสมกำลังพลและอาวุธเพื่อการกบฏ รวมทั้งการยุยงให้เกิดความปั่นป่วนกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนให้ก่อความไม่สงบ) ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 มาตรา 114 และมาตรา 116 3.การจลาจล/มั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง (การเกิดเหตุรุนแรง/การวุ่นวายจากการก่อเหตุรุนแรง) ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 หมายเหตุ ในการประกาศใช้กฎอัยการศึกในพื้นที่โดยแม่ทัพภาคที่ 4 ได้อ้างเหตุการจลาจล และ 4.การก่อการร้าย (ใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการใดอันก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิต หรืออันตรายอย่างร้ายแรงต่อร่างกาย หรือเสรีภาพของบุคคลใดๆ กระทำการใดอันก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ระบบการขนส่ง สาธารณะ ระบบโทรคมนาคม หรือโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะ และกระทำการใดอันก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของรัฐหนึ่งรัฐใด หรือของบุคคลใด อันก่อให้เกิดหรือน่าจะก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างสำคัญ

หรือเพื่อสร้างความปั่นป่วนโดยให้เกิดความหวาดกลัวในหมู่ประชาชน) ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 135/1 มาตรา 135/2 และมาตรา 135/3

Advertisement

สถานการณ์ข้างต้นมีบทบัญญัติของกฎหมายบ้านเมืองปกติที่ให้อำนาจทหารไปปฏิบัติหน้าที่รักษา ความสงบเรียบร้อยในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยไม่ต้องประกาศให้อำนาจตามกฎหมายความมั่นคงพิเศษข้างต้นมีกฎหมายเกี่ยวข้องประกอบด้วย 1.พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ.2545 มาตรา 8 ซึ่งสรุปได้ว่า กระทรวงกลาโหมมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการป้องกันและรักษาความมั่นคงของราชอาณาจักรจากภัยคุกคามทั้งภายนอกและภายในราชอาณาจักร และ 2.พระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ.2551 มาตรา 8 กระทรวงกลาโหมมีอำนาจหน้าที่พิทักษ์รักษาเอกราชและความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรจากภัยคุกคามทั้งภายนอกและภายในราชอาณาจักร ปราบปรามการกบฏและการจลาจล มาตรา 34 ในกรณีที่มีความจําเป็นการปราบปรามการกบฏ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมโดยความเห็นชอบของสภากลาโหมมีอํานาจกําหนดหน่วยงาน แต่งตั้งเจ้าหน้าที่ทางทหารและกําหนด
อํานาจหน้าที่ของหน่วยงานและเจ้าหน้าที่ทางทหารได้ตามความเหมาะสมแก่การปฏิบัติภารกิจ มาตรา 35 การใช้กําลังทหารเพื่อการปราบปรามการจลาจล ให้เป็นไปตามที่กระทรวงกลาโหมกําหนดโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี มาตรา 36 การใช้กําลังทหารหรือการอื่นใดเพื่อป้องกัน ระงับ หรือปราบปรามการ กระทําความผิดที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐหรือเกี่ยวกับการก่อการร้าย ซึ่งจําเป็นต้องใช้กําลังทหารเพื่อระงับเหตุการณ์ร้ายแรงโดยเร็ว มิให้เหตุการณ์มีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น

ให้เป็นไปตามที่กระทรวงกลาโหมกําหนด และมาตรา 40 ในการปฏิบัติหน้าที่ตามข้างต้นนี้ให้เจ้าหน้าที่ทางทหารเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา

ดังนั้น เพื่อให้ทหารสามารถมีอำนาจหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและสภากลาโหมอาจแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ทางทหารในการไปปราบปรามการกบฏในพื้นที่ และกระทรวงกลาโหมอาจเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบการใช้กำลังทหารปราบปรามการจลาจลในพื้นที่ (การก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่) ตลอดจนสภาความมั่นคงแห่งชาติและ/หรือคณะรัฐมนตรีอาจมีมติเห็นชอบว่าจำเป็นต้องใช้กำลังทหารเพื่อระงับเหตุการณ์ร้ายแรงที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐหรือเกี่ยวกับการก่อการร้ายในพื้นที่ ซึ่งจะทำให้ทหารที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา แต่จะสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ผลหรือไม่ เพียงใด ก็จะต้องมีการติดตามประเมินผลกันต่อไป แต่หากจะให้ได้ผลดีตามความคาดหวังของประชาชนและสังคม ควรจะมีการตรากฎหมายบ้านเมืองปกติขึ้นมาใหม่อีกอย่างน้อยหนึ่งฉบับที่มีผลใช้บังคับโดยไม่ต้องมีการประกาศใช้เป็นกรณีพิเศษหรือครั้งคราวอีก เช่น พระราชบัญญัติการป้องกันและปราบปรามการก่อการร้าย พ.ศ. … ซึ่งผู้เขียนมีส่วนในการยกร่างในชั้นการพิจารณาของสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติซึ่งคณะรัฐมนตรีชุดที่แล้วให้ความเห็นชอบตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอแต่คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร (วิปรัฐบาล) ของรัฐบาลชุดที่แล้วไม่นำเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งหากเห็นว่าชื่อของร่างกฎหมายไม่เหมาะสมก็อาจเปลี่ยนชื่อเป็น “ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการก่อความไม่สงบ พ.ศ. …” หรือ “ร่างพระราชบัญญัติการสืบสวนสอบสวนคดีความมั่นคง พ.ศ. …” โดยมีบทบัญญัติที่ให้อำนาจหน้าที่เพียงพอแก่เจ้าหน้าที่สามารถปฏิบัติหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพภายใต้หลักนิติธรรมและหลักสิทธิมนุษยชน โดยมุ่งให้เกิดความสงบสุข/สันติสุขของประชาชนและสังคมในพื้นที่เป็นหลัก ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศจะเห็นด้วย

Advertisement

ข้อสังเกต 1.การก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่เข้าข่ายองค์ประกอบฐานความผิดเป็นกบฏ และการใช้กำลังประทุษร้ายให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 มาตรา 114 มาตรา 116 และมาตรา 215 นั้น ควรตรวจสอบว่าในการฟ้องร้องคดีอาญาต่อจำเลยผู้กระทำผิดคดีความมั่นคงในพื้นที่มีการฟ้องร้องฐานความผิดกบฏและฐานความผิดใช้กำลังประทุษร้ายให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมืองด้วยหรือไม่ เพียงใด หากไม่ฟ้องร้องฐานความผิดดังกล่าวก็ควรฟ้องร้องด้วย เพื่อให้สมบูรณ์ครบถ้วน ตลอดจนเพื่อเป็นการยืนยันและรองรับอำนาจหน้าที่ของทหารในการเข้าไปรักษาความสงบเรียบร้อยในพื้นที่ และ 2.บทบัญญัติในพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ.2551 ที่กำหนดให้เจ้าหน้าที่ ทางทหารเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญามีอำนาจหน้าที่ป้องกันและปราบปรามการกบฏ การจลาจล การกระทำความผิดเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ และการก่อการร้ายนั้น เป็นกฎหมายปกติที่ให้อำนาจแล้วไม่ต้องไปประกาศใช้เป็นครั้งคราวเช่นกฎหมายความมั่นคงพิเศษแต่อย่างใด ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ค่อยนำไปพิจารณาใช้ อาจเป็นเพราะไม่คุ้นเคย ส่วนใหญ่มุ่งคำนึงแต่การเป็นผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงานตำรวจกับการเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายความมั่นคงพิเศษซึ่งต้องมีการประกาศใช้เป็นครั้งคราว

สรุป ทหารสามารถเข้าไปมีอำนาจหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ภายใต้กฎหมายบ้านเมืองปกติ แต่จะได้ผลดีมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นหากมีกฎหมายบ้านเมืองปกติใหม่ขึ้นมารองรับเพิ่มเติมภายใต้หลักนิติธรรมและหลักสิทธิมนุษยชน

พล.อ.กฤษณะ บวรรัตนารักษ์
อดีตที่ปรึกษาพิเศษสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม
และอดีตรองเจ้ากรมพระธรรมนูญ

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image