พ.ร.บ.การศึกษา…มาสายดีกว่าไม่มา

พ.ร.บ.การศึกษา...มาสายดีกว่าไม่มา หลังจากรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

หลังจากรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สภาผู้แทนราษฎรชุดที่ผ่านมา และวุฒิสภาที่กำลังจะหมดวาระลงในเดือนพฤษภาคม 2567 ประสบความล้มเหลวไม่สามารถทำคลอดร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ มาทดแทนฉบับเดิมที่บังคับใช้มาตั้งแต่ พ.ศ.2542 ได้

ทั้งๆ ที่เป็นวาระสำคัญว่าด้วยการปฏิรูปการศึกษาที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มีการแต่งตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) นำเสนอข้อสรุปที่ชัดเจนต้องยกร่าง พ.ร.บ.การศึกษาฉบับใหม่ขึ้นใช้บังคับ

วันเวลาที่ผ่านไป 9 ปีเต็ม สุดท้ายร่าง พ.ร.บ.การศึกษาค้างเติ่งอยู่ในสภา รอการรับรองและยืนยันจากรัฐบาล คุณเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อกับกฎหมายสำคัญฉบับนี้

ในเมื่อนโยบายรัฐบาลที่แถลงต่อรัฐสภาวันที่11 กันยายน 2566 ด้านการศึกษาไม่ได้เขียนไว้อย่างชัดเจน รวมทั้งนโยบายระดับกระทรวงศึกษาธิการ ของ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในวันประชุมหัวหน้าส่วนราชการกระทรวงศึกษาธิการ วันที่ 14 กันยายน ภายใต้กรอบนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ก็ไม่ได้กล่าวถึงเรื่องนี้อีกเช่นกัน

Advertisement

ระหว่างที่ฝ่ายนโยบายยังไม่ยอมแถลงหรือพูดจาเป็นสัญญาประชาคม มีความเคลื่อนไหวในระดับผู้ปฏิบัติเกิดขึ้นเป็นสัญญาณที่ดี ซึ่งน่าจะคาดหมายได้ว่าฝ่ายนโยบายคงเปิดไฟเขียวให้แล้ว มิเช่นนั้นฝ่ายปฏิบัติคงไม่กล้าขยับอย่างแน่นอน

ความเคลื่อนไหวที่ว่าก็คือ นายอรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้ได้ตั้งคณะกรรมการยกร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ โดยจะนำร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ฉบับที่ค้างการพิจารณาของสภาในรัฐบาลที่แล้วมาทบทวน และแก้ไขในส่วนที่ยังเป็นข้อขัดแย้ง เนื่องจากหลักการส่วนใหญ่ในร่างฉบับเดิมผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว

ดังนั้น การปรับปรุงแก้ไขครั้งนี้ จะทำเฉพาะประเด็นที่ยังมีความเห็นต่าง โดยระหว่างการยกร่างจะทำประชาพิจารณ์สอบถามความคิดเห็นผู้ที่เกี่ยวข้องควบคู่กันไป เพื่อให้การยกร่างแล้วเสร็จโดยเร็วที่สุด คาดว่าใช้เวลายกร่างไม่เกิน 6 เดือน ทันเสนอให้ที่ประชุมสภาชุดนี้พิจารณาให้ความเห็นชอบได้อย่างแน่นอน

Advertisement

อีกส่วนที่ต้องดำเนินการควบคู่กันไประหว่างยกร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ คือ การจัดทำกฎหมายลูกให้แล้วเสร็จไปในคราวเดียวกัน โดยเฉพาะกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสิทธิประโยชน์ของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งมีอยู่กว่า 17 ฉบับ

“พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) อยากให้เร่งดำเนินการโดยเร็วที่สุด โดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนรวมถึงจะทบทวนประเด็นที่ล้าหลัง เพราะร่างเดิมมีข้อครหาว่าไม่ทันสมัยเท่าที่ควร ประกอบกับโลกยุคปัจจุบัน การศึกษาเปลี่ยนแปลงไปมาก ดังนั้น จึงต้องดูพื้นฐานการผลิตคนเพื่อสร้างประเทศ โดยจะไม่ได้เน้นเฉพาะเรื่องเทคโนโลยีเท่านั้น แต่จะเน้นเรื่องการสร้างคนที่มีคุณธรรม จริยธรรม คู่ขนานไปกับการทักษะการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อให้สามารถผลิตคนที่มีคุณภาพ เหมาะสมกับโลกในยุคอนาคต” นายอรรถพลกล่าว

ครับ ติดตามความคืบหน้าเรื่องนี้แล้วเริ่มมีความหวังขึ้นมาบ้าง เพราะการที่คณะทำงานจะเน้นปรับปรุงแก้ไขในประเด็นที่มีความเห็นต่าง จะทำให้การพิจารณารวดเร็วกว่าการยกร่างใหม่ทั้งฉบับซึ่งผ่านการรับฟังความคิดเห็นมาแล้วหลายครั้งหลายหน หลายประเด็น

แม้จะเน้นประเด็นที่ยังมีความเห็นต่างเพื่อหาข้อสรุปให้ได้เป็นด้านหลักก็ตาม แต่สิ่งที่ไม่อาจละเลยได้คือ ข้อดีที่เป็นหัวใจของการปฏิรูปการศึกษาอย่างน้อย 2 เรื่อง ต้องดำรงคงอยู่ในร่างกฎหมายฉบับปรับปรุงใหม่ครั้งนี้

นั่นคือ บทบัญญัตติเกี่ยวกับการปฏิรูปครู 2 มาตราเดิม

มาตรา 38 ให้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงศึกษาธิการ สถาบันผลิตครู หน่วยงานผู้ใช้ครู คุรุสภาและสำนักงานกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมมือกันจัดให้มีการศึกษาและวิจัยหาต้นแบบ กระบวนการ

และวิธีการที่หลากหลายและมีประสิทธิภาพในการผลิต คัดกรองและพัฒนาผู้ประกอบวิชาชีพครู อาจารย์ของสถาบันผลิตครูและบุคลากรทางการศึกษา และส่งเสริมสนับสนุนให้สถาบันที่ทำหน้าที่ผลิตและพัฒนาผู้ประกอบวิชาชีพครู อาจารย์ของสถาบันผลิตครูและบุคลากรทางการศึกษาให้มีความพร้อมและมีความเข้มแข็งในการเตรียมผู้ประกอบวิชาชีพครูใหม่และพัฒนาครูประจำการอย่างต่อเนื่อง

มาตรา 14 (7) ต้องจัดให้มีระบบการจ่ายค่าตอบแทนพิเศษเพิ่มเติมสำหรับครูซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในสถานศึกษาห่างไกล ทุรกันดาร พื้นที่เสี่ยงภัยหรือการปฏิบัติงานที่ยากลำบาก สำหรับครูหรือผู้ปฏิบัติหน้าที่ในการสนับสนุน บรรดาที่มีภาระเพิ่มขึ้นอันเนื่องมาจากการใช้กำลังคนร่วมกัน และการจัดการศึกษาให้คนพิการหรือบุคคล ซึ่งมีความต้องการจำเป็นพิเศษ

โดยเฉพาะมาตราหลังสุดนี่แหละครับ หากร่าง พ.ร.บ.การศึกษา ออกมาบังคับใช้ได้สำเร็จในยุครัฐบาลที่แล้ว ครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งทำหน้าที่ด้วยความเหน็ดเหนื่อย ยากลำบากในพื้นที่ห่างไกลขาดแคลน ทุรกันดาร บนยอดเขาสูงกลางป่าชายขอบ หรือเกาะแก่งต่างๆ คงได้รับเงินเพิ่มพิเศษช่วยให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นบ้างกันไปแล้ว

สียดายกฎหมายเป็นหมัน เพราะการเมืองในวงการศึกษาด้วยกันเองและการเมืองในรัฐบาล รัฐสภา เป็นต้นเหตุ นั่นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image