วอนรัฐบาล ‘เศรษฐา’ ดูแลสวัสดิการ ‘ครูเอกชน’

วอนรัฐบาล ‘เศรษฐา’
ดูแลสวัสดิการ ‘ครูเอกชน’

ช่วงการโชว์นโยบายหาเสียงหวังคะแนนนิยมเมื่อก่อนเลือกตั้งที่ผ่านมา แทบไม่เห็นว่ามีพรรคการเมืองไหนพูดเรื่องการช่วยเหลือสวัสดิการครูโรงเรียนเอกชนแม้แต่พรรคเดียว มุ่งเสนอนโยบายดูแลครูโรงเรียนรัฐบาลเป็นหลัก เสมือนว่า “ลืม” ไปว่าการจัดการศึกษาของประเทศเรามีภาคเอกชนเข้ามาร่วมจัดการศึกษาด้วย และนับวันยิ่งเข้มแข็งขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเจนมาก มีผลการวิจัยยืนยันผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนโรงเรียนเอกชนในเชิงประจักษ์มากมาย ดูจากการทดสอบมาตรฐานระดับชาติอย่าง NT (National Test) หรือ O-NET (Ordinary National Educational Test) ก็ได้

บัดนี้ได้รัฐบาลแล้ว รัฐบาลแถลงนโยบายแล้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการแถลงนโยบายแล้ว (ฮือฮากันไปแล้ว) ก็ยังไม่เห็น ไม่ได้ยินเรื่องนี้ ผู้เขียนจึงตัดสินใจเขียน หากมองให้ถูกต้องตามหลักการ และมองให้เห็นภาพการบริการการศึกษาของทั้งประเทศแบบองค์รวม สังคมจะได้เห็นว่าเจ้าของโรงเรียนเอกชนเป็น “ผู้เสียสละ” ยิ่งเจ้าของโรงเรียนเอกชนที่เป็นมูลนิธิ เป็นนักเผยแผ่ศาสนา ยิ่งเป็นผู้เสียสละ เสียสละอย่างไร ขอกล่าวเพียง 2 ประการ ดังนี้

1.แบ่งเบาภาระของรัฐ หากรัฐต้องโอบอุ้มการศึกษาของเยาวชนและประชาชนทั้งประเทศไว้แต่เจ้าเดียว ผู้เขียนมั่นใจว่าประเทศชาติเราล่มจมแน่ๆ เนื่องจากจะเอางบประมาณจากไหนมาใช้จ่ายเพื่อการศึกษาทั้งหมด โดยเพราะงบประมาณเรื่องที่ดินสิ่งก่อสร้าง วัสดุครุภัณฑ์ และเงินเดือนบุคลากรครู

Advertisement

2.สร้างการศึกษาที่มีคุณภาพ ก็มั่นใจว่าถ้าเราขาดการจัดการศึกษาของฟากเอกชนที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนดูแล คุณภาพการศึกษาของเราก็จะยิ่งต่ำกว่านี้ไปอีกหลายเท่าตัว อาจจะถึงขั้น “ดิ่งเหว” เลยก็ว่าได้

สองประการข้างต้นเป็นเหตุผลได้ว่าประเทศเราขาดการบริการศึกษาที่ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมจัดเพื่อบริการประชาชนไม่ได้

จากการเป็นผู้สอนนักศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครู นักศึกษาปริญญาโท ซึ่งนักศึกษาประมาณครึ่งหนึ่งเป็นครูโรงเรียนเอกชน และจากการพูดคุยสนทนาเมื่อไปบริการวิชาการต่างๆ ให้แก่บุคลากรครูของโรงเรียนเอกชน ทำให้ทราบว่าครูโรงเรียนเอกชนได้รับการดูแลจากรัฐน้อยมาก ทั้งในลักษณะของเงินเดือนที่รัฐสนับสนุน และสวัสดิการอื่นๆ ที่รัฐควรมีให้แก่ผู้ที่เข้ามาแบ่งเบาภาระด้านการบริการการศึกษาของชาติ ซ้ำร้ายสวัสดิการบางรายการที่เขาเคยได้รับ เช่น ค่ารักษาพยาบาลคู่สมรสและบุพการีผู้ให้กำเนิดก็โดนรัฐบาลก่อนหน้าตัดเสียอีก ตัดของเขาทำไม ขอถามย้อนหลังให้คำถามล่องลอยไปในอากาศ

Advertisement

พูดกันตรงๆ ใครๆ ก็รู้ดีว่าการศึกษาระดับปฐมวัย และระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยภาพรวมประชาชนนิยมส่งลูกเข้าศึกษาโรงเรียนเอกชนมากกว่าโรงเรียนของรัฐบาล ยิ่งในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ หาดใหญ่ และในอำเภอเมืองทุกจังหวัดยิ่งชัด ขนาดประชาชนที่หาเช้ากินค่ำ ปากกัดตีนถีบ รายได้ต่ำ จำนวนไม่น้อยก็ยัง “กระเสือกกระสน” ส่งลูกเรียนโรงเรียนเอกชน พ่อแม่ไหนๆ ก็อยากให้ลูกเรียนโรงเรียนที่มีคุณภาพได้มาตรฐานทั้งที่ค่าใช้จ่ายสูงกว่า บางโรงเรียนสูงมาก คงไม่ต้องอธิบายซ้ำเนื่องจากเขียนแสดงเหตุผลข้อ 2 ไว้แล้วข้างต้น

ภายใต้ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของโรงเรียนเอกชนที่สูงกว่าของรัฐในทุกรายการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐานเพื่อวัดความรู้และความคิดของนักเรียนนั้นเกิดขึ้นจากปัจจัยสำคัญคือ เจ้าของโรงเรียนเอกชนใช้หลักการบริหารการศึกษาแบบการบริหารธุรกิจที่ต้องบริการผู้รับบริการให้ได้รับความพึงพอใจสูงสุด องค์การการค้าโลกจัดกลุ่มการศึกษาเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมบริการ โรงเรียนเอกชนและครูเอกชนจึงทำงานหนักมากเพื่อให้ผู้ปกครองพึงพอใจในการบริการการศึกษา

ครูโรงเรียนของรัฐบาลก็ทำงานหนักเช่นกันนั่นแหละ แต่ครูโรงเรียนรัฐบาลในประเทศไทยมีสวัสดิการจากรัฐบาลมากแล้ว การที่ครูโรงเรียนรัฐบาลได้รับสวัสดิการต่างจากครูเอกชนมากอย่างเห็นชัดเจนนี่แหละเป็นสิ่งจูงใจให้ครูโรงเรียนเอกชน “สมองไหล” เข้าสู่ระบบราชการอย่างมิอาจมี “ห้ามล้อ” ไหนจะมาหยุดได้ เป็นปัญหาใหญ่โตให้โรงเรียนเอกชนเกิดภาวะครูลาออกบ่อยเกินไป ต้องสรรหาครูใหม่ทดแทนครูเก่าอยู่เรื่อย ทุกปีการศึกษา และบางครั้งต้องมอบหมายให้ครูที่สำเร็จการศึกษาไม่ตรงวุฒิเป็นผู้สอนวิชาต่างๆ

การทำงานหนักเกินไปของครู ไม่ว่าครูโรงเรียนเอกชน หรือครูโรงเรียนของรัฐ ส่งผลต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตของครู และที่สำคัญที่สุดส่งผลต่อ “คุณภาพนักเรียน”

ครูโรงเรียนเอกชนที่ตัดสินใจอยู่ในระบบเอกชนตลอดไป ไม่ต้องการเปลี่ยนแปลงชีวิตการทำงานของตัวเองด้วยเหตุผลต่างๆ หลายอย่างจึงเป็นคนที่น่าเห็นใจมากๆ และก็ทำงานหนักตลอดชีวิตครู หากลองคลี่ข้อมูลมากล่าวตรงๆ เพื่อสนับสนุนว่าครูโรงเรียนเอกชนทำงานหนักมากอย่างไร ผู้เขียนมีข้อมูล ดังนี้

1.การแข่งขันของระบบโรงเรียนเอกชนมีสูงมาก เป็นไปตามหลักการบริหารธุรกิจคือลูกค้าจะตัดสินใจรับบริการจากผู้ผลิตที่สินค้ามีคุณภาพสูงและการบริการดี โรงเรียนเอกชนในเมืองใหญ่โดยเฉพาะกลุ่มปฐมวัยและประถมศึกษามีการแข่งขันกันอุตลุด ตัวชี้วัดที่สำคัญคือการที่นักเรียนจบ ป.6 แล้วสามารถสอบเข้าเรียนโรงเรียนที่มีชื่อเสียงได้ เรื่องการอ่านออกเขียนได้ตามหลัก 3R (Reading, Writing, Arithmetics) ที่รัฐบาลไหนๆ ก็ให้ความสำคัญนั้น เป็นจุดสตาร์ตที่โรงเรียนเอกชนผ่านมาตั้งนานแล้ว

2.การประเมินผลการทำงานของระบบเอกชนเป็นไปตามหลักประสิทธิผลของการทำงาน ไม่มีการ “ลูบหน้าปะจมูก” หรือ “ค่าของคนอยู่ที่คนของใคร” และการประเมินเป็นไปตามหลักความพึงพอใจ (Satisfactions) ของผู้รับบริการ ซึ่งหมายถึงผู้ปกครอง ผู้บริหารและครูโรงเรียนเอกชนจึงต้องทำงานหนักมาก

การที่เสนอให้รัฐบาลภายใต้การนำของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ดูแลครูเอกชนให้มากขึ้นนั้นนับเป็นวิธีการหนึ่งที่จะเป็นการ “ยกระดับคุณภาพการศึกษา” ของเรา และผู้เขียนมั่นใจว่าเรื่องนี้สำคัญมาก หากเรื่องนี้ได้รับการดูแลควบคู่ไปกับการ “ปฏิวัติ” เรื่องอื่นๆ ของการศึกษาภาครัฐ เช่น การยุบโรงเรียนรัฐบาลที่มีขนาดเล็กลง โรงเรียนที่จำนวนนักเรียนลดน้อยลงอย่างมีพัฒนาการ จนทำให้อัตราครูเกินจำนวนที่พึงมี เพื่อประหยัดงบประมาณการบริหารจัดการต่างๆ รวมทั้งเรื่องการลดภาระงานต่างๆ ที่ไม่จำเป็นให้ครูและสถานศึกษา คืนสถานศึกษาให้เป็นของชุมชน คืน ผอ.ให้เป็นของโรงเรียน แทนที่ ผอ.มีงานนอกโรงเรียนมากกว่าการบริหารงานวิชาการของโรงเรียน คืนครูให้เป็นของนักเรียน ให้ครูอยู่กับหัวใจของการศึกษาคือ “การสอน” ให้ครูเขียนเอกสารต่างๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการสอน และงานอื่นๆ แต่เพียงจำเป็น เป็นต้น การศึกษาของเราจะก้าวกระโดดแน่ๆ

หากครูโรงเรียนเอกชนได้รับการดูแลจากรัฐบาลให้มากกว่าที่เห็นและเป็นอยู่ ทั้งในเรื่องเงินเดือน สวัสดิการ ขวัญและกำลังใจ และความมั่นคงในหน้าที่การงาน เชื่อแน่ว่าการศึกษาของโรงเรียนเอกชนจะเป็นพลังสำคัญที่จะทำให้การปฏิรูปการศึกษาที่พูดๆ กันจนเป็นวาทกรรมน่าจะส่งผลบวกมากขึ้น ความหวังที่จะให้คุณภาพการศึกษาของไทยพอที่จะเชิดหน้าชูตาได้…ก็คงเรืองรองขึ้นมา

รัฐบาล “เศรษฐา” โปรดอย่าลืมว่าครูโรงเรียนเอกชนก็เป็นครูของประเทศนี้เหมือนกัน และเขาขาดการเหลียวมองจากรัฐมานานนักแล้ว

ผศ.ดร.ประภาศ ปานเจี้ยง
คณะศึกษาศาสตร์และศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image