การเมืองเก่า-การเมืองใหม่

การเมืองเก่า-การเมืองใหม่ สภาผู้แทนราษฎรมีมติไม่เห็นชอบญัตติสำคัญ

สภาผู้แทนราษฎรมีมติไม่เห็นชอบญัตติสำคัญที่เสนอโดยพรรคก้าวไกล 2 ญัตติรวดในช่วงสองสัปดาห์ติดกัน เป็นกรณีศึกษาที่น่าคิดพิจารณา ว่าการเมืองเพื่อประโยชน์สาธารณะและกลุ่มคนที่เกี่ยวข้อง กับการเมืองเพื่อประโยชน์ของพรรคและนักการเมือง ควรจะมีจุดกึ่งกลางพบกันได้อย่างไร

ญัตติแรก เรื่อง ขอให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาแนวทางการจัดการศึกษาสำหรับเด็กที่ไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎรหรือไม่มีสัญชาติไทยหรือเด็กรหัส G ไม่เห็นชอบ 245 เสียง เห็นชอบ 164 เสียง วิปรัฐบาลส่งเรื่องให้ กรรมาธิการสามัญด้านการศึกษาพิจารณาแทน ภายในเวลา 90 วัน

ญัตติที่สอง เรื่องขอให้สภาเห็นชอบและแจ้งให้ ครม.ดำเนินการให้มีการออกเสียงประชามติเพื่อสอบถามความเห็นของประชาชนต่อการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ไม่เห็นชอบ 262 เสียง เห็นชอบ162 เสียง

การที่เสียงข้างมากซึ่งก็คือพรรคร่วมรัฐบาลนำโดยพรรคเพื่อไทย ไม่ยอมรับข้อเสนอของฝ่ายค้านทั้งสองเรื่อง หากมองว่าเป็นเรื่องปกติทางการเมืองระบบเสียงข้างมากก็เป็นเรื่องธรรมดา พรรคก้าวไกลเองในฐานะผู้เสนอต้องยอมรับ

Advertisement

แต่หากมองในแง่ของผลการดำเนินงานที่ควรจะเป็น โดยเฉพาะการจัดการศึกษาสำหรับเด็กที่ไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎร หรือไม่มีสัญชาติไทย น่านำเหตุผลที่แต่ละฝ่ายยกขึ้นมาสนับสนุนการตัดสินใจของตน มาเทียบเคียงกันเป็นอย่างยิ่ง

ฝ่ายรัฐบาลซึ่งเป็นเสียงข้างมาก พูดถึงเหตุที่ไม่ตั้งกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาพิจารณาศึกษาหาแนวทางแก้ปัญหาเรื่องนี้เป็นการเฉพาะ เพียงแค่ว่ากรรมาธิการสามัญด้านการศึกษารับภาระได้

ไม่ได้บอกต่อหรือยืนยันหักล้างฝ่ายเสียงข้างน้อยแม้แต่น้อยว่า การใช้กลไกกรรมาธิการสามัญด้านการศึกษาจะเกิดผลดีมีประสิทธิภาพยิ่งกว่ามีกรรมาธิการวิสามัญ อย่างไร

Advertisement

ขณะที่คำอภิปรายของฝ่ายค้านต่างหยิบยกประเด็นปัญหาเรื่องสิทธิมนุษยชน การขาดโอกาสของเด็กไร้สัญชาติจำนวนมาก ทั้งด้านการศึกษา สาธารณสุข แรงงาน และสิทธิความเป็นมนุษย์

เป็นต้นว่า ปัจจุบันมีเด็กไร้สัญชาติที่ไม่มีหลักฐานทางทะเบียนราษฎร และไม่มีโอกาสเข้าถึงการศึกษาในระบบรวมกันกว่า 2 แสนคน เนื่องจากในประเทศเพื่อนบ้านยังคงมีสงครามและมีปัญหาทางเศรษฐกิจ ทำให้คนส่วนหนึ่งจำเป็นต้องเข้ามาแสวงหาโอกาสเป็นแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มคนที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจไทย

ดังนั้น สังคมไทยจึงต้องเปิดใจโอบรับพี่น้องแรงงานข้ามชาติ โดยมองพวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของสังคม และให้การศึกษาที่มีคุณภาพแก่ลูกหลานของพวกเขา ในอนาคตคนกลุ่มนี้จะเป็นคนทำงานที่มีฝีมือ เป็นผู้บริโภค และเป็นผู้เสียภาษี ย้อนกลับมาเป็นประโยชน์ต่อประเทศทั้งสิ้น การจัดการศึกษาให้กลุ่มคนเหล่านี้จึงไม่ได้เป็นภาระของสังคมไทย การใช้งบประมาณ 300-500 ล้านบาทต่อปี ไม่เกินศักยภาพที่รัฐบาลไทยจะทำได้ และถ้าหากรัฐบาลไทยมีระบบการบริหารจัดการที่ดี ก็มีโอกาสขอรับเงินช่วยเหลือจากองค์กรด้านมนุษยธรรมระหว่างประเทศได้ด้วย

จากสถิติเมื่อวันที่ 6 เมษายน 2566 มีเด็กที่ไร้ทะเบียนราษฎร หรือไร้สัญชาติไทยอยู่ในโรงเรียนกว่า 3 แสนคน แต่ได้รับการยืนยันว่ามีตัวตนเพียง 1.1 แสนคน ส่วนอีกเกือบ 2 แสนคนไม่มีการลงรหัสยืนยันตัวตน

นอกจากนี้ ประเด็นเด็กไร้สัญชาติไม่ได้เกี่ยวข้องเฉพาะเรื่องการศึกษาเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวพันกับการลงรายการสถานะบุคคลของกระทรวงมหาดไทย ซึ่งปัจจุบันมีเด็กไร้สัญชาติที่ได้รับการลงเลข 13 หลัก เพียง 8.9 หมื่นคน ตกหล่นและอยู่ระหว่างการสอบประวัติอีกกว่า 4 หมื่นคน เรื่องดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับกระทรวงศึกษาธิการแล้ว และไม่อยู่ในขอบเขตที่กรรมาธิการคณะใดคณะหนึ่งจะทำการศึกษาได้ ดังนั้น จึงมีความจำเป็นต้องจัดตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาเป็นการเฉพาะ

เด็กที่ได้รหัส G ไม่ได้มีแค่แรงงานข้ามชาติ หรือเด็กไร้สัญชาติเท่านั้น แต่รวมไปถึงเด็กไทยที่เป็นเด็กเร่ร่อนบางกลุ่มด้วย พวกเขาได้รับสิทธิแค่เรื่องการศึกษาเท่านั้น เรื่องอื่นๆ ที่เป็นสิทธิตามสิทธิมนุษยชน เช่น เรื่องการรักษาพยาบาลไม่มีเลย

ที่สำคัญเด็กเหล่านี้ จะออกนอกพื้นที่ตัวเองอยู่ไม่ได้ หากจะไปสอบเข้า สอบเรียนต่อที่ไหนนอกพื้นที่ ต้องขออนุญาตจากตำรวจก่อน ซึ่งก็น่าเสียใจว่า หลายรายถูกเรียกเงิน จากการออกนอกพื้นที่ หรือเด็กหญิงบางคนถูกคุกคามทางเพศ เพื่อแลกกับการอนุญาตให้ออกจากพื้นที่ด้วย นี่คือสารพัดปัญหาที่เราอยากจะแก้ไข แต่ถูกสกัด เพราะอะไรก็ไม่รู้

คำอภิปรายเหล่านี้ ล้วนมีน้ำหนัก น่ารับฟัง เพราะเป็นประเด็นปัญหาเฉพาะ การใช้กลไกสภาตามปกติกับมีกลไกพิเศษขึ้นมาพิจารณาโดยตรง แนวทางใดจะเกิดมรรคผลยิ่งกว่ากัน

ล้วนเป็นเหตุผลแห่งความเป็นธรรม ความเป็นมนุษย์ แต่ก็ไม่สามารถหักล้าง เอาชนะเหตุผลทางการเมืองระบบเสียงข้างมากไปได้

จึงน่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง หากโอกาสทางการศึกษาของเด็กเหล่านี้ ถูกปล่อยให้เนิ่นนานล่าช้าออกไปอีก

ความขัดแย้ง ความเห็นต่างทางการเมืองแบบแบ่งขั้ว เลือกข้าง ทำให้เกิดความสูญเสีย ค่าเสียโอกาสของผู้เกี่ยวข้อง แทนที่จะช่วยให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น เร็วขึ้น

ทำนองเดียวกันกับเรื่องการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญใหม่ สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ญัตติของพรรคก้าวไกลถูกคว่ำ เพราะไม่ยอมยืดหยุ่น ไม่รับแนวทางประนีประนอมของฝ่ายเสียงข้างมาก ไม่ส่งผู้แทนเข้าร่วมคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติและแนวทางร่างรัฐธรรมนูญ

ส่งผลให้ทั้งสองญัตติถูกปฏิเสธ อย่างน่าเสียดาย โดยเฉพาะญัตติแรก

ฉะนั้นควรถึงเวลาทบทวนประเพณีทางการเมืองเดิมๆ รัฐบาลกับฝ่ายค้าน ต้องอยู่ตรงกันข้ามทุกเรื่อง เสียใหม่

การเมืองเก่า เอาชนะ คะคาน ชิงดีชิงเด่นสุดขั้ว สุดโต่ง ก้าวสู่การเมืองใหม่ เพื่อประโยชน์สาธารณะ การเมืองของความร่วมมือ ควรแยกแยะเป็นเรื่องๆ ไป ไม่แบ่งเขาแบ่งเรา ดีหรือไม่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image