หลุมยักษ์ในเมืองใหญ่ (ในวันผังเมืองโลก) โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

หลุมยักษ์ในเมืองใหญ่ (ในวันผังเมืองโลก) เรื่องน่าเศร้าเรื่องหนึ่งของสัปดาห์ที่ผ่านมา

เรื่องน่าเศร้าเรื่องหนึ่งของสัปดาห์ที่ผ่านมาของกรุงเทพมหานคร ก็คือเรื่องอุบัติเหตุที่รถบรรทุกขนดินหล่นลงไปในหลุมที่ถนนสุขุมวิท 64/1 ซึ่งสภาพถนนนั้นมีการก่อสร้างร้อยสายไฟ จึงเปิดพื้นถนนแล้วสร้างฝามาปิดถนนไว้ชั่วคราวทุกวัน
สิ่งที่น่าประหลาดใจของผมก็คือ ทำไมทุกคนสนใจอยู่แต่เรื่องสองเรื่องคือ การบรรทุกน้ำหนักเกินของรถบรรทุก แล้วก็เรื่องของการพยายามค้นหาเรื่องการรับส่วยรถบรรทุก
ไม่ใช่เรื่องนี้ไม่สำคัญ แต่มันเป็นเรื่องของการเมืองระดับชาติไปทั้งหมด
นักการเมืองท้องถิ่นเองก็สนใจแต่เรื่องนี้ จนลืมเรื่องอื่นๆ ที่ควรจะนำมาคิดร่วมกับเรื่องน้ำหนักเกินและเรื่องของส่วยสติ๊กเกอร์
เพราะเรื่องน้ำหนักเกินกับส่วยสติ๊กเกอร์มันสะท้อนว่าเรื่องที่เกิดขึ้นถูกทำให้เป็นเรื่องการเมืองในระดับประเทศไปทั้งหมด

แต่ก็คงต้องยอมรับว่า เรื่องส่วยรถบรรทุกที่เชื่อมโยงกับน้ำหนักเกินนั้นมันคาราคาซังมานานแล้ว
ในสังคมไทยที่วันนี้ก็ยังจัดการเรื่องส่วยสติ๊กเกอร์ไม่จบ และเชื่อมโยงกับกรณีของการสังหารชีวิตของนายตำรวจใหญ่ที่เหมือนกับจะไปขัดผลประโยชน์ของเจ้าพ่อในพื้นที่นครปฐมเมื่อเดือนสองเดือนก่อน
เรื่องของส่วยกับน้ำหนักเกินก็ควรทำไป แต่เรื่องอื่นที่ผมอยากนำเสนอก็ต้องทำควบคู่กันไป
ยิ่งเรามาเห็นเรื่องถนนทรุดตัวขนาดหนักเช่นนี้ใน วันผังเมืองโลก (World Town Planning Day) ประจำปีนี้
ทั้งที่เป็นวันที่มีการเฉลิมฉลองอย่างเป็นทางการในบ้านเรา เพราะ “มีเจ้าภาพ” สำคัญคือกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย ที่จัดมาหลายปีแล้ว
และปีนี้ก็จัดในเรื่องของการร่วมกันพัฒนาเมืองด้วยการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สอดรับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและสังคมสูงอายุ เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี อย่างมั่นคงและยั่งยืน (และอื่นๆ อีกมากมายที่ระบบราชการไทยจะบรรจุถ้อยคำใหญ่ๆ โตๆ ที่ทันยุคสมัยลงไปในถ้อยแถลงทางการของหน่วยงานที่รับผิดชอบ)
เลยเป็นเรื่องตลกร้ายที่เกิดขึ้นในเมืองหลวงของประเทศไทยในวันผังเมืองโลก เปิดดูสัมมนาทางวิชาการก็คุยกันเรื่องสิ่งแวดล้อม ทิศทางการพัฒนาเมืองและภูมิภาค ฯลฯ

แต่ในวันเกิดเหตุที่ถนนสุขุมวิท ท่านผู้ว่าฯกทม.ให้สัมภาษณ์ว่า ใน กทม.ตอนนี้มีการขุดถนนทำสายไฟใต้ดินสามสิบกว่าจุด และทั้ง กทม.นั้นมีเจ็ดร้อยกว่าจุด
และในวันเกิดเหตุ สิ่งที่งงคือ ทั้งเขตและตำรวจก็ไม่สามารถจัดการอะไรได้ในการกู้รถบรรทุกขึ้นมา บริษัทนั้นสามารถเอารถขึ้นมาเอง แล้วก็ขับรถบรรทุกกลับไซต์ก่อสร้างแล้วเห็นว่ามีการเอาดินส่วนหนึ่งออกจากรถได้เอง ในช่วงที่ยังไม่รู้น้ำหนัก
ส่วนนี้ต้องขอบคุณสำนักข่าว ประสานกับทาง ส.ส.และ ส.ก.ของพรรคก้าวไกลที่เป็นเจ้าของพื้นที่ในการติดตามประเด็นนี้
และสุดท้ายก็พิสูจน์ได้ว่ารถบรรทุกดังกล่าวน้ำหนักเกิน

แต่กระนั้นก็ตาม ประเด็นที่ยังไม่ได้ไล่บี้กันนอกเหนือจากส่วยที่สื่อกับพรรคก้าวไกลสนใจ และเรื่องของการกำกับดูแลไซต์ก่อสร้างทุกที่และการชั่งน้ำหนักรถของทาง กทม. ก็คือ ตกลงบริษัทรถบรรทุกนี้บริษัทอะไร
ไซต์ก่อสร้างนั้นใครรับผิดชอบการก่อสร้าง
และเขาก่อสร้างโครงการอะไร บริษัทพัฒนาที่ดินอะไรที่รับผิดชอบโครงการ
นี่คือเรื่องพื้นฐานของสิทธิที่จะอยู่ และกำหนดความเปลี่ยนแปลงเมืองอย่างมีศักดิ์ศรีของพลเมือง (rights to the city) ที่เป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาเมือง
และที่สำคัญก็คือโทษที่จะได้รับมันอยู่ที่ไหน

Advertisement

พื้นที่พระโขนง-บางนานั้นถูกเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินในผังเมืองมาหลายปี ให้เปลี่ยนเป็นพื้นที่พาณิชยกรรมบางส่วน และพื้นที่พักอาศัยหนาแน่นปานกลาง ซึ่งมีผลทำให้เกิดการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์หลายแบบ
ไม่นับว่าเดิมก็มีโรงกลั่นน้ำมันอยู่ด้วย
ภายใต้แนวคิดหลักของการผังเมืองไทยในรายละเอียด ถ้าเน้นเรื่องของการพัฒนาที่ดิน การกำกับหลักคือการกำกับมาตรฐานการก่อสร้าง การจัดประเภทการใช้งานที่ดิน และการสร้างแรงจูงใจในการกำหนดความหนาแน่นเรื่องพื้นที่ว่างและพื้นที่สีเขียวเสียเป็นส่วนใหญ่
ประเด็นอยู่ที่ว่า ในการได้รับใบอนุญาตก่อสร้างนั้นมันไปเชื่อมโยงกับการผ่านการรับรู้ของประชาชนแค่ไหน และในกรณีที่จะต้องมีการตรวจสอบรับฟังความเห็นที่เกี่ยวข้องกับประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อม
แต่ที่ไม่มีการกำกับดูแลอย่างจริงจังก็คือ เมื่อได้รับใบอนุญาตแล้ว
เรื่องที่ยังไม่ได้ถามในเรื่องของถนนทรุด ภายหลังจากพิสูจน์แล้วว่าน้ำหนักรถบรรทุกเกินก็คือ เรื่องที่เกิดขึ้นนี้ ความผิดและโทษอยู่ที่ใครบ้าง การลงโทษอยู่บนฐานความผิดอะไร

ลองย้อนกลับไปเมื่อหลายเดือนก่อนที่เจอกรณีของแยกอโศก ประเด็นมันทำให้เราเริ่มคิดแล้วว่าการก่อสร้างอาคารสูง การก่อสร้างสิ่งก่อสร้างใหม่นั้นจะต้องคำนึงถึงความเดือดร้อนของคนในพื้นที่ที่อยู่มาก่อนด้วย
เรื่องในรายละเอียดก็คือ เราไม่ได้มีความสนใจว่าใครเป็นเจ้าของพื้นที่ในเมืองบ้าง
เอาแค่เรื่องถนน ใครเป็นเจ้าของถนน การขุดกลบ ใครต้องรับผิดชอบในคุณภาพของพื้นถนน
หลายคนอาจจะไม่ทราบว่าถนนหนึ่งเส้นนั้นมีหน่วยงานรับผิดชอบแค่ไหน
คนที่สนใจเรื่องการเป็นเจ้าของและตรวจสอบถนน และเชื่อมโยงกับคุณภาพของชีวิตเมือง ชีวิตในท้องถิ่นเนี่ยก็เป็นเรื่องที่ยังไม่พัฒนาเลย
ถ้าเทียบกับเรื่องของตัวฟุตปาธ ที่อย่างน้อยก็มีกลุ่มพลเมืองที่สนใจเรื่องนี้อย่างจริงจัง

การพูดถึงมาตรฐานการซ่อมปะถนนในกรุงเทพฯก็เป็นเรื่องใหญ่ อย่างมอร์เตอร์ไซค์ สกู๊ตเตอร์ที่ผมเองก็ใช้ ไม่นับจักรยานนั้น พูดตรงๆ ว่าไม่สามารถใช้ถนนกรุงเทพฯอย่างมีความสุขหรอกครับ
ต่อให้บอกว่าจะปะซ่อมทุกวัน ปิดหลุมแล้ว แต่คุณภาพมันแย่ ถนนลื่นและถ้าตกไปในร่องก็จะเกิดปัญหาอุบัติเหตุแน่นอน
สมมุติว่าถ้าเกิดอุบัติเหตุจากสิ่งเหล่านี้ รวมทั้งรถยนต์ที่ตกถนนที่ทรุดลงไป จะไปเรียกร้องจากใคร
เชื่อเถอะครับ หลังจากวันนี้ เมืองนี้ก็อยู่กันไปแบบนี้ขับเคลื่อนตามความหวือหวาของความสนใจรายวัน
ไม่ใช่แค่เท่าที่สื่อจะรายงาน
แต่ขับเคลื่อนตามที่สื่อจะเดินตามนักการเมืองว่าเขาจะพาไปทางไหน
ไม่ได้ตั้งหลักอะไรจากเรื่องของชีวิตของผู้คน โดยเฉพาะผู้คนในพื้นที่

Advertisement

ผมเคยย้ำไปบ่อยแล้วว่า สิ่งที่ต้องการในเรื่องผังเมืองคือ เราต้องเข้าใจว่าผังเมืองคือ (รัฐ) ธรรมนูญของท้องถิ่น
มันต้องกำหนดว่าใครมีอำนาจ ใครตรวจสอบใครได้ ประชาชนในท้องถิ่นจะต้องมีอำนาจเป็นหลัก
ไม่ใช่มากำหนดแต่แนวคิดผังเมืองที่เปลี่ยนไปได้เรื่อยๆ และมานั่งหมกมุ่นกับความเป็นมืออาชีพของอาชีพนักผังเมืองแล้วมาใช้คำว่าธรรมนูญผังเมือง
อีกด้านหนึ่งผังเมืองมันต้องมีความศักดิ์สิทธิ์ ไม่ใช่ศักดิ์สิทธิ์ในทางกฎหมาย เพราะว่าในบ้านเราทุกคนก็รู้ว่ากฎหมายมันไม่ศักดิ์สิทธิ์กับคนมีอำนาจ แต่มันเป็นอุปสรรคกับคนไร้อำนาจ
ผังเมืองมันต้องคุ้มครองชีวิตของคน ต้องทำให้ชีวิตของผู้คนมีความหมาย อยู่รวมกันได้อย่างมีศักดิ์ศรี โดยวางเรื่องพวกนี้ไว้บนการจัดพื้นที่ต่างๆ
ซึ่งจนถึงวันนี้มันสะท้อนกันชัดๆ ว่า จนถึงวันนี้จะฉลองวันผังเมืองโลกกันมาตั้งแต่ปี 2492 ที่อาร์เจนตินา สิ่งที่เราหลงลืมกันคือก่อนจะมาคุยว่าปีนี้เขาคุยกันเรื่องอะไร ควรใช้วันนี้ตรวจสอบปัญหาก่อนว่าเมือง (ของเรา) มีปัญหาอะไร
ผังเมืองที่เรามีอยู่นี่เอาจริงๆ มันแก้หรือสร้างปัญหาเพิ่มขึ้นกันแน่

แล้วต้องไม่สิ้นสุดที่การอนุมัติการพัฒนาที่ดิน
แต่ต้องเพิ่มกระบวนการตรวจสอบติดตามว่าการพัฒนาที่ดินนั้นมันสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้คนในเมือง ในเขต ในชุมชนมากน้อยแค่ไหน
ไม่ใช่คิดแค่ว่าสี่ปีก็ปรับผังเมืองกันที เพราะปรับทุกทีมันไปเน้นให้เกิดการพัฒนามากกว่าควบคุมการพัฒนาให้เป็นประโยชน์สูงสุดกับประชาชนที่เขาจะอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขและมีศักดิ์ศรี
บอกตรงๆ ว่าความหวังของผมกับเมืองแห่งนี้มันริบหรี่เต็มทน
และริบหรี่มากเวลาเห็นคนที่พูดเรื่องเมืองราวกับว่ามันเป็นสิ่งของสักอย่างที่สามารถปรับเปลี่ยนดัดแปลงได้ง่ายๆ ตามความนิยมในแต่ละยุคสมัย โดยไม่เห็นถึงความซับซ้อนของมัน และการกินชีวิตของผู้คนในเมืองแห่งนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image