วิถีแห่งกลยุทธ์ : ปัจจัย ชี้ขาด ‘ศึกษา’ เป็น ‘ใช้’ เป็น ทฤษฎี ปฏิบัติ

วิถีแห่งกลยุทธ์ : ปัจจัย ชี้ขาด ‘ศึกษา’ เป็น ‘ใช้’ เป็น ทฤษฎี ปฏิบัติ

เมื่อบรรลุถึงอนุศาสน์ว่าด้วย “แสร้งถอยอย่าไล่กระชั้น อย่าฮุบเหยื่อเมื่อทอดให้” ในความคิดของท่าน     “หัวซาน” ก็ลุกโพลง
สว่างไสว ด้วย “บทเรียน”
ไม่เพียงแต่นึกถึง จ้าวกวา ผู้มีชื่อเสียงโด่งดังว่าเป็น “นักถกพิชัยสงครามบนกระดาษ”
หากแต่ยังนึกถึง ม้าเจ๊ก ในยุค “สามก๊ก”
หากแต่ยังนึกถึง หานซิ่น ครารบหลังพิงแม่น้ำ ตั้งอยู่ใน “จุดอับ” แล้ว “เกิดใหม่”
ก่อแรงบันดาลใจให้ “โกวเล้ง” นำมาสอดสวมเข้ากับ “นักสู้ผู้พิชิต”
ท่ามกลางการแสวงหา “วรยุทธ์” ของ “ปึงป้อเง็ก”
แต่ที่ปรากฏใน “พิชัยยุทธ์ซุนวู ฉบับหัวซาน” ผ่านสำนวนแปล / เรียบเรียงของชาญ ธนประกอบ
เป็นเรื่องของ “จ้าวกวา” ในยุคจ้านกั๋ว หรือรณรัฐ

ทัพฉินส่งทหารออกมาอ่อยเหยื่อก่อนแล้วแสร้งแพ้ ถอยหนี จ้าวกวา นำทัพใหญ่ไล่ล่าทันที
ทัพฉินชักนำจ้าวกวาไปถึงฉางปี้ซึ่งเป็นที่ที่เตรียมไว้
โดยทัพหลักของฉินตระเตรียมพยุหะไว้เรียบร้อยแล้ว เพื่อรับมือทัพใหญ่จำนวน 40 หมื่นของจ้าวกวา
แค่รอไปติดกับเท่านั้น
สมดังที่ซุนวูกล่าวว่า “ผู้ถึงสมรภูมิก่อนรับศึกด้วยความสดชื่น ผู้ถึงสมรภูมิทีหลังรับศึกอย่างฉุกละหุกด้วยความเหนื่อยล้า”
ด้วยเหตุนี้ผู้ชาญศึกจึงเป็น “ผู้กระทำโดยมิใช่ถูกกระทำ”
และ “รู้สถานที่ทำศึก รู้วันเวลาทำศึก” บนพื้นฐาน “สามารถทำให้ข้าศึกมาถึงเองคือผลประโยชน์”
คำไขของ “หัวซาน” เป็นอย่างไร

ทัพฉินรู้ว่าจะรบแตกหักที่ฉางปี้ จึงเตรียมการไว้เหมือนกระสอบ ล่อให้จ้าวกวาเข้าปากกระสอบ
แต่ตัวจ้าวกวาเองไม่รู้
“ประจันด้วยทัพหลัก เอาชัยด้วยทัพเสริม” ทัพฉินใช้ทหารเป็นเหยื่อเป็นหลัก ให้ทัพใหญ่ที่ฉางปี้เป็นกำลังเสริม
ก่อให้เกิดสภาพการณ์ใหม่ ก่อให้เกิดสถานการณ์ใหม่
นั่นก็คือ เมื่อจ้าวกวาถึงฉางปี้ ทหารที่เป็นเหยื่อล่อสมทบเข้ากับกำลังหลักกลายเป็นทัพหลัก
จึงได้เวลาออกทัพเสริมหน่วยที่สอง

จ้าวกวาถูกขวางไว้ที่ฉางปี้ การรบไม่เป็นคุณจึงเตรียมจะถอยทัพ ยามนี้สองปีกทัพกำลังพลทัพม้า 2 หมื่น 5 พันนายที่ทัพฉินซุ่มเตรียมอยู่แต่แรก
เข้าจู่โจม ทะลุทะลวงทัพจ้าวจนถึงแนวหลัง
ยึดครองชัยภูมิที่สูงด้านตะวันตก ขวางทางถอยของจ้าวกวาไว้ และเป็นการตัดการติดต่อระหว่างจ้าวกวากับค่ายใหญ่ของตนด้วย
ทัพจ้าวจึงถูกหั่นเป็น 3
ไป่ฉีแห่งฉินสั่งกองกำลังทัพม้าออกไปอีก 5 พันนาย ไปปักหลักที่บริเวณค่ายใหญ่ของทัพจ้าว
เป็นการปฏิบัติถ่วงปฏิบัติการของทัพจ้าว
ตัดขาดเส้นทางเสบียง ทำให้ทัพจ้าวขยับตัวไม่ได้

Advertisement

จ้าวกวาถูกล้อมจึงจำต้องเฝ้ารักษาที่มั่นเพื่อรอกำลังหนุน แต่ไป่ฉีไม่ยอมให้จ้าวกวาได้หอบหายใจ
สั่งทัพม้าเบา ผลัดกันเข้ารังควาน
นี่เรียกว่า “ข้าศึกสดชื่น พึงทำให้เหนื่อย ข้าศึกอิ่มท้อง พึงทำให้หิวโหย”
ฉินเจาอ๋องได้รับรายงานว่า อู๋ฉี่ได้ทีแล้วจึงรีบออกศึกไปถึงเหอเน่ยแนวหน้าด้วยตนเอง
ระดมผู้ชายอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไปในท้องถิ่นเข้าเป็นทหารหมด
แล้วโถมเข้าสู่สมรภูมิฉางผิง ล้อมทัพจ้าวไว้อย่างเหนียวแน่นรอบด้านตัดขาดทั้งกองหนุนและเส้นทางเสบียง
สถานการณ์ของทัพจ้าวเป็นอย่างไร

จ้าวกวาขาดเสบียงอยู่ 46 วัน จนถึงขั้นทหารฆ่ากันเองเพื่อกินเนื้อคน จึงจำใจต้องทุ่มสุดตัวครั้งสุดท้าย
ผลลัพธ์คือ จ้าวกวาตายในสนามรบ
ทัพจ้าวยอมแพ้ และทหารทั้ง 40 หมื่นถูกฝังทั้งเป็น
ปัญหาประการแรกคือ จ้าวกวาเองก็เจนจัดใน“พิชัยสงคราม” ทำไมจึงผิดพลาดง่ายๆ เช่นนี้
เพราะเขามั่นใจในตนเอง
โคถึกมิเกรงพยัคฆ์ ฉันใด จ้าวกวาก็เป็น ฉันนั้นแต่สุดท้ายโคถึกก็ถูกพยัคฆ์กินไป ในความคิดของจ้าวกวา แม่ทัพเหลียนโพชราแล้ว ดาวรุ่งในแคว้นจ้าวคือข้า เหลียนโพยันกับฉินถึง 3 ปีแคว้นแทบจะล้มละลาย
คงต้องอาศัยข้านี่แหละมาคลี่คลายปัญหา
เมื่อมั่นใจในตนเองมากเข้าย่อมประมาทต่อข้าศึก ปะทะครั้งแรกก็ได้ชัยจริงแสดงว่าที่ตนคิดถูกต้องและฝ่ายตนเข้มแข็งกว่าจึงเข้าโจมตี แม้จะมีเสียงเตือน “แสร้งถอยอย่าไล่ประชิด” แต่เห็นว่าเป็นการ “โจมตีพวกที่ล้าอยากกลับบ้าน”
เป็นการไล่ล่าหลังได้ชัย พอออกไล่ก็สุดจะเหนี่ยวรั้ง

ปัญหาประการที่สอง ทำไมจ้าวเซอซึ่งเป็นบิดาของจ้าวกวา ร่ำเรียนพิชัยสงครามพร้อมกับบุตร
ความรู้สู้บุตรไม่ได้ แต่กลับรู้ว่าลูกของตนไม่เอาไหน
จ้าวเซอเคยพูดกับแม่ของจ้าวกวาว่า “การทหารนั้นเป็นเรื่องความเป็นความตาย และการดำรงอยู่และล่มสลายของแผ่นดิน แต่ลูกกวาพูดเหมือนง่ายมาก หากแคว้นจ้าวไม่ตั้งลูกเราเป็นแม่ทัพก็แล้วไป
ถ้าตั้งเขาเป็นแม่ทัพคนที่จะทำกองทัพจ้าวเจ๊งก็ลูกกวานี่แหละ”
การทหารเป็นเรื่องใหญ่โตมโหฬาร ความเป็นความตาย แต่จ้าวกวากลับพูดเหมือนเรื่องง่ายเหมือนรู้ไปหมด
ดังนั้น ถ้าแคว้นจ้าวใช้สอยเขามีหวังพังแน่
บางคนบอกว่าเพราะจ้าวกวาเจนจบพิชัยยุทธ์แต่พลิกแพลงไม่เป็น นี่มิใช่แก่นแท้ของปัญหา
แต่แก่นแท้คือการอ่านพิชัยยุทธ์ช่ำชอง มิได้แปลว่ารู้พิชัยยุทธ์จริง

Advertisement

จากนี้ก็มาถึงบทสรุปของ “หัวซาน” คำพังเพยว่าไว้ “ไม่เคยกินเนื้อหมูแล้วไม่เคยเห็นหมูวิ่งเลยหรือ”
คำพูดอย่างนี้ก็ถูก
แต่การเคยเห็นหมูวิ่งมิได้เท่ากับรู้ว่าเนื้อหมูเป็นอย่างไร ต้องเคยชิมด้วยตนเองจึงจะรู้รสอย่าว่าแต่หมูที่จ้าวกวาเห็นว่าวิ่งอยู่เป็นการวิ่งบนตำราด้วยซ้ำ หมูที่วิ่งจริงบนพื้น จ้าวกวาไม่เคยเห็นด้วยซ้ำ
ดังนั้น เวลาเราศึกษาพิชัยยุทธ์ อ่านไปข้อหนึ่งก็รู้ข้อนี้แต่มิใช่ใช้เป็นจริงๆ จะต้องเคยทดสอบและฝึกฝนจึงจะถือว่ารู้ ระดับที่รู้ก็ยังวัดไม่ได้ ไม่จบไม่สิ้นตลอดไป
ขงจื่อกล่าวไว้ว่า “เรียนรู้แล้วหมั่นฝึกฝน เป็นความสุขยิ่ง”
ขณะที่เรา “เรียนรู้” นั้นความจริงแล้วยังไม่รู้ จะต้องหมั่นฝึกฝนการปฏิบัติจริง สัมผัสรับรู้ด้วยตนเองจึงจะถือว่ารู้จริง
และจึงจะมีความสุขกับสิ่งที่รู้
การรู้จึงต้องผ่านการปฏิบัติ การปฏิบัติจึงเป็นการตรวจสอบว่าที่รู้นั้นเป็นการคิดว่ารู้ หรือว่ารู้อย่างแท้จริง
การปฏิบัติจึงเป็นคำตอบ และเป็นคำตอบสุดท้าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image