ไฟไหม้รถไฟฟ้าในคอนโด ภัยที่รอการจัดการ

ไฟไหม้รถไฟฟ้าในคอนโด ภัยที่รอการจัดการ รถไฟฟ้า หรือ EV car

รถไฟฟ้า หรือ EV car เป็นเครื่องมือที่ทั่วโลกกำลังนำมาใช้เพื่อลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือที่บางคนใช้คำศัพท์เชิงกระตุ้นความสนใจว่า “โลกร้อน” ที่ตอนนี้ขยับไปเป็น “โลกเดือด” ให้ตื่นตระหนักกันมากขึ้น เมื่อพูดถึงคำศัพท์เราก็อยากจะทำความเข้าใจกับผู้อ่านเกี่ยวกับความหมายของคำที่ใช้ในที่นี้สักเล็กน้อย คำว่า “รถไฟฟ้า” ในที่นี้เราหมายถึง electric car ซึ่งไม่ใช่รถไฟฟ้าในแบบที่เรานิยมใช้เรียก BTS หรือ MRT เพราะคำหลังนี้จะตรงกับคำว่ารถไฟไฟฟ้าหรือ electric train และคำว่า “คอนโด” ในที่นี้มิได้หมายถึงเพียงอาคารชุดไม่ว่าจะเป็นคอนโดที่อยู่อาศัย หรือคอนโดสำนักงาน แต่เราได้ใช้คำนี้ในเชิงสัญลักษณ์ให้เป็นตัวแทนของอาคารขนาดใหญ่ทั้งของส่วนบุคคลและของสาธารณะ รวมทั้งอาคารส่วนบุคคลที่เปิดให้ใช้แบบสาธารณะ เช่น ศูนย์การค้า โรงแรม โรงพยาบาล

เชื่อว่าผู้อ่านทุกคนคงเคยได้ยิน หรือได้รับรู้มาก่อนแล้วเกี่ยวกับเหตุการณ์ไฟไหม้รถไฟฟ้าที่เกิดขึ้นทั่วโลก ทว่าจริงๆ แล้วมิใช่เป็นการไหม้ที่ตัวรถ แต่เป็นการลุกไหม้ที่แบตเตอรี่แล้วลามไปทั่วทั้งตัวรถ ไฟไหม้ลักษณะเช่นนี้ หากเกิดในที่จอดรถในที่โล่ง ปัญหาหรืออันตรายจะน้อยกว่ากรณีที่เกิดขึ้นในอาคารขนาดใหญ่และมีอัตราการจอดรถที่หนาแน่นกว่า

ภัยที่เกิดจากไฟไหม้รถไฟฟ้าในอาคารขนาดใหญ่มีความเสี่ยงสูงมาก มากกว่าที่คนส่วนมากรับรู้และเข้าใจ และเป็นที่น่ากังวลที่ ณ นาทีนี้ไทยเรายังไม่มีมาตรการรองรับความเสี่ยงของภัยนี้มากพอ ไม่ว่าจะเป็นจากภาคผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ ภาคประกันภัย ภาคสมาคมวิชาชีพ ภาควิชาการ หรือแม้กระทั่งภาคราชการที่เป็นผู้ออกและบังคับใช้กฎหมาย

มาตรฐานรถ EV

Advertisement

ปกติแล้วผู้ผลิตรถไฟฟ้าจะมีการออกแบบ การผลิตชิ้นส่วน การประกอบ และการทดสอบที่มีมาตรฐานอุตสาหกรรม รวมทั้งหน่วยงานด้านจดทะเบียนก็จะมีขั้นตอนทดสอบความปลอดภัยอยู่แล้ว ทว่ามาตรฐานและมาตรการส่วนใหญ่เป็นเพียงการลดโอกาสที่จะเกิดอุบัติเหตุไฟฟ้าในรถไฟฟ้า อย่างไรก็ตาม ถ้าพิจารณาตามสถิติในอดีตก็ยังโชคดีที่จัดว่าโอกาสเกิดขึ้นมีไม่มากนัก

ปฏิกิริยาเคมีที่ต้องรู้

ไฟไหม้แบตเตอรี่แบบลิเธียมไอออนในรถไฟฟ้ามักเกิดจากเหตุผิดปกติในเซลล์หนึ่งๆ ของแบตเตอรี่รวมทั้งระบบตรวจวัดการทำงานและระบบป้องกันต่างๆ ซึ่งความผิดปกตินี้อาจเกิดขึ้นได้ทั้งขณะทำการชาร์จไฟ หรือชาร์จไฟเต็มแล้วและขณะรถไฟฟ้าวิ่งอยู่ หรือจอดอยู่ก็ได้
การทำงานผิดปกตินี้อาจเกิดในบริเวณเล็กๆ ในหนึ่งเซลล์ของแบตเตอรี่ที่ปกติต้องมีหลายเซลล์ เกิดเป็นไฟไหม้เล็กๆ แบบเดียวกับไฟไหม้ไม้ หรือน้ำมัน แต่ไฟไหม้จุดเล็กๆ ในแบตฯนี้สามารถลุกลามเป็นปฏิกิริยาลูกโซ่ที่ต่อเนื่องและรุนแรง ทำให้ปล่อยพลังงานและความร้อนจำนวนมากออกมา ซึ่งทางเทคนิคเราเรียกว่าเกิด thermal runaway ที่ขยายผลต่อเนื่องไปยังเซลล์อื่นๆ ในแบตเตอรี่ ทำให้ปล่อยพลังงานออกมามากขึ้นๆ อย่างต่อเนื่อง และความร้อนจะเกิดขึ้นเป็นทวีคูณจนเป็นปัญหาที่ใหญ่มากตามมา

Advertisement

น้ำที่มีสำรองอยู่ในอาคารจะมีไม่พอใช้ดับไฟ

ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น เมื่อเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้แบตเตอรี่รถไฟฟ้าและเกิด thermal runaway วิธีการที่ดีที่สุดคือ ใช้น้ำมาลดอุณหภูมิเพื่อการดับไฟ แต่ต้องเข้าใจให้ถ่องแท้ก่อนว่าปริมาณน้ำที่ต้องใช้ในกรณีนี้จะมากกว่าเหตุการณ์ไฟไหม้ปกติ เช่น ไฟไหม้บ้าน คือ ต้องมากกว่าปริมาณน้ำที่ใช้กรณีปกติถึง 10 เท่า ทว่าปริมาณน้ำสำรองที่ได้ออกแบบและติดตั้งไว้ตามกฎระเบียบเดิมย่อมมีไม่พอ แม้การดำเนินการดังกล่าวจะถูกต้องตามกฎหมายและข้อกำหนดทางวิศวกรรมที่มีอยู่เพราะกฎเกณฑ์ปัจจุบันต่างๆ เหล่านั้นย่อมไม่ได้คำนึงถึงปัญหาที่เพิ่งมีขึ้นนี้ไว้แต่แรก

แม้ไฟจะดับแล้วไฟก็ยังติดขึ้นมาใหม่ได้เอง

ที่น่าตกใจไปกว่านั้น คือ ระหว่างที่เกิดไฟไหม้ในแบตเตอรี่รถไฟฟ้าแบบ thermal runaway นั้น ปฏิกิริยาเคมีภายในแบตเตอรี่เซลล์ยังสามารถสร้างก๊าซออกซิเจนและก๊าซอื่นๆ ขึ้นมาได้เอง รวมทั้งมีแรงดันสูงด้วย ทำให้ไฟลุกติดขึ้นใหม่ได้เอง ตลอดจนเปลวไฟมีลักษณะเป็นไอพ่น (jet flame) ที่มีความร้อนสูงและระยะทำลายไกลกว่าเปลวไฟที่เกิดกับสารอินทรีย์ทั่วไป ผลก็คือเราไม่สามารถดับไฟไหม้ในแบตเตอรี่รถไฟฟ้าโดยการจำกัดปริมาณออกซิเจนด้วยวิธีการทั่วไป เช่น เอาผ้าคลุม วิธีที่ถูกต้องคือต้องลดอุณหภูมิของบริเวณที่เกิดไฟไหม้ลงให้เร็วที่สุดดังที่เพิ่งได้กล่าวมา

ไฟลุก ไฟลาม ไฟแพร่ เร็วและไกล

ในกรณีที่เลวร้ายจนก่อให้เกิด thermal runaway และ jet flame เปลวไฟจะสามารถพุ่งกระจายไปได้ไกล การแพร่เพลิงจึงไปได้กว้างและเร็วกว่าไฟไหม้ปกติ นี่เป็นเหตุผลที่อธิบายว่าเหตุใด เมื่อเกิดไฟไหม้รถไฟฟ้าแล้วจึงเกิดเหตุการณ์ไฟลามไปได้มาก โดยเฉพาะหากมีรถไฟฟ้าคันอื่นจอดอยู่ในบริเวณใกล้เคียง ซึ่งก่อให้เกิดไฟไหม้ต่อๆ กันเป็นลูกโซ่ จนอาจไหม้ไปทั้งชั้นและลามไปจนทั่วอาคาร อันนับว่าเป็นเรื่องที่อันตรายและน่าสะพรึงกลัวมาก

สภาพการจอดรถทำให้ปัญหายิ่งแก้ยากขึ้น อันตรายขึ้น

วิธีการที่ดีและพึงทำคือการแยกรถไฟฟ้าที่ยังไม่ติดไฟให้ออกห่างจากรถไฟฟ้าต้นเพลิงเพื่อสกัดการลามไฟ แต่ในอาคารขนาดใหญ่ย่อมมีการจอดรถอยู่ติดๆ กัน การแยกรถเพื่อตัดวงจรเพลิง jet flame ที่พุ่งกระจายไปได้ไกล จึงเป็นไปไม่ได้ ทำให้การสกัดไฟไม่ให้ลามต่อจึงเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ตามมา นอกจากนี้ การจอดรถในอาคารมักพยายามใช้พื้นที่ให้ได้ประโยชน์สูงสุดโดยการจอดซ้อนคัน นี่ยิ่งทวีความเสี่ยงที่จะเกิดการลามไฟมากขึ้นและรุนแรงขึ้นเพราะ jet flame จะทำงานได้มากขึ้น และเจ้าหน้าที่จะเข้าไปถึงจุดนั้นไม่ได้

ความรู้และกฎหมายมีไม่พอจึงแก้ปัญหาไม่ได้

สิ่งที่น่าเป็นห่วงอย่างมากและเป็นปัญหามากในปัจจุบัน คือ เจ้าหน้าที่ประจำอาคารไม่ว่าจะเป็นฝ่ายรักษาความปลอดภัย ฝ่ายช่าง ฝ่ายซ่อมบำรุง หรือแม้กระทั่งบริษัทวิศวกรที่ปรึกษายังมีความเข้าใจในเทคนิคและความสำคัญของการป้องกันปัญหาไม่เพียงพอ หรือแม้แต่ฝ่ายบริหาร หรือนิติบุคคลประจำอาคารเองก็ยังไม่เข้าใจถึงความจำเป็นในการลงทุนเพิ่มเพื่อจัดหาอุปกรณ์ที่จำเป็นในการป้องกันและกำจัดปัญหาไฟลามนี้

ส่วนกฎหมายควบคุมอาคารที่มีอยู่ในปัจจุบันยังเป็นไปตามสภาพและลักษณะของปัญหาที่เคยประสบอยู่เดิมและยังไม่มีแนวคิดที่จะการปรับเปลี่ยนในเร็ววัน จึงติดตามการเปลี่ยนแปลงที่เป็นผลมาจากการส่งเสริม EV นี้ไม่ทัน ทำให้เกิดเป็นช่องโหว่ใหญ่ระหว่างสิ่งที่มีอยู่กับสิ่งที่จำเป็นต้องมี นักวิชาการ วิศวกรผจญเพลิง รวมทั้งสภาวิชาชีพ ตลอดจนเจ้าหน้าที่รัฐควรต้องเร่งประชุมมาสร้างเสริมความรู้รวมทั้ง reskill และ upskill เพื่อที่จะหาข้อสรุปร่วมกันในมาตรการและข้อบังคับที่เหมาะสมกับสภาพปัญหาและบริบทไทย ตลอดจนนำข้อสรุปมาเร่งประกาศใช้กับอาคารที่จะเกิดขึ้นใหม่ เช่น อุปกรณ์ที่จำเป็น ปริมาณน้ำสำรองเพื่อดับไฟให้มากขึ้น เป็นต้น และสำหรับอาคารที่มีอยู่แล้วจะมีกฎกติกาใดที่ช่วยให้มีความปลอดภัยสูงขึ้น ก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์เศร้าสลดรุนแรงที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น

อย่างไรก็ตาม ปัญหาทั้งหมดที่เรายกขึ้นมาเตือนให้ตระหนักไว้นี้ไม่ใช่ปัญหาที่แก้ไม่ได้ ปัญหานี้มีอยู่ในทุกประเทศ ทางออกจึงมีอยู่แน่ เราจึงต้องไม่ตระหนกจนเกินเหตุ ซึ่งก็เป็นอีกปัญหาใหญ่ที่พึงไม่ให้เกิดขึ้นด้วยเช่นกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image