เรื่องรวยๆ จนๆ ในบ้านเมืองเรา โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

เรื่องรวยๆ จนๆ ในบ้านเมืองเรา ความคืบหน้าเรื่องของเงินดิจิม่อน เอ้ย เงินดิจิทัลวอลเล็ต

ความคืบหน้าเรื่องของเงินดิจิม่อน เอ้ย เงินดิจิทัลวอลเล็ต ในสัปดาห์นี้ก็ก้าวมาสู่เรื่องที่ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ จากการประกาศของตัวนายกรัฐมนตรีที่ควบตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

แน่นอนว่าสังคมก็มีความคิดเห็นเรื่องนี้ที่แตกต่างกัน

เรื่องหนึ่งที่น่าสนใจก็คือเมื่อจะมีนโยบายเช่นนี้ ก็หนีไม่พ้นที่จะพูดเรื่องของ “เกณฑ์” ที่เกี่ยวข้องกับนโยบายนี้

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเกณฑ์ว่าด้วยความจนความรวย ว่าใครสมควรจะได้รับความช่วยเหลือบ้าง
เกณฑ์ว่าด้วยเรื่อง ถ้าที่มาของเงินนั้นจะมาจากการกู้ ก็จะต้องเข้าเกณฑ์ว่าจะต้องเป็นเรื่องของวิกฤต คำถามก็คือ ตอนนี้สังคมไทยวิกฤตแค่ไหน

Advertisement

แต่ที่กล่าวมานี้ยังมีเรื่องอื่นที่เกี่ยวข้องอีก แต่ไม่ใช่เรื่องเกณฑ์ทั้งหมด เช่น เรื่องของการหมุนว่าจะหมุนได้กี่รอบ ฯลฯ หรือแนวคิดพื้นฐานเรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจ และการเติบโตทางเศรษฐกิจ ว่าตกลงการให้เงินแบบนี้ดีกว่า หรือให้รัฐลงทุนในการใช้จ่ายในโครงสร้างพื้นฐานดีกว่า รวมทั้งเรื่องว่าการออกเงินดิจิทัลนั้นมันถูกกฎหมายหรือไม่ และนโยบายเงินดิจิทัลไม่ใช่เรื่องเดียวกับการแก้ปัญหาโครงสร้างหนี้ รวมถึงเรื่องว่าเงินดิจิทัลเป็นเรื่องของนวัตกรรมการเงิน และโครงสร้างพื้นฐานใหม่ทางการเงินจริงไหม

อย่างไรก็ตาม เมื่อเราพูดถึงเกณฑ์ โดยเฉพาะเกณฑ์คนจนคนรวย ความจนความรวย ก็ย่อมจะมีคนที่ตกเกณฑ์นี้ไปได้ง่ายๆ เช่นกัน โดยเฉพาะเมื่อใช้เกณฑ์เรื่องเงินเดือนกับบัญชีเงินฝาก

เพราะคำว่ารวยนั้น อาจไม่ใช่เรื่องของเงินเดือนและบัญชีเงินฝากเสมอไป เช่น คนที่มีหุ้น มีสินทรัพย์อื่นๆ ก็อาจจะมีฐานะทางเศรษฐกิจสูงกว่าคนที่มีเงินฝากเกินห้าแสน หรือมีเงินเดือนเกินเจ็ดหมื่น

Advertisement

รวมทั้งคนที่เกษียณอายุ แม้จะไม่มีเงินเดือน แต่ถ้ามีเงินเก็บเกินห้าแสน เขาก็จะไม่ได้รับสิทธินั้น

เรื่องเหล่านี้จะมองแบบไม่สนใจอะไรเลยก็ได้ ในความหมายว่าทุกนโยบายย่อมมีคนที่ตกหล่น

ซึ่งก็ไปสอดคล้องกับคำค้านในช่วงต้นที่ว่า คนรวยไม่ควรจะต้องได้รับการช่วยเหลือจากนโยบายนี้ เพราะว่าถ้าพวกเขาได้เงินดิจิทัล พวกเขาก็เก็บเงินตัวเองไปออมแล้วเอาเงินที่แจกมาใช้ ซึ่งก็เท่ากับไม่ได้เพิ่มการใช้จ่ายในระบบ

แต่ถ้ามองแบบสนใจมากขึ้นหน่อย ส่วนหนึ่งรัฐบาลก็พยายามหาทางออกให้คนรวยที่ตกเกณฑ์ โดยไปอยู่ในเรื่องของการกลับมาของโครงการลดหย่อนภาษีหนึ่งหมื่นบาทแทน

แต่ทั้งหมดทั้งปวงที่ได้กล่าวมานี้ เรื่องที่หลีกเลี่ยงได้ยากในการพิจารณาก็คือ เมื่อเรามีเรื่องของนโยบายช่วยเหลือ หรือกระตุ้นทางเศรษฐกิจเช่นนี้ ก็คงจะต้องมีข้อถกเถียงที่ว่าด้วยเรื่อง “ใครสมควรจะได้” “ใครสมควรจะถูกช่วย”

ไม่ว่านโยบายนั้นเป็นนโยบายที่ให้ทุกคน หรือคัดสรรให้กับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

พอจะให้กับทุกคน ก็จะมีคนออกมาพูดว่าบางกลุ่มไม่ควรจะได้รับการช่วยเหลือ

เช่นที่พูดไปแล้ว ก็เหมือนที่เราจะเรียกว่าเป็นพวกคนรวยที่ไม่ควรถูกช่วยเหลือ (undeserving rich)

หรือว่าสมัยก่อนที่พูดว่าโครงการสามสิบบาทนั้นจะทำให้คนบางกลุ่มเอาแต่มาหาหมอ ไม่รักษาดูแลตนเอง ซึ่งเรื่องทำนองนี้ก็คือ วิธีการมองแบบที่เรียกว่าพวกคนจนที่ไม่สมควรจะได้รับการช่วยเหลือ (undeserving poor) โดยมองว่าพวกคนจนพวกนี้มักจะเป็นพวกที่มีปัญหาทางศีลธรรม ตกอยู่ในวัฒนธรรมของความยากจน (culture of poverty) ในแง่ที่ว่ามีเงินก็เอาไปใช้ในทางที่ผิด เพราะมีชุดทางวัฒนธรรม จิตสำนึกที่ไม่ถูกต้อง

รวมทั้งข้อวิพากษ์วิจารณ์ว่าการให้คนจนเข้าถึงแหล่งเงินง่ายเกินไปพวกเขาก็จะเอาไปบริโภคในเรื่องที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ที่แท้จริง เช่น เอาเงินไปใช้จ่ายกับสินค้าที่แสดงความลุ่มหลงกับวัตถุนิยมฟุ้งเฟ้อ ไม่ได้เอาไปลงทุน เป็นต้น

เรื่องที่กล่าวมาในหลายประเทศเชื่อมโยงกับการเมืองไม่เหมือนกัน อยู่ที่ฐานเสียงที่รัฐบาลที่ขับเคลื่อนนโยบายนั้นจะสื่อสารอย่างไร ช่วยทั้งหมดก็อาจเสียฐานเสียงคนรวย และคนชั้นกลางที่อ้างว่าพวกเขาแบกภาระภาษี

เชื่อตามคำวิจารณ์ของพวกนี้ก็เสียฐานคนจนเช่นกัน

จะเห็นว่าเรื่องที่กล่าวมานี้ไม่ใช่เรื่องทางเศรษฐศาสตร์โดยตรงไปทั้งหมด ต่อให้เอานักเศรษฐศาสตร์มาเถียงกัน มันก็เป็นเรื่องของสำนักคิดที่ต่างกันทางเศรษฐศาสตร์การเมืองไปเสียแล้ว

แต่อย่าให้ถึงกับต้องมากล่าวหากันเลยว่า ถ้าวิจารณ์เรื่องเงินดิจิทัลนั้นเท่ากับไม่ยืนอยู่ข้างประชาชน เพราะมันไม่ได้ก่อให้เกิดการถกเถียงอะไรมากไปกว่าการป้ายสีกัน

สิ่งหนึ่งที่ผมคิดว่าสำคัญในสังคมไทยก็คือ คนในประเทศนี้คิดถึงเรื่องความยากจนกับความร่ำรวยอย่างไร

ประเด็นนี้เป็นประเด็นที่เหมือนจะง่าย แต่งานวิจัยในเรื่องนี้ไม่ง่ายเลย

งานวิจัยที่ออกมาและกลายเป็นฐานนโยบาย และข้อถกเถียงสาธารณะมักจะอยู่ในเรื่องของการหาตัวเลขและตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจว่าความรวยอยู่ตรงไหน ความจนอยู่ตรงไหน เช่น เรื่องของเส้นแห่งความยากจน ตัวเลขบัญชีธนาคาร รายได้ขั้นต่ำ ฯลฯ

ประเภทที่ชอบเอามากล่าวกันว่า คนรวยหนึ่งเปอร์เซ็นต์กับคนจน 99 เปอร์เซ็นต์

แต่ไม่ได้กล่าวถึงเรื่องที่สำคัญอีกสองเรื่อง

เรื่องแรกคือ คนรวยแบบไหนที่เราอนุญาตให้รวยได้ และแบบไหนรวยไม่ได้

เรื่องที่สองคือ เราจะจัดการกับความร่ำรวยอย่างไร

ทั้งสองเรื่องไม่ได้แยกขาดจากเรื่องของความยากจน แต่มันไม่ใช่เรื่องเดียวกันทั้งหมด

หากแต่เป็นการพลิกมุมมองว่า ถ้าเราจะแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจ บางทีอาจต้องสนใจว่าความร่ำรวยในประเทศนี้มันมีที่มาอย่างไร แบบไหนสังคมยอม แบบไหนสังคมรู้สึกว่าไม่ยอม

แถมให้อีกเรื่องในสังคมไทยก็คือ แบบไหนสังคมยอมแบบไม่อยากจะยอม แต่น้ำท่วมปากพูดไม่ได้

มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ทำในยุโรปเมื่อหลายปีก่อน ที่นำเสนอประเด็นที่น่าสนใจว่า สังคมนั้นมีคนรวย แต่มีการศึกษาทัศนคติของผู้คนว่า แม้สังคมจะมีคนรวย แต่คนรวยแบบไหนที่ได้รับความนับถือจากสังคม แบบไหนไม่ได้รับความนับถือจากสังคม หรือที่เรียกง่ายๆ ว่า คนรวยที่สมควรจะรวย หรือรวยแบบได้รับการยอมรับ

ผลการศึกษาพบว่า คนในสังคมยุโรปจะให้คุณค่ากับคนรวยที่รวยมาจากความสามารถของตัวเอง มากกว่าการรับมรดก แต่ทั้งนี้ไม่ใช่เรื่องเดียวกับความร่ำรวย และคนรวยในสังคมยุโรปว่าพวกเขาร่ำรวยมาจากอะไร หรือมีลักษณะของความร่ำรวยอย่างไร

ข้อค้นพบที่สำคัญคือ คนรวยนั้นจะได้รับการยอมรับจากคนทั่วไป เมื่อเขาทำตัวไม่ต่างจากคนทั่วไปมากนัก หมายความว่าต่อให้รวยยังไง ก็จะต้องทำตัวสบายๆ ใช้ชีวิตไม่หรูหราฟุ้งเฟ้อ กินอยู่เหมือนคนทั่วๆ ไป หรือในมุมของยุโรปก็คือเหมือนคนชั้นกลางซึ่งเป็นคนส่วนมากของสังคม และตัวชี้วัดก็คือคนรวยที่ใช้ชีวิตสมถะเช่นนี้แหละจะได้รับการยอมรับทางการเมืองจากคนทั่วไป จะได้รับการเลือกตั้งเข้ามาในฐานะเป็นตัวแทนของเขาได้ (P.Korom. 2022. The Deserving or Undeserving Rich? New Survey Evidence on Multimillionaire Households in Europe. SN Social Sciences. 3:8.)

อย่างไรก็ดี คนรวยในยุโรปที่สังคมรับได้ ยังรวมไปถึงเรื่องของการที่พวกนี้ตอบแทนคืนสังคมในรูปแบบของสร้างงาน และบริจาคการกุศล และยังจะต้องมีที่มาของความร่ำรวยจากความสามารถของตัวเองมากกว่าจากมรดก โดยเฉพาะในเรื่องของการมีความสามารถด้านการประกอบการ (entrepreneurial skill) และมีการศึกษาที่ดีมากกว่าเรื่องของการรับมรดก (อ้างแล้ว)

อย่างไรก็ดี ในความเป็นจริง ความร่ำรวยในยุโรป โดยเฉพาะในยุโรปตะวันตกนั้น มีลักษณะที่ผสมผสานกันระหว่างความร่ำรวยที่ได้รับมรดกตกทอดมาจากตระกูล และความสามารถในการต่อยอดธุรกิจจากคนรุ่นใหม่ รวมทั้งมาจากการได้รับการศึกษาที่ดีในระดับอุดมศึกษา จนทำให้เกิดคำนิยามว่า ความร่ำรวยนั้นมีลักษณะเป็นเครือข่ายมรดกตกทอด (dynastic)

ส่วนอีกคำถามที่สำคัญที่มีกับเรื่องคนรวย และความร่ำรวย นอกเหนือจากเรื่อง คนรวยรวยอย่างไร และคนรวยแบบไหนที่สมควรจะรวย ก็คือเรื่องของข้อถกเถียงในเรื่องของการเก็บภาษีว่า เราควรจะเก็บภาษีจากคนรวยมากน้อยแค่ไหน และเก็บภาษีจากความร่ำรวยมากน้อยแค่ไหน

มีกรณีศึกษาจากงานวิจัยที่น่าสนใจจากสหรัฐอเมริกา ที่ตั้งคำถามถึงความย้อนแย้งในสังคมที่มติสาธารณะพบว่าต้องการจะเก็บภาษีคนรวย แต่ทำไมในความเป็นจริงแล้ว เมื่อมีการพยายามออกกฎหมายเก็บภาษีคนรวย โดยเฉพาะในระดับมลรัฐแล้วกลับพบว่าประชาชนกลับไม่ยอมให้กฎหมายเก็บภาษีคนรวยผ่าน

มันเกิดอะไรขึ้นกับสังคมที่ต้องการจัดการคนรวย แต่ไม่ผ่านกฎหมายจัดการคนรวย โดยเฉพาะในกรณีศึกษามลรัฐวอชิงตัน?

งานวิจัยพบประเด็นที่น่าสนใจว่า ขณะที่สังคมยังยืนยันว่าต้องการเก็บภาษีคนรวย แต่ถึงเวลาไม่ผ่านกฎหมายเก็บภาษีคนรวย ไม่ใช่เพราะคนรวยซื้อไป หรือรัฐเป็นพวกคนรวย แต่เคล็ดลับคือในการรณรงค์นั้นคนที่ไม่ต้องการให้เก็บภาษีคนรวยใช้วาทกรรมที่ว่า ถ้ามีการเก็บภาษีคนรวย แต่เอาเงินที่ได้ไปไว้ในมือของรัฐบาลที่ใช้จ่ายเงินไม่มีประสิทธิภาพแล้ว ก็ไม่ควรผ่านกฎหมายนั้น (R.Barton and S.Piston. 2021. Undeserving Rich or Untrustworthy Government? How Elite Rethoric Erodes Support for Soaking the Rich. Politics, Groups, and Identities. Western Political Science Assiciation).

พูดง่ายๆ ก็คือ ประชาชนไม่ชอบคนรวย แต่ไม่ไว้ใจรัฐบาลมากกว่า

เรื่องทั้งหมดที่กล่าวมานั้น ชวนให้คิดต่อในบ้านเมืองเราหลายเรื่อง อาทิ ในสังคมไทยนั้นความสัมพันธ์ระหว่างความรู้สึกของคนว่า คนรวยแบบไหนที่สมควรรวยหรือรับได้ และนับว่าเป็นพวกเดียวกับเรา เข้าใจเรามันมีหน้าตาแบบเดียวกับยุโรปโดยเฉพาะยุโรปตะวันตกไหม หรือว่าด้วยโครงสร้างทางชนชั้นของบ้านเราที่คนจนมากกว่าคนรวย เราอาจจะเลือกคนที่รวย เพราะรู้สึกว่าเขาช่วยเราได้ ไม่ได้เลือกว่าเรากับเขาเหมือนกัน จึงเข้าใจเราและไปแก้ปัญหาให้เรา

เรามีทัศนคติที่ว่าด้วยความร่ำรวยอย่างไร แค่อิจฉาอยากมีบ้าง ชอบอ่านเรื่องของคนเหล่านี้ หรือเราเชื่อจริงจังว่าความร่ำรวยมันมาจากเรื่องของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ มากกว่าเรื่องของความร่ำรวยจากมรดก และจากการบริหารอุตสาหกรรมขนาดใหญ่

โดยเฉพาะในขณะที่สินค้าจากจีนตีตลาดทุกอย่าง และมีหมูเถื่อนเข้ามาขาย แล้วเราต้องออกมาปกป้องเกษตรกรไทย หรือเชื่อว่า แค่ต้องปรับตัวไปเรื่อยๆ กับไลฟ์โค้ช และรายการขายฝันต่างๆ

หรือเรานิยมรายการคนจนร้องเพลงชิงรางวัล กับรายการคนจนมาเล่าเรื่องให้คนไม่จนมาสั่งสอน เห็นใจช่วยเหลือ

และเรื่องของระบบภาษีในสังคมไทย ว่าตกลงเรามองว่าการเก็บภาษีมีเหตุผล เป็นธรรม และนำไปใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลอย่างไร

ยังมีหลายเรื่องที่ว่าด้วยเรื่องของความรับรู้ที่มีกับความยากจน และความร่ำรวย รวมทั้งความสัมพันธ์และทัศนคติที่เกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ที่น่าสนใจค้นหา (ใครจะขอทุนวิจัยเรื่องนี้ชวนผมไปทำด้วยนะครับผม)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image