วิถีแห่งกลยุทธ์ : อำนาจ ‘แกร่ง’ บนฐาน แห่ง ความจริง กับ ‘หลงเพ้อ’

วิถีแห่งกลยุทธ์ : อำนาจ ‘แกร่ง’ บนฐาน แห่ง ความจริง กับ ‘หลงเพ้อ’

ซูไต้ เดินทางสู่นครรัฐเยียนในฐานะทูตสันถวไมตรีของนครรัฐฉิน ตัวเขาเองรู้ซึ้งอยู่แก่ใจว่า หากไม่ดำเนินกุศโลบายเสนอให้ผลประโยชน์แก่ตัวของจื่อจือ ผู้เป็นอัครเสนาบดีรัฐเยียนแล้ว
การเดินทางครั้งนี้ก็คงจะได้ผลเป็นการกลับบ้านมือเปล่าเป็นแน่แท้
ยิ่งมิต้องแสวงหวังว่าจะได้ถ้อยคำสัญญาอะไรจากปากของเจ้านครรัฐเยียน
ดังนั้น เมื่อซูไต้ได้เข้าพบเยียนอ๋องจึงแสร้งกล่าวสรรเสริญบุญญาบารมีของนครรัฐฉีอันเป็นเพื่อนบ้านของรัฐเยียนว่ามีมากมายต่างๆ นานา
เยียนอ๋องได้ฟังถ้อยคำดังกล่าวจึงอดรนทนไม่ไหวถามขึ้นว่า
“ที่แท้ ฉีอ๋องมีสติปัญญามากมายถึงขนาดนั้นดูสถานการณ์แล้วคงไม่แคล้วที่รัฐฉีจะเจริญเป็นมหาอำนาจผู้พิชิต รวมสำเร็จได้ในภายภาคหน้ากระมัง”
คำตอบจากซูไต้กลับเป็น “หามิได้”
เหตุผลของซูไต้เป็นอย่างไร เหตุผลของซูไต้ก็คือ “บั้นปลายของนครรัฐฉีนี้ แม้ไม่ถึงสั่นคลอนล่มสลายลงก็ต้องนับว่าเป็นบุญอันอักโขอยู่
ไหนเลยยังจะมาเป็นผู้พิชิตอันใดได้อีกเล่า”
จึงก่อให้เกิดคำถาม “เหตุใดท่านจึงกล่าวเช่นนั้น” จึงนำไปสู่คำตอบอันรวบรัดเป็นอย่างสูง
นั่นคือ
“เป็นเพราะว่า ถึงแม้ฉีอ๋องจะได้มอบหมายภาระบ้านเมืองให้กับผู้ที่โปรดปรานรับผิดชอบ แต่ทว่า โดยเนื้อแท้แล้วกลับมิได้ไว้วางใจตัวเขาเหล่านั้นเลย”
นี่ย่อมเร้าให้กลายเป็นคำถาม
“ถ้าเช่นนั้น การมอบหมายภารกิจของบ้านเมือง ควรจะมีหลักการและขอบเขตอย่างไร”
นี่คือคำตอบจากซูไต้

เมื่อครั้งฉีหวนกงครองนครรัฐฉีมีความโปรดปรานในตัวเสนาบดีก่วนจ้งเป็นอย่างมากถึงกับเรียกก่วนจ้งว่า
“ท่านพ่อจ้ง”
แสดงความยกย่องให้มีฐานะเทียมเท่าบิดา
มิเพียงแต่กิจการภายในนครรัฐฉีทั้งปวงจะมอบให้ก่วนจ้งเป็นภาระดูแลทั้งสิ้นเท่านั้น แม้แต่กิจการภายนอกรัฐก็ให้อำนาจในการตัดสินใจดำเนินกุศโลบายต่างๆ เป็นสิทธิขาดแก่ก่วนจ้งแต่เพียงผู้เดียว
ไม่เคยเข้าไปแทรกแซงแย้งขัดเลยแม้สักครั้ง
ด้วยเหตุนี้ ฉีหวนกงจึงสามารถรวบรวมอาณาจักร ปราบปรามเจ้านครรัฐใหญ่น้อยลงได้โดยราบคาบ
เทียบกับฉีอ๋องในปัจจุบันนี้ แม้โดยนิตินัยจะประกาศว่าได้มอบอำนาจบ้านเมืองให้แก่บุคคลที่ยกย่องและโปรดปราน แต่ในทางปฏิบัติแล้วก็มิได้ปล่อยมือวางใจแต่อย่างใด
จากเหตุผลข้อนี้ ข้าพเจ้าจึงกล้าทำนายว่า บั้นปลายของนครรัฐฉีจะถึงซึ่งความพินาศในไม่ช้านี้เป็นแน่แท้

วันต่อมา เยียนอ๋องก็เรียกประชุมเหล่าราชบริพารเพื่อพิจารณามอบอำนาจอาญาสิทธิ์ให้แก่อัครเสนาบดีจื่อจือ
ท่านโส่วผู้เป็นขุนนางคนหนึ่งจึงเอ่ยขึ้นมาว่า
“ท่านอ๋อง มิสู้พิจารณามอบอาญาสิทธิ์ให้แก่อัครเสนาบดีจื่อจือไปเสียเถิด นับแต่โบราณมาปวงชนในใต้หล้าล้วนเคารพสดุดีกษัตริย์เหยาว่าเป็นเมธีราช
ทั้งนี้ เพราะกษัตริย์เหยาได้ประกาศจิตเจตนาให้รู้กันไปทั่วว่าจะยกบัลลังก์ให้แก่สวีเถียน ซึ่งปรากฏต่อมาว่าสวีเถียนก็ไม่ยอมรับเอาบัลลังก์มาครอง
อย่างไรก็ตาม เจตนาที่ประกาศชัดออกมาก็มีสรรพคุณพอเพียงที่ทำให้เหล่าราษฎรพากันแซ่ซ้องสรรเสริญไปทั่ว ส่งให้บารมีและกิตติศัพท์อันงามเพิ่มทวีขึ้นกว่าเดิม
โดยที่กษัตริย์เหยาเองก็มิได้สูญเสียแผ่นดินไปแม้แต่ตารางนิ้วเดียว
ดังนั้น หากท่านเจริญรอยตามองค์กษัตริย์เหยา ประกาศให้ทราบทั่วกันว่าจะมอบอาญาสิทธิ์การปกครองให้แก่จื่อจือ ก็เชื่อได้ว่าท่านจื่อจือคงจะมีความเจียมตนไม่ยอมรับเอาอำนาจดังกล่าวไว้เป็นแน่
เพราะจื่อจือก็มีนิสัยมักน้อยสันโดษอยู่
และโดยการประกาศเจตนารมณ์ของท่านออกมาเช่นนั้นก็จะทำให้ได้มาซึ่งชื่อเสียงอันเพริศพริ้ง ลือเลื่องไปไกลดังเช่นองค์กษัตริย์เหยา”
ผลเป็นเช่นใด

หนังสือ “กลยุทธ์หานเฟย” หลักการบริหารที่จิ๋นซีฮ่องเต้นำมาใช้ในการสร้างมหาอาณาจักร อัน ปกรณ์ ลิมปนุสรณ์ เรียบเรียง
ระบุว่า เยียนอ๋องฟังแล้วเชื่อตามคำของฟานโส่ว
จัดการมอบอำนาจทั้งสิ้นให้แก่จื่อจือ ขณะเดียวกัน จื่อจือก็มิได้ลังเลแม้แต่น้อยในการรีบตะครุบเข้าครองกรรมสิทธิ์ในนครรัฐเยียนทันที
ทำไมจึงเป็นเช่นนี้
เป็นเพราะเจ้านครรัฐเยียนเชื่อมั่นว่า จื่อจือเป็นอัจฉริยเมธีในหมู่บริวารของตัวจึงให้ความยกย่องนับถือเป็นพิเศษ
โดยที่ในความเป็นจริงหาใช่ผู้ทรงศีลสัตย์แต่อย่างใด
หานเป่ยจื่อจึงให้ข้อสรุปไว้ ณ ที่นี้ว่า “บุรุษผู้มหาชนยกย่องว่าเป็นเลิศ หาใช่จะประกอบด้วยคุณธรรมเสมอไปไม่”
ปรากฏตามสำนวนแปล ปกรณ์ ลิมปนุสสรณ์ ดังนี้
เยียนอ๋องนั้นเป็นทายาทของเซากงซื่อ ครอบครองอาณาจักรกว้างไกลนับพันตารางลี้ มีกำลังพลให้บังคับนับเป็นแสน
แต่ถึงแม้จะมีอำนาจใหญ่หลวงถึงปานนั้น
เยียนอ๋องก็หาได้มีความลุ่มหลงในศฤงคารโลกียสมบัติหรือหมู่สนมกำนัล มิได้มัวเมาเคลิบเคลิ้มอยู่กับเสียงมโหรี ฆ้องกลอง กังสดาล ไม่เคยคิดกำเกณฑ์ไพร่พลมาสร้างตำหนักราชฐาน หรือขุดสระอุทยานให้เป็นที่เดือดร้อนแก่คณานิกรหน้าใส
ทั้งยังไม่เคยออกประพาสไพรไล่ล่าคะนองฆ่าสาราสัตว์
นอกเหนือจากราชกิจประจำวันแล้ว ก็มักจะลงนา ลงสวน จับคันไถคราดสร้างผลิตผลธัญญาไปตามฤดู

Advertisement

ประณิธานและราชธรรมอันสูงส่งของเยียนอ๋องที่ลงมือตรากตรำงานเกษตร เพื่อซึมซับอารมณ์แห่งความทุกข์ลำบากของเหล่าพสก
เมื่อเปรียบเทียบแล้ว
แม้แต่เมธีกษัตริยาธิราชผู้ปรีชาในโบราณสมัย ก็ยังมิได้เคยปฏิบัติให้เป็นที่เสื่อมพลังวรกาย
และเกิดเวทนารมณ์แก่สายตาโลกและพสกนิกรถึงปานนี้
จึงออกจะเป็นเรื่องที่คาดไม่ถึงว่า ผู้ทรงราชธรรมอย่างเยียนอ๋องกลับถูกประทุษร้าย
สูญเสียบัลลังก์แห่งอำนาจให้แก่จื่อจือไปโดยง่าย
ก็อันใดเล่าที่สร้างวิบากกรรมให้เกิดแก่เยียนอ๋องได้ในลักษณะถึงขั้นนี้ คงจะไม่มีสาเหตุอื่นกระมัง
นอกจากการไม่รู้จักเข้าใจใช้บริวารให้เหมาะสม

ด้านหนึ่ง จึงน่าจะมาจากจิตคร้านในงานปกครอง นำเอาภาระและอำนาจทั้งปวงไปฝากไว้ในมือของบุคคลเพียงคนเดียว
ด้านหนึ่งจึงมี “ทางเลือก” ที่ดีกว่าหากมองในเชิง “การบริหาร”
นั่นคือ ควรจะพึ่งพาอาศัยกำลังปัญญาของหมู่บริวาร “ทั้งคณะ” เป็นหลักจะดีกว่า เพราะไม่เพียงแต่จะสามารถหลีกเลี่ยงความผิดพลาดอันอาจเกิดจากธรรมชาติ อคติส่วนตัวได้เท่านั้น
ยังอาจจะกระตุ้นความมีชีวิตชีวาและประสิทธิภาพให้เกิดแก่องค์กรนั้นได้อีกด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image